ไฟเขียวกรอบงบปี 59 ของ รสก. วงเงิน1.48 ล้านล้านบาท แยกเป็นงบลงทุน 5.93 แสนล้านบาท คาดทั้งปี ได้กำไรสุทธิ 7.5 หมื่นล้านบาท อนุมัติงบลงทุนขนาดเล็ก - ฉุกเฉินให้หน่วยราชการ 1.9 หมื่นล้าน ให้คลังปรับวงเงินโครงการของรัฐจาก 1 พันล้านบาท เป็น 5 พันล้านบาท เพื่อเปิดทางให้มีการลงทุนรวดเร็วขึ้น ไฟเขียว “การท่าเรือ” สร้างศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง วงเงิน 2,944.93 ล้านบาท อนุมัติโครงการให้เอกชนลงทุนระบบกำจัดขยะมูลฝอย อบจ. นนทบุรี ขนาด 1,000 ตันต่อวัน
วันนี้ (22 ก.ย.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณได้รายงานให้ ครม. รับทราบถึงการจัดสรรงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นให้แก่หน่วยงานราชการ สำหรับดำเนินโครงการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดย ครม. เห็นควรอนุมัติงบประมาณดังกล่าวจำนวน 19,267 ล้านบาท จากวงเงินที่เสนอขออนุมัติมาทั้งสิ้น 37,273 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้รับอนุมัติมากสุดจำนวน 9,322 ล้านบาท รองลงมา คือ กระทรวงศึกษาธิการได้รับอนุมัติจำนวน 5,681 ล้านบาท ตามด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน 2,380 ล้านบาท
โดยเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศเพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น สามารถดำเนินการตามมาตรการกระตุ้น การลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วไปได้โดยเร็ว ให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ โดยสามารถก่อหนี้ผูกพันได้ เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ
เนื่องจากมีงบลงทุน รายการสิ่งก่อสร้างบางส่วนไม่มีรายละเอียดประกอบการพิจารณา จึงไม่ได้เสนอจัดสรรงบประมาณในครั้งนี้ ดังนั้น จึงสมควรขอความร่วมมือจากรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับและรัฐมนตรี เจ้าสังกัดเร่งรัดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ส่งรายละเอียดให้สำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง ในวันพุธที่ 30 กันยายน 2558
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานการจัดทำกรอบงบประมาณประจำปี 2559 ของรัฐวิสาหกิจ โดยคาดว่าจะมีกำไร 75,079 ล้านบาท โดยกำหนดกรอบทำงานไว้ที่ 1.84 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุน 593,167 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.5 ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ซึ่งต่ำกว่าปี 58 ที่ 657,901 ล้านบาท ซึ่งยืนยันว่า การปรับลดลงในครั้งนี้เป็นการปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการดำเนินการในโครงการนั้น ในบางโครงการสามารถของบเพิ่มเติมระหว่างปี 90,000 ล้านบาท
คณะรัฐมนตรียังมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเพิ่มมูลค่าของโครงการที่จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
โดยกำหนดเพิ่มมูลค่าของโครงการที่จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ จากโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปเป็นโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป และ 2. กำหนดให้โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ ในวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติต่อไป
คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดย กทท. เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือยกขนหลักทั้งหมด รวมถึงการบริหารและการประกอบการ โดยใช้งบประมาณลงทุนของ กทท. วงเงินรวม 2,944.93 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
โดย โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรางรถไฟและใช้เครื่องมือยกขนชนิดปั้นจั่นเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crame : RMG) คร่อมรางรถไฟจำนวน 6 ราง เพื่อหลีกเลี่ยงการเคลื่อนขบวนรถไฟในการบรรทุก / ขนถ่ายตู้สินค้าขึ้นลงขบวนรถไฟ ทั้งนี้ กทท. มีแนวคิดตั้งหน่วยธุรกิจประกอบการยกตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟ (SRTO) โดยศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟมีเป้าหมายที่จะบรรทุก / ขนถ่ายตู้สินค้าในแต่ละขบวนได้ในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง (1 ขบวน ประกอบ 34 แคร่ แต่ละแคร่บรรทุกสินค้าได้ 2 TEUs) จากเดิมใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 2.0 ล้าน TEUs/ ปี
โครงการตั้งอยู่บริเวณทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ภายในบริเวณพื้นที่โซน 4 ระหว่าง ท่าเรือ B และ C มีพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ (ใช้ในการก่อสร้างโครงการ 370 ไร่ และสำรองไว้อีกประมาณ 230 ไร่)
คณะรัฐมนตรี ยังอนุมัติหลักการโครงการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (อบจ.นนทบุรี) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ มีวัตถุประสงค์ เพื่อกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 ตัน ให้เกิดประสิทธิภาพและได้มาตรฐานอย่างยั่งยืน และพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและชีวิตของประชาชนที่อาศัยรอบพื้นที่โครงการฯ รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากการใช้พลังงานทดแทน
ขอบเขตโครงการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการก่อสร้าง บริหารจัดการและซ่อมบำรุงรักษาระบบกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีการเผาไหม้แบบไพโรไลซิส และแก๊สซิฟิเคชัน (Pyrolysis & Gasification) ที่สามารถกำจัดขยะมูลฝอยได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ตันต่อวัน และมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 20 เมกะวัตต์ (โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก (SPP))
ที่ตั้งและระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ ตั้งอยู่ภายในพื้นที่บ่อฝังกลบขยะมูลฝอยปัจจุบันของ อบจ. นนทบุรี เนื้อที่ประมาณ 57 ไร่ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 22 ปี โดยแบ่งเป็น ระยะเวลาการก่อสร้าง 2 ปี (พ.ศ. 2560 - 2561) และระยะเวลาเดินระบบ 20 ปี (พ.ศ. 2562 - 2581)
รูปแบบการร่วมลงทุน มอบหมายหรือให้สิทธิเอกชนลงทุนก่อสร้าง บริหารจัดการและซ่อมบำรุงรักษาระบบกำจัด ขยะมูลฝอย เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าตลอดระยะเวลาที่ดำเนินโครงการฯ ในรูปแบบ Build-Operate-Transfer (BOT) และ อบจ. นนทบุรี จะรับผิดชอบการจัดหาที่ดินเพื่อใช้ดำเนินโครงการ และการส่งมอบขยะมูลฝอยให้โครงการ
อนุมัติเรื่องผ่อนปรนให้เอสเอ็มอีไม่จำเป็นต้องใช้สัญญาการกู้เงินกับธนาคารออมสินในส่วนของมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี เนื่องจากเอสเอ็มอีบางกลุ่มไม่มีการใช้ตั๋วสัญญาการกู้เงิน โดยสามารถใช้รายการสรุปยอดสินเชื่อที่เคยขอกู้มากู้กับธนาคารออมสินได้
และมีมติให้ กระทรวงไอซีที แปลงงบซื้อคอมพ์พกพา 3,755 ล้านบาท มาปรับใช้ใน 6 โครงการเพื่อให้เทคฯดิจิตอลเข้ามาสนับสนุนสังคมและเศรษฐกิจ
นายอุตตม สาวนายน รมว.ไอซีที กล่าวว่า นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีศักยภาพในการแข่งขัน และชาวบ้านในชุมชนได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น ที่ประชุม ครม. จึงปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณสำหรับการใช้จัดซื้อแท็บเล็ตให้กับนักเรียนวงเงิน 3,755 ล้านบาท เพื่อปรับมาใช้ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี ด้วยการปรับแนวทางการใช้งบประมาณ พร้อมเปลี่ยนชื่อจากศูนย์การเรียนรู้ชุมชน มาเป็น ศูนย์เศรษฐกิจดิจิตอล โดยมีสถาบันการศึกษาในพื้นที่เข้าช่วยเหลือ การให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เอสเอ็มอีได้ใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตด้วยกันเพื่อประหยัดต้นทุน การพัฒนาเมืองสมาร์ทดิจิตอล เช่น พัฒนาเมืองเชียงใหม่ ภูเก็ต ให้เป็นต้นแบบสมาร์ทซิตี การใช้เทคโนโลยียกระดับคุณภาพการศึกษา การใช้ระบบ E-Gverment เพื่อปรับปรุงให้ระบบบริการภาครัฐ มีฐานข้อมูลบูรณาการเชื่อมโยงร่วมกัน.