xs
xsm
sm
md
lg

สูตรสำเร็จ “ท๊อปบูต-การเมือง” ล้วงลูกตั้งข้าราชการ กระทืบระบบคุณธรรมแหลก

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ   

                                 
 
ช่วงเดือนคาบเกี่ยวเดือนกันยายนของทุกปี วงการข้าราชการไทยจะคึกคักเป็นพิเศษ นอกเหนือจากจะเป็นช่วงสิ้นสุดปีงบประมาณในวันที่ 30 กันยายน ที่จะต้องมีการเบิกจ่ายใช้สอยตามโครงการที่อนุมัติไว้อย่างอุตลุดแล้ว ก็ยังเป็นช่วงเวลาแห่งความระทึกใจ เพราะเป็นฤดูกาลแห่งการโยกย้าย และแต่งตั้งข้าราชการ

โดยเฉพาะบรรดา “บิ๊กเนม” ข้าราชการระดับสูง ที่ต้องมีการทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการออกไป

สำหรับปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 ของการโยกย้ายข้าราชการ อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการทยอยอนุมัติตามที่กระทรวงต่างๆเสนอมาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปล่วงหน้าหลายครั้ง มีการโยกย้ายระดับ “บิ๊กล๊อต” ในตำแหน่งสำคัญๆไปก็หลายหน

ในความเป็นจริงตั้งแต่ คสช.เข้ามายึดอำนาจการปกครองเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อน ก็ได้มีการ “ล้างบาง” จัดระเบียบข้าราชการตามกระทรวงทบวงกรม รวมไปถึงพนักงานของรัฐในองค์กรต่างๆไปมากกว่าครึ่ง เริ่มตั้งแต่การใช้อำนาจคณะรัฐประหาร “โละทิ้ง-สลับดอก” ข้าราชการผู้ใหญ่นับร้อยตำแหน่ง

ก่อนแปลงอำนาจคณะรัฐประหารมาเป็นมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็มีการเปิดตำแหน่งชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 100 อัตรา เพื่อรองรับทั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ

ในส่วนนี้แม้จะเป็นการใช้อำนาจพิเศษ แต่ก็ถือว่าเป็นไปตามเกมที่เมื่อ “คนใหม่” เข้ามาก็ต้องจัดแถวมือไม้ทำงานของตัวเอง รวมทั้งพวกที่มีเรื่องร้องเรียนที่ค้างคาอยู่ในองค์กรตรวจสอบต่างๆด้วย จึงไม่ค่อยถูกวิพากษ์วิจารณ์มากนัก

เรียกได้ว่าบรรดาซี 10 - ซี 11 ใครยังอยู่เก้าอี้เดิมถือเป็น “สายแข็ง” คนที่ได้ดิบได้ดีขึ้นก็เป็นบุญพาวาสนาส่งในยุคผลัดเปลี่ยนอำนาจ ส่วนพวกที่หลุดไปก็ต้องทำใจว่า ยุคนี้ไผเป็นไผ

โดดเด่นที่สุดไม่มีใครเกิน “อารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม” ที่เส้นทางชีวิตราชการโลดแล่นไปตามจังหวะการเมืองเป็นอย่างยิ่ง โดยได้เป็นปลัดครั้งแรกที่กระทรวงการคลังเมื่อสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ พอมายุคเพื่อไทยถูกเขี่ยไปเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

เมื่อ คสช.เข้ามา “อารีพงศ์” ชีพจรลงเท้าถี่ขึ้นอีก ถูกดึงไปเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน ก่อนที่จะซดเกาเหลากับเจ้ากระทรวงคนเก่า เด้งดึ๋งกลับไปนั่งเป็นเลขาฯ ก.พ.ร. ก้นยังไม่ทันร้อนดีก็โอนย้ายมาเป็นปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สุดท้ายกลับมาทวงเก้าอี้ปลัดพลังงานอีกครั้งในเวลาไม่ถึง 3เดือน เมื่อมีการเปลี่ยน รมว.พลังงาน มาเป็น “บิ๊กโย่ง - พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์”
 
กรณีของ “อารีพงศ์” ต้องจารึกเป็นประวัติศาสตร์ของข้าราชการไทยเลยทีเดียว

ขณะเดียวกันการโยกย้ายข้าราชการประจำกลับมีการใช้อำนาจ คสช.เข้าไป “ล้วงลูก” จนทำให้การแต่งตั้งโยกย้ายในยุคนี้ดูจะพิลึกพิลั่นเสียยิ่งกว่ายุคที่นักการเมืองเรืองอำนาจเสียอีก

ล่าสุดสดๆร้อนๆกับกรณีของ “กนกทิพย์ รชตะนันทน์” รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่เคยประกาศลาออกจากราชการ หลังผิดหวังอย่างอรง ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการ สมช.ตามที่คาดการณ์และมี “ผู้ใหญ่” เคยรับปากไว้ว่าจะสนับสนุนให้สร้างประวัติศาสตร์เป็น เลขาฯสมช.หญิงคนแรกในฐานะอาวุโสอันดับ 1 ของหน่วยงาน แต่แล้ว ครม.กลับมีมติแต่งตั้ง “พล.อ.ทวีป เนตรนิยม” ค้ำถ่อจากกองทัพมานั่งแทน “อนุสิษฐ คุณากร” เลขาธิการ สมช.คนปัจจุบันที่กำลังจะเกษียณ

ภายหลังการประกาศลาออกของ “กนกทิพย์” ท่าทีของทั้ง “บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯและหัวหน้า คสช. และ “บิ๊กป้อม -พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ดูจะไม่ยี่หระ ต่างก็บอกว่าอยากจะออกก็ออกไป จะไม่ทัดทานยับยั้งใบลาออก
 
แต่จู่ๆก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 31/2558 กำหนดดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาให้รองรับ “กนกทิพย์” เป็นการเฉพาะ โดยตำแหน่งที่ว่าเป็นระดับซี 11 เทียบเท่าหรืออยู่ระนาบเดียวกับเลขาฯ สมช.

เป็นการเยียวยา “กนกทิพย์” และไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมภายใน สมช. เพราะผู้ใหญ่ใน สมช.หลายคนที่ทำงานอยู่กับ คสช.ได้พยายามเกลี้ยกล่อมเพื่อหาข้อยุติไม่ให้ “กนกทิพย์” ตัดใจลาออกก่อนเกษียณ

แม้จะมีการแก้ไขแล้ว แต่ “บิ๊ก คสช.” ก็ปฏิเสธข้อหากระทำชำเรา สมช.ด้วยการเอาคนของตัวเองมานั่งตำแหน่งสูงสุดขององค์กรไปไม่ได้ เข้าวลีว่าเขาอิเหนาก็เป็นเอง เพราะในยุครัฐบาลที่แล้วซึ่ง คสช.ยึดอำนาจมา ก็เกิดกรณีคล้ายคลึงกันมาแล้ว

และยังเป็นเหตุที่ทำให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กระเด็นออกจากเก้าอี้นายกฯเสียด้วย ครั้งนั้นมีการโอนย้าย “พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี” จากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาดำรงตำแหน่งเลขาฯสมช. แทน “ถวิล เปลี่ยนศรี” เพื่อเปิดทางให้ “พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์” ขึ้นเป็น ผบ.ตร. แถมมีการดึงคนนอกอย่าง “พล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร” มาสืบเก้าอี้ต่อจาก “วิเชียร” อีกต่างหาก

ทำให้ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สมช.เป็นองค์กรที่อยู่ในยุคดำมืดอย่างแท้จริง ก่อนที่ศาลจะคืนความเป็นธรรมสั่งให้รัฐบาลคืนตำแหน่งให้ “ถวิล” หลังกัดฟันต่อสู้ร่วม 3 ปี

พอมา คสช.เข้ามามีอำนาจ สมช.ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีการเก็บกวาด มีคำสั่งเด้งฟ้าผ่า "พล.ท.พงศกร รอดชมพู" ออกจากเก้าอี้รองเลขาฯ สมช.เบอร์ 1 ที่ถูกดึงตัวมาในสมัย “ภราดร” เพื่อวางไลน์ให้เป็นเลขาฯสมช.ต่อ ซึ่งทำให้ “กนกทิพย์” ยิ่งมั่นใจว่า เก้าอี้จะไม่หลุดมือไปจากลูกหม้อเบอร์ 1 มีการจ่อเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.แล้วด้วยซ้ำ

แต่เข้าทำนองเพลงดังฝนตกทางนู้นหนาวถึงคนทางนี้ เพราะรู้กันดีว่าเหตุที่ พล.อ.ทวีปต้องมา สมช. เนื่องมาจากปัญหาเคลียร์ตำแหน่งในกองทัพไทยไม่ลงตัว

ไม่เพียงเท่านั้น ก่อนหน้าที่จะมีประกาศ คสช.เปิดตำแหน่งใหม่ให้ มีการยื่นทางเลือกให้ “กนกทิพย์” โยกไปนั่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) แทนที่ “ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล” ที่ต้องไขก๊อกก่อนกำหนด เพราะมีกฎเหล็กจาก คสช.ว่า ห้ามควบตำแหน่ง “หม่อมเหลน” จึงตัดสินใจเลือกเก้าอี้ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไว้เพียงตำแหน่งเดียว

แต่เป็น “กนกทิพย์” เองที่บอกปัดไป แม้จะเป็นโอกาสดีที่จะอัพชั้นจากรองเลขาฯที่เป็นซี 10 ขึ้นชั้นปลัดที่เป็นซี 11 เพราะไม่สบายใจที่ต้องข้ามหัวข้าราชการต่างหน่วยงาน แถมมีที่ทำงานอยู่ในรั้วทำเนียบฯเหมือนกันด้วย
 
“บิ๊ก คสช.” จึงต้องงัด มาตรา 44 มาผ่าทางตันอย่างที่ว่า

ยังไม่จบเท่านั้นช่วงเดียวกัน ครม.ก็ได้มีมติแต่งตั้ง “พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์” รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่เพิ่งพลาดหวังเก้าอี้ ผบ.ตร.เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันมาทั้งที่มั่นหมั้นปั้นมืออย่างมากในฐานะรอง ผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 เป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นัยว่าเป็นการเยียวยาเลื่อนขั้นจากซี 10 เป็นซี 11 เช่นเดียวกับกรณีของ “กนกทิพย์”

การดึง “บิ๊กเอก” มาเป็นปลัดงวดนี้อาจจะดูลงตัว แต่ต้องถามข้าราชการใน สปน.ว่าแฮปปี้หรือไม่ เพราะตัว ม.ล.ปนัดดาเองก็ข้ามห้วยมาจากกระทรวงมหาดไทยในยุค คสช. ก่อนที่จะแต่งตั้ง “บิ๊กเอก” ก็ยืนยันดิบดีว่าจะเสนอชื่อ “คนใน” มาทำหน้าที่แทนตัวเอง แต่สุดท้ายโหวยมากออกที่ พล.ต.อ.เอก

แถมไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเสนอให้ “บิ๊กเอก” สลัดเครื่องแบบเข้ากระทรวง เพราะเมื่อการแต่งตั้งหนก่อนที่ พล.ต.อ.เอก พลาดให้กับ “บิ๊กอ๊อด -พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” ผบ.ตร.คนปัจจุบัน เมื่อปีกลาย ก็มีการเสนอเก้าอี้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยมีออฟชั่นเสริมเป็นเก้าอี้ปลัดกระทรวงยุติธรรมในปีนี้ แต่ “บิ๊กเอก” ก็เลือกที่จะอยู่ที่เดิม เพื่อลุ้นขึ้นเป็นเบอร์หนึ่ง สตช.มาแล้ว

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกรณีในการแต่งตั้งปีนี้ ทั้ง “ธีรภัทร ประยูรสิทธิ” อธิบดีกรมป่าไม้ ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บุกป่าฝ่าดงมาเป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ไมตรี อินทุสุต” รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กระโดดมาเป็นปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ “พงศ์ภาณุ เศวตรุนทร์” รองปลัดกระทรวงการคลัง ไปเป็นปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ยิ่งพอได้ยิน “นายกฯตู่” พูดถึงเรื่องนี้แค่ว่า “ไม่เห็นเป็นอะไร เพราะเป็นการหมุนเวียนปกติ ซึ่งสามารถทำหน้าที่ได้อยู่แล้ว ข้าราชการระดับผู้บริหารนั้น สามารถบริหารได้หมด” ก็ทำข้าราชการเจ้าของบ้านได้แต่มองตาปลิบๆ

เป็นที่รู้กันว่าในชีวิตของข้าราชการที่กินเงินเดือนหลวง ก็หวังจะทำงานเติบโตตามเส้นทาง ยิ่งตำแหน่งสูงขึ้น เก้าอี้ก็ยิ่งเหลือน้อย การแข่งขันขับเคี่ยวภายในหน่วยงานก็เป็นอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว แต่หลายๆครั้งกลับถูกการเมืองเข้าแทรกแซงนำ “คนนอก” มาเด็ดยอดไปกินหน้าตาเฉย ยังไม่นับรวมพวกคนในที่ได้ดิบได้ดีเพราะสวมบท “นักวิ่ง” ช่วงโค้งสุดท้ายอีกต่างหาก

มาถึงยุค คสช.ที่ล้วนแล้วแต่มาจากข้าราชการทหารผ่านช่วงเวลาลุ้นระทึกในการแต่งตั้งโยกย้ายแต่ละหนมานักต่อนัก แต่เมื่อเข้ามามีอำนาจก็ใช้สูตรสำเร็จเดียวกับยุคที่ฝ่ายการเมืองเรืองอำนาจ ซึ่งย่อมบั่นทอนขวัญและกำลังใจของข้าราชการอย่างแน่นอน

 จริงอยู่ที่วันนี้ คสช.จะอ้างว่าเป็น “สถานการณ์พิเศษ” แต่ก็ไม่ควรครอบงำการแต่งตั้งข้าราชการจนผิดรูปผิดร่าง จนทำให้ระบบคุณธรรมอ่อนด้อยลงไป
กำลังโหลดความคิดเห็น