อุตรดิตถ์ - ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฯ สั่งปิด 31 บ่อขยะกลางป่าของ อปท.ทั่วอุตรดิตถ์ พร้อมกำชับฝังกลบให้เรียบร้อย เผยมีแผนทำบ่อขยะ-โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ “อ.เมือง หรือทองแสนขัน” พร้อมสถานีขนถ่ายขยะทั้งโซนเหนือ และใต้ มูลค่าร่วมพันล้านอยู่ แต่ยังไร้เจ้าภาพ
วันนี้ (2 ก.ย.) นายธีระ เงินวิลัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) อุตรดิตถ์ กล่าวว่า หลังเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กก.4 บก.5 จับกุมพนักงานกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลตำบลบ้านโคก ที่นำขยะไปทิ้งบริเวณบ่อขยะของเทศบาลตำบลบ้านโคก หมู่ 7 บ้านโคกใน ในเขตป่าชุมชนป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ข้อหาร่วมกันยึดถือครอบครองเข้าทำประโยชน์หรืออาศัยอยู่ แผ้วถาง หรือกระทำผิดใดๆ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียสภาพป่าสงวนแห่งชาติ
จากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหาทางออกร่วมกันแบบบูรณาการ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด พนักงานอัยการ และพนักงานสอบสวน สภ.บ้านโคก เชื่อว่าทุกฝ่ายจะมีทางออกที่ดีและไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อื่นอีกต่อไป
แต่เบื้องต้นได้สั่งปิดบ่อขยะของ อปท.31 แห่งที่อยู่ในเขตป่าและให้ทำการฝังกลบไปแล้ว ส่วนขยะที่เกิดใหม่เมื่อนำไปทิ้งก็ให้ฝังกลบทันทีเพื่อไม่ให้ขยะเกลื่อนพื้นที่รอบข้าง อย่างไรก็ตาม น่าเห็นใจ อปท.เกือบทุกแห่งใน จ.อุตรดิตถ์ที่ประสบปัญหาเรื่องสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยเพราะอยู่ในเขตป่าไม้
“ยอมรับว่า อปท.ที่มีการจัดเก็บขยะนั้นทำให้บ้านเมืองเกิดความสะอาดขึ้น ซึ่งต่อไป อปท.ที่มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะจะต้องขออนุญาตจากกระทรงมหาดไทย เขตป่าสงวนให้ขออนุญาตจาก ทสจ. ส่วนเขตอุทยานแห่งชาติห้ามทำเป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนก็จะมีโทษสถานเดียว”
นายธีระกล่าวอีกว่า ที่จริงแล้วจังหวัดอุตรดิตถ์มีแผนงานอยู่แล้วที่จะจัดทำบ่อกำจัดขยะรวม สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลรองรับปริมาณขยะได้มากถึงวันละ 200-300 ตันในพื้นที่ อ.เมือง หรือ อ.ทองแสนขัน พร้อมสถานีขนส่งขยะอีก 2 โซน คือ โซนเหนือที่ อ.น้ำปาด หรือ อ.ฟากท่า และโซนใต้ที่ อ.พิชัย งบประมาณลงทุนมากกว่า 800-1,000 ล้านบาท โดยมองพื้นที่ก่อสร้างไว้ 2 จุด คือ อ.เมืองอุตรดิตถ์ และ อ.ทองแสนขัน เนื่องจากมีพื้นที่สาธารณประโยชน์มากกว่าอำเภออื่น ซึ่งทั้ง 2 แห่งรวบรวมขยะแล้วก็นำมาส่งที่โรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
“เพียงแต่วันนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพทั้งที่ความจริงแล้วองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุตรดิตถ์ควรจะมาเป็นตัวหลักในการดำเนินการมากที่สุด” นายธีระกล่าว
ด้านนายชัช กิตตินภดล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า การกำจัดขยะมูลฝอยต้องเริ่มที่ครัวเรือนคัดแยกก่อนเป็นอันดับแรก เพราะจะช่วยลดปริมาณขยะได้มากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ขยะที่ขายได้ก็ควรขาย ขยะที่นำมาใช้ใหม่ได้ก็ควรนำมาใช้ ซึ่งจะเหลือขยะที่ทิ้งจริงเพียง 15-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วน อปท.ก็ควรสร้างร้านค้ามาเพื่อให้ประชาชนนำขยะมาแลกสินค้า จากนั้น อปท.ก็นำขยะไปขายให้แก่ห้างร้านที่รับซื้อ ซึ่งจะเป็นการลดขยะได้อย่างดี
“มั่นใจว่าหากครัวเรือนร่วมมือกันกำจัดขยะมูลฝอยอย่างจริงจังจะไม่เกิดปัญหาขยะล้นเมืองอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ประชาชนจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง”