xs
xsm
sm
md
lg

ซิงเกิ้ล เกตเวย์ แค่คิดก็ผิดแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปฏิบัติการถล่มเว็บไซต์ กระทรวงไอซีที ของผู้ที่คัดค้านนโยบาย “ ซิงเกิล เกตเวย์ เมื่อคืนวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา จนทำให้เว็บไซต์ล่ม น่าจะทำให้กระทรวงไอซีที และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุติความคิดที่จะรวบ “ ทางเข้า-ออก” ของอินเทอร์เน็ตในประเทศ กับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่าสิบเส้นทาง ให้มากระจุกตัว เข้าออกผ่าน ประตูเดียว หรือ ซิงเกิ้ล เกตเวย์ ( Single Gateway )

ไม่ต้องไปศึกษาข้อดี ข้อเสีย อย่างที่กล่าวอ้างกันด้วย เพราะ เรื่อง ซิงเกิ้ล เกตเวย์นี้ เพียงแต่ใช้สามัญสำนึก ที่คนปกติพึงมี มีข้อเสียมากมาย ข้อดี หากจะมี ก็มีเพียงเรื่องเดียว คือ เป็นประโยชน์ในเรื่องความมั่นคง ที่รัฐจะสามารถควบคุม สกัดกั้น ตรวจสอบ ข้อมูลข่าวสารที่อาจจะกระทบต่อความมั่นคง ในสายตาของรัฐได้ง่ายขึ้น

เหมือนห้องประชุมขนาดใหญ่ มีประตูเข้าออก 10 ประตุ ถูกปิดให้ใช้ได้เพียงประตูเดียว แบบไหนจะดีกว่ากัน ใครๆก็คิดได้ โดยใม่ต้องมานั่งศึกษา อ้างเหตุผลเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียต่างๆนานา

แนวความคิดเรื่อง ซิงเกิ้ล เกตเวย์นี้ ยากที่จะปฏิเสธว่า มีวัตถุประสงค์ในเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที คือ นายอุตม สาวนายน จะอ้างว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ วิญญูชนก็ตระหนักได้ในทันทีว่า เป็นเหตุผลที่คนพูดก็รู้ว่า ไม่จริง

คนอย่างนายอุตม ซึ่งจบการศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และการบริหาร ธุรกิจ บริหารการเงิน จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกา เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นอาจารย์ สอนนักศึกษาปริญาโท และก่อนที่จะรับตำแหน่งรัฐมนตรีเพียงเดือนเศษ ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย กรุงเทพ มหาวิทยาลัยซึ่งประกาศตัวว่าเป็น “ Creative University” ย่อมรู้ดีว่า ระหว่าง Multiple Gateway กับ Single Gateway อย่างไหนจะส่งเสริม หรือ เป็นอุสรรคขัดขวาง เศรษฐกิจแบบดิจิตัล

เรื่อง ซิงเกิล เกตเวย์นี้ เป็นใบสั่งมาจากฝ่ายความมั่นคง ที่ต้องการควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม และการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางอินเทอร์เน็ต และได้มีการนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 สิงหาคม 2558 ให้ กระทรวงไอซีที และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดตั้ง Single Gateway โดยให้รายงานความคืบหน้าให้นายกรัฐมนตรีทราบภายในเดือนสิงหาคม 2558

ต่อมา ในวันที่ 27 สิงหาคม 2558 นายกรัฐมนตรี มีคำสั่ง ให้ กระทรวงไอซีทีเร่งรัดการดำเนินการจัดตั้ง Single Gateway และให้รายงานความคืบหน้าให้นายกรัฐมนตรีทราบภายในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

นายอุตม เพิ่งรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม และปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ หลังเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม งานแรกก็เจอกับเผือกร้อน ต้องสนองงานด้านความมั่นคง

กระทรวงไอซีทีนั้น มีภารกิจหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารแบบดิจิตัล เพื่อการพัฒนาประเทศ หน้าที่ในการควบคุมข้อมูล ข่าวสารที่กระทบต่อความมั่นคงก็จำเป็นแต่ต้องไม่กระทบต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสาร

เรื่องที่กระทรวงไอซีทีควรจะเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จสิ้นเสียที เพื่อให้ความฝันเรื่อง เศรษฐกิจดิจิตัลเป็นจริงคือ การสร้างเครือข่ายบรอดแบรนด์ระดับชาติ โดยการรวบรวมเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่กระจัดกระจายกันอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ เช่น ทีโอที กสท การรถไฟ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง ฯลฯ มาอยู่ภายใต้การบริหารจัดการขององค์กรเดียว เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง ด้วยต้นทุนที่เป็นธรรม

สำหรับ ซิงเกิ้ล เกตเวย์นั้น ไม่ได้สนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจดิจิตัลเลยแม้แต่น้อย ตรงข้าม กลับจะเป็นอุปสรรค ฉุดรั้ง ทำให้เศรษฐกิจดิจิตัลไม่สามารถเกิดขึ้นได้

นายอุตม ไม่จำเป็นต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องซิงเกิ้ล เกตเวย์ ว่า มีผลดี ผลเสียอย่างไร แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่นายอุตม จะต้องอธิบายให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้เข้าใจ



กำลังโหลดความคิดเห็น