xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ถกทวิภาคี “บัน คีมูน” ย้ำไทยเดินหน้าตามโรดแมป เลือกตั้งได้กลางปี 2560

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคี “บัน คีมูน” ประกาศหนุนวาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเน้นคนเป็นศูนย์กลาง สะท้อนอยู่ในวาระ 2030 ขณะเดียวกันยืนยันไทยยังเดินหน้าตามโรดแมป คาดจะสามารถเลือกตั้งได้ในปี 2560



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 27 กันยายน เวลา 18.20 น. เวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา ณ ชั้น 27 อาคาร Secretariat สำนักงานใหญ่ สหประชาชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ ทั้งสองฝ่ายกล่าวยินดีที่ได้พบหารือกันอีกครั้งหลังจากได้พบกันที่เมืองเซนได ญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณเลขาธิการสหประชาชาติที่เชิญให้มาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ และรู้สึกยินดีกับการครบรอบการก่อตั้งสหประชาชาติเป็นปีที่ 70 ในปีนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันถึงพันธกรณีที่ไทยมีต่อสหประชาชาติ พร้อมสนับสนุนการทำงานของเลขาธิการฯ และแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์อย่างแข็งขันต่อไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังเห็นพ้องในคำแถลงในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 58 ของเลขาธิการสหประชาชาติว่า แม้สหประชาชาติจะประสบความสำเร็จในหลายด้าน แต่ยังคงมีความท้าทายใหม่ๆ ที่ต้องการความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหา วาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้มีการรับรองวาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สะท้อนอยู่ในวาระดังกล่าวซึ่งการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาสู่การปฏิบัติในอีก 15 ปีข้างหน้าเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยสหประชาชาติสามารถช่วยเหลือประเทศสมาชิกให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ภายใต้บริบทของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะการระดมทุนอย่างสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนา การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการจัดเก็บสถิติ และการเชิญชวนภาคเอกชนและภาคประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในงานพัฒนา ไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวปฏิบัติที่ดีในสาขาที่ไทยเชี่ยวชาญ เช่น การส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืนและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของประชาคมโลกร่วมกัน

ขณะนี้ไทยกำลังจัดทำ INDCs (Intended Nationally Determined Contributions) ในเรื่องของการกำหนดอัตราการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้หารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ จากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะสามารถเสนอร่างให้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติพิจารณาได้ในไม่ช้านี้ ทันการนำเสนอ UNFCCC ภายในเดือนตุลาคมนี้ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ หลังจากที่มีการรับรองกรอบการดำาเนินงานเซนได ไทยได้จัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้ขับเคลื่อนกรอบการดำเนินงานฯ สู่แผนปฏิบัติการในระดับประเทศ การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2558 ไทยจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก 20 ประเทศ รวมถึงผู้แทนจาก IOM UNHCR และ UNODC เอกอัครราชทูตและอุปทูตที่ประจำการในไทยประมาณ 40 ประเทศเข้าร่วม โดยที่ประชุมเห็นพ้องถึงความจำเป็นเร่งด่วนของสถานการณ์ในปัจจุบันที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนบนพื้นฐานของการแบ่งเบาภาระและความรับผิดชอบร่วมกันเนื่องจากเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน หลายมิติ โดยที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอต่างๆ อาทิ มาตรการเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่ตกค้างอยู่กลางทะเล การป้องกันการโยกย้ายถิ่นฐาน แบบไม่ปกติ การลักลอบขนคน และการค้ามนุษย์ และการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่ประเทศต้นทาง

สำหรับสถานการณ์การเมืองไทย นายกรัฐมนตรียืนยันว่า การดำเนินการต่างๆ ตามกรอบระยะเวลา (Roadmap) นั้นเป็นกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมไทย และเพื่อให้ไทยได้ทำหน้าที่สมาชิกสหประชาชาติได้อย่างเต็มศักยภาพยิ่งขึ้น และจากการที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ คสช.จะตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ สปช. ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใน 180 วัน และจัดให้มีการลงประชามติ ซึ่งหากประชาชนเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าว ก็จะดำเนินการยกร่างกฎหมายลูกประกอบการเลือกตั้ง คาดว่าจะสามารถประกาศการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560

ด้านการสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกไม่ถาวร UNSC วาระปี ค.ศ. 2017-2018 ของไทย โดยไทยเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC มาแล้วสมัยหนึ่ง เมื่อปี ค.ศ. 1985-1986 ในการสมัครครั้งนี้ ไทยได้รับการรับรองและสนับสนุนจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการรณรงค์ของไทยมีพื้นฐานจากการทำงานที่ดีในงานทั้ง 3 ด้านของสหประชาชาติ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในประเด็นสันติภาพและความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ไทยสามารถทำหน้าที่เสมือนเป็นสะพานเชื่อม และสนับสนุนการทำงานร่วมกันมากขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงฯ และประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อเวลา ประมาณ 17.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น วันเดียวกัน ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม UN Summit to adopt the Post-2015 Development Agendas เพื่อย้ำเจตจำนงทางการเมืองของไทยในการร่วมขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกสำหรับ 15 ปีข้างหน้า

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเข้าร่วมการประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ว่า เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยและคนไทยในการร่วมกับประชาคมโลก เพื่อบรรลุผลตามเป้าหมายของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมวาระการพัฒนาใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อคน โดยถือว่าคนเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อไป เพราะมนุษย์คือสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงของมนุษยชาติ ซึ่งต้องมีการตัดสินใจกันว่าเราจะยังคงบริโภคกันอย่างไม่ยับยั้งและมุ่งหวังแต่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบใดๆ หรือจะเลือกอยู่อย่างยั่งยืนมุ่งเน้นชีวิตที่มีคุณภาพ พอเพียงและสมดุล ซึ่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสอนให้คนไทยมีเหตุผล รู้จักความพอดี สร้างความต้านทาน ทำให้ไทยผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 เหตุการณ์สึนามิ ทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษได้เกือบทั้งหมด

รวมทั้งการจัดทำวิสัยทัศน์ประเทศไทย 2558-2563 และแผนพัฒนาประเทศฉบับต่อไป นายกรัฐมนตรียังกล่าวต่อไปว่า โลกยังประสบความท้าทายเร่งด่วน คือ ความเหลื่อมล้ำ เพราะความยากจน การโยกย้ายถิ่นฐาน การแย่งชิงทรัพยากร เป็นปัญหาพื้นฐานของปัญหามากมาย และยังเป็นปัจจับบ่มเพาะความรุนแรงในสังคม ดังนั้น การขจัดความเหลื่อมล้ำต้องเริ่มจากการวางกรอบกติกาของสังคมให้มั่นคงและเป็นธรรม ให้ทุกคนมีความเสมอภาคและมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร และการบริการรัฐอย่างเท่าเทียม จำเป็นต้องมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของภาครัฐ ด้วยหลักธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบ ความโปร่งใส รวมทั้งการขจัดความทุจริตและระบบอุปถัมภ์ ซึ่งไทยได้มีการออกกฎหมายหลายฉบับ เพื่อสร้างความทัดเทียม เช่น กฎหมายคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า การขจัดความเหลื่อมล้ำต้องเริ่มจากการยอมรับในคุณค่าของทุกคน รัฐบาลกำลังสร้างความเข้มแข็ง รวมทั้งได้มีการจัดวางมาตรการสร้างความมั่นคงทางสังคมให้กลุ่มเปราะบางต่างๆ เช่น การประกันสุขภาพทั่วหน้า การเพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุและเบี้ยผู้พิการ รวมทั้งการให้เงินอุดหนุนครอบครัวยากจน เพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด รัฐบาลกำลังสร้างความเข้มแข็งให้แก่บุคคล และสร้างความมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน รัฐบาลยังให้การคุ้มครองทางสังคมไม่เฉพาะคนไทย รวมทั้งแรงงานต่างด้าว โดยไทยจัดให้มีการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานมากกว่า 1.6 ล้านคน มาตรการนี้ช่วยป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน และแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญในการพัฒนาข้อมูลสถิติที่ครอบคลุมเพื่อกำหนดนโยบายให้ตอบสนองและจำแนกตามกลุ่มคน และความต้องการของกลุ่มคนต่างๆ อย่างแท้จริง เราต้องให้ความสำคัญกับความเคารพความเป็นมนุษย์ มีเมตตา และยอมรับความเท่าเทียมกัน โดยปลูกฝังทัศนคติเหล่านี้ตั้งแต่เด็ก การขจัดความเหลื่อมล้ำ ต้องมาจากการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลเน้นการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ทำให้เศรษฐกิจและสังคมมาจากฐานรากที่เข้มแข็ง ด้วยการขยายการลงทุนสู่ท้องถิ่น ผ่านกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี การส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในชนบท

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเน้นการดูแลเกษตรกรอย่างเต็มที่ ส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน พัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรด้วยการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่นพร้อมๆ กับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งเป็นผลให้ในปัจจุบัน คนไทยทั่วประเทศมีงานทำแทบทุกคน และรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางาน Smart Job Centre ให้ผู้มีรายได้น้อยมีช่องทางในการหางานทำด้วย ทั้งนี้ การขจัดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นเฉพาะเรื่องภายในของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เราต้องช่วยกันขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศด้วยการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ด้วยการเชื่อมโยงภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวจังหวัดชายแดน 6 แห่ง ภายใต้แนวคิดไทยบวกหนึ่ง ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะพัฒนาประเทศและภูมิภาค ควบคู่ไปกับการขยายความร่วมมือไตรภาคี และความร่วมมือนอกภูมิภาค ความร่วมมือใต้-ใต้ นายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนท้ายว่า เมื่อประชาชนเข้มแข็ง ประเทศและโลกก็จะเข้มแข็งไปด้วย ในอีก 15 ปีข้างหน้า ความเหลื่อมล้ำ และความยากจนจะลดน้อยลง ประเทศไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศและสหประชาชาติ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ทุกคนเข้มแข็ง อยู่รวมกันอย่างผาสุก มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนไปด้วยกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น