รายงานการเมือง
จะว่าเซอร์ไพรส์ ก็คงพูดได้ไม่เต็มปากกับมติของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ที่สั่งลงโทษทางวินัย “หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล” ประธานศาลปกครองสูงสุด ให้ออกจากราชการ จากกรณีจดหมายน้อยฝากตำรวจ ภายหลังพิจารณาตามรายงานสรุปของ คณะกรรมการสอบสวนทางวินัย
เพราะก่อนหน้าที่ ก.ศป. จะลงดาบนั้น “หัสวุฒิ” เหมือนจะรู้ระแคะระคาย ถึงแนวโน้มการตัดสิน และได้ออกมาให้สัมภาษณ์ล่วงหน้าว่า ให้สังคมช่วยจับตาการประชุม ก.ศป. ในวันที่ 23 ก.ย. ว่า อาจมีมติในลักษณะนี้ออกมา
“ก.ศป. อาจลุแก่อำนาจ มีมติเห็นตามเสียงข้างน้อยว่าผมผิด และไล่ผมออกจากราชการก็ได้ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะกำจัดผมให้พ้นจากองค์กรนี้ ถ้าสอบเอาผิดเรื่องจดหมายน้อยไม่ได้ ก็จะเอาเรื่องอื่น ซึ่งมีหลายเรื่องมาสอบ” หัสวุฒิ เคยกล่าวไว้ก่อนการประชุม ก.ศป. ไม่กี่วัน
ถึงบอกว่า พูดว่าเซอร์ไพรส์ได้ไม่เต็มปาก แต่ที่น่าประหลาดใจคงจะเป็น มติ ก.ศป. ที่เชือด “หัสวุฒิ” นั้น ชี้มูลความผิดตามเสียงข้างน้อย ของคณะกรรมการสอบสวนฯ ทั้งที่ในรายงานสรุปของคณะกรรมการ ส่งให้ ก.ศป. นั้น ปรากฏว่า มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เสียง สรุปว่า หัสวุฒิ ไม่มีความผิดจากกรณีดังกล่าว แต่ที่ประชุม ก.ศป. กลับเลือกที่จะให้น้ำหนักกับเสียงข้างน้อย มากกว่า
เรียกว่าค้านสายตาผู้ชมเป็นอย่างมาก
ตัว หัสวุฒิ เองแม้จะยืนยันมาตลอดว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีจดหมายน้อย แต่ก็ยอมรับในกระบวนการสอบสวนของ ก.ศป. ไม่เคยออกมาแถลง หรือให้ข่าวตอบโต้ตลอดระยะเวลาที่ถูกพักราชการ และตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ มาตรวจสอบเป็นเวลายาวนานกว่า 7 เดือน
คนเราย่อมมีขีดจำกัด เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมจากองค์กรที่ตัวเองเป็นผู้นำสูงสุด อีกทั้งยังเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมเช่นนี้ หัสวุฒิ จึงต้องออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม ทั้งในแง่การสอบสวน ที่ล่วงเลยเกินกว่าที่ระเบียบของ ก.ศป. กำหนด รวมทั้งการคืนตำแหน่งประธานศาลปกครองให้
การออกโรงของ หัสวุฒิ แทนที่จะได้รับความเป็นธรรม แต่กลับเป็นตัวเร่งให้ ก.ศป. “รุกฆาต” เขี่ยพ้นจากตำแหน่งอย่างเหนือเมฆ
พลันที่ ก.ศป. มีมติ ไม่เพียงแต่ตัว หัสวุฒิ ผู้ถูกกระทำเท่านั้นที่ออกมาแถลงไม่ยอมรับมติ ก.ศป. พร้อมตั้งข้อสังเกตความผิดปกติของกระบวนการสอบสวน จนมาถึงการปลดออกจากตำแหน่งกลางอากาศ ยังมีเครือข่ายต่างๆ รวมตัวกันโดยไม่ได้นัดหมายในนาม “เครือข่ายผดุงธรรมาภิบาลในศาลปกครอง” ออกมาเรียกร้องให้ “ผู้มีอำนาจ” เข้ามาตรวจสอบการลงมติของ ก.ศป. ที่เข้าข่ายกระทำการโดยไม่เป็นธรรม
ทั้งกลุ่มประชาชนเพื่อความยุติธรรมในแผ่นดิน (กยท.) สมาคมพิทักษ์สิทธิ์ข้าราชการ กลุ่มข้าราชการส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย กลุ่มข้าราชการศาลปกครอง ที่ร่วมกันเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง “บิ๊กต๊อก” พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะตัวแทนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เข้าเทกแอกชันในเรื่องนี้ และก่อนที่เรื่อราวจะบานปลาย เครือข่ายเดียวกันนี้ก็ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เข้ามาตรวจสอบแล้วเช่นกัน
ที่น่าสนใจ คงเป็นรายของ “กิตติศักดิ์ ปรกติ” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในกูรูกฎหมายมหาชนมือต้น ๆ ของประเทศ ที่กลายมาเป็น “หัวหอก” ในการจับพิรุธ ตีแผ่ข้อสงสัยกระบวนการปลด หัสวุฒิ ออกจากตำแหน่ง ของ ก.ศป. โดยมีการออกมาตั้งข้อสังเกตตามหลักวิชาการหลายครั้ง
โดยเฉพาะการร่ายยาวแบบจัดหนัก ๆ เน้น ๆ ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ตามหัวข้อ “ปลดประธานศาล ต้องมีฐานกฎหมาย โปร่งใสและใช้เหตุผล” ซึ่งมีการชี้ว่า การปลดประธานศาลปกครองสูงสุด นับเป็นเรื่องใหญ่ และดูเหมือนมีข้อน่าสงสัยว่า เกิดสิ่งไม่ปกติทั้งในแง่การบริหาร และในแง่กฎหมายหลายข้อ
ล่าสุด เครือข่ายทั้งหมดได้ร่วมกันจัดสัมมนาวิชาการกฎหมายมหาชน กรณีศึกษา “ปลดประธานศาลปกครองสูงสุด ประเด็นร้อนระบบกฎหมายมหาชนไทย” ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีวิทยากรนอกเหนือจาก กิตติศักดิ์ แล้วยังมี พล.ต.หญิง พูลศรี เปาวรัตน์ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ พ.ต.ท.หญิง ฐิชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ ที่ปรึกษาสหภาพข้าราชการวิชาชีพ รวมถึงตัวหัสวุฒิ เองที่มาร่วม ตามเทียบเชิญด้วย
“กิตติศักดิ์” ปูพรมตอกย้ำประเด็นที่ได้เคยถ่ายทอดผ่านโลกโซเชียลไปแล้ว ไล่เรียงตั้งแต่การตั้งกรรมการสอบสวนตามระเบียบของ ก.ศป. ที่ไปคัดค้านกรรมการประเภทผู้แทนจาก สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดยไม่มีเหตุผลสมควร จนทำให้การสอบสวนยืดเยื้อมา จนล่วงพ้นกำหนดสอบสวน 60 วัน ตามระเบียบมาถึงเกือบ 6 เดือน
ที่สำคัญ เมื่อกรรมการสอบสวนฝ่ายข้างมากเห็นว่าไม่มีหลักฐาน แต่ฝ่ายข้างน้อยเชื่อว่า มีหลักฐาน ก.ศป. กลับมีมติเห็นด้วยกับฝ่ายเสียงข้างน้อย โดยไม่มีเหตุผลอธิบายว่า ฝ่ายข้างน้อยน่าเชื่ออย่างไร หรือฝ่ายข้างมากบกพร่องตรงไหน ทำให้เกิดข้อครหาได้ว่า อาจจะเป็นเรื่องขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคลในองค์กรมากกว่าการตัดสินตามเนื้อผ้าของข้อเท็จจริง
“การฝ่าฝืนระเบียบที่ ก.ศป. ออกมาเองตามบทเฉพาะที่จำกัดอำนาจตนเอง ย่อมทำให้เกิดข้อครหาขึ้นได้ว่า ก.ศป. ใช้กฎหมายเกินขอบวัตถุประสงค์ของกฎหมาย” กิตติศักดิ์ ตอกย้ำ
อาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ฝากไปถึง ก.ศป. ด้วยว่า การสอบสวนวินัยตุลาการต้องทำด้วยความระมัดระวังในระดับเดียวกับการพิจารณาของศาล ต้องสอบสวนตามข้อกล่าวหา และเปิดโอกาสให้ต่อสู้โดยแสดงข้อหาและพฤติการณ์ที่ใช้กล่าวหาอย่างชัดแจ้ง ที่สำคัญ การลงโทษวินัยต้องมีข้อเท็จจริงที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าทำผิด ไม่ใช่ลงโทษตามความเห็นว่าผิดลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐาน ไม่เหมือนการเรื่องลงมติไม่ไว้วางใจของนักการเมือง
“ด้วยความเป็นห่วงศาลปกครอง ห่วงการใช้กฎหมายของที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ขอให้ผู้รับผิดชอบ ชี้แจงให้ชัดเจนถูก - ผิดต้องว่ากันตามหลักฐาน หลักกฎหมาย และหลักเหตุผลอย่าปล่อยให้ถูกครหาว่าเป็นเรื่องการเมืองภายใน หากไม่ชี้แจงให้กระจ่างก็จะกระทบต่อความมั่นคงในการใช้กฎหมายและความเชื่อถือต่อความแน่นอนของรัฐที่ใช้กฎหมายเป็นหลักพื้นฐานของบ้านเมืองอย่างรุนแรง” กิตติศักดิ์ ระบุ
ขณะที่ “หัสวุฒิ” นอกจากจะประกาศไม่ยอมรับมติ ก.ศป. ถึงกับตัดพ้อว่าไม่ยอมรับระบบนี้อีกแล้ว เพราะรู้ว่าไม่มีทางได้รับความเป็นธรรม และจะต่อสู้ตามกระบวนการกฎหมายแล้ว ก็ยังได้แสดงความเป็นห่วงต่อองค์กรว่า
“เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ ไม่ได้กระทบต่อประธานศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น แต่กระทบต่อตุลาการศาลปกครองทั้งหมด ผมสู้มาถึงวินาทีนี้ เมื่อกำจัดผมไม่สำเร็จ ก็คงต้องฆ่าผม เพราะผมตรงไปตรงมา ผมไม่กลัว แม้จะเหลืออยู่คนเดียว”