อุตรดิตถ์ - พ่อเมืองอุตรดิตถ์มอบ ทสจ.ดูแลปัญหาการลักลอบทิ้งขยะในป่าชุมชน เผยรออนุมัติงบจากรัฐบาล สร้างโรงไฟฟ้าลดปริมาณขยะ วอนประชาชนช่วยกันลดขยะช่วงที่ยังหาที่ทิ้งไม่ได้
จากกรณีกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กก. 4 บก.5 จับกุมรถขนขยะของเทศบาลตำบลบ้านโคก อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ พร้อมพนักงานอีก 3 คน ในข้อหาร่วมกันยึดถือครอบครองเข้าทำประโยชน์หรืออาศัยอยู่ แผ้วถาง หรือกระทำผิดใดๆอันเป็นการทำให้เสื่อมเสียสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้เทศบาลไม่สามารถเก็บขยะไปทิ้งในพื้นที่ดังกล่าวได้อีกและเกิดปัญหาตามมา
นายนวย สิงห์ทอง นายกเทศมนตรีตำบลบ้านโคก กล่าวว่า เบื้องต้นได้ยื่นขอประกันตัวเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 คน และขอคืนรถบรรทุกขยะมูลฝอยแล้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน อ.บ้านโคก กำลังประสบปัญหาเรื่องสถานที่ทิ้ง เพราะบ่อขยะปัจจุบันก็อยู่ในเขตป่าชุมชน ในป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด แต่หลังจากถูกเจ้าหน้าที่จับกุมแล้วก็ไม่สามารถนำขยะไปทิ้งได้อีกเลย ได้ขอให้ประชาชนช่วยกันกำจัดขยะในครัวเรือนไปก่อน จนกว่าจะมีสถานที่ทิ้งขยะแห่งใหม่
ด้านนายชัช กิตตินภดล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าเกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มีผลกระทบทั่วประเทศ เพราะท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็จะทิ้งขยะในเขตป่าไม้ ซึ่งได้หารือกับผู้บังคับการจังหวัดทหารบก อุตรดิตถ์แล้ว และเห็นว่าควรมอบให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) อุตรดิตถ์ รวบรวมข้อเท็จจริงและเสนอไปยังทส.และรัฐบาล พร้อมขอรับการสนับสนุนไปยังกองทัพภาคที่ 3 เพื่อเสนอหน่วยเหนือพิจารณาด้วย
สำหรับปริมาณขยะของ จ.อุตรดิตถ์ ที่อยู่ในบ่อขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีประมาณ 23,000 ตัน ซึ่งจังหวัดได้สั่งการให้กำจัดให้ถูกต้องตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สำหรับขยะใหม่ต้องกำจัดให้ถูกต้องเช่นเดียวกัน ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวและให้ยั่งยืน จังหวัดได้เสนอแผนแม่บทกำจัดขยะให้ ทส.แล้ว โดยกำหนดโซนนิ่ง 3 พื้นที่ เป็นพื้นที่รวบรวมขยะ มีโรงกำจัดขยะผลิตพลังงานไฟฟ้าเหมือนบางจังหวัดที่ทำสำเร็จแล้ว และสามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำให้มีรายได้เข้ามาในพื้นที่
ขณะนี้จังหวัดรอการอนุมัติงบประมาณจาก ทส.และรัฐบาล ถ้าดำเนินการตามแผนได้ จะทำให้สามารถแก้ปัญหาขยะได้อย่างยั่งยืน และไม่ต้องหาพื้นที่ทิ้งขยะเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ ส่วนโครงการนี้จะเดินหน้าไปได้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับชาวอุตรดิตถ์ซึ่งเป็นผู้ทำขยะคนละประมาณ 1 กิโลกรัมต่อวัน หากพร้อมใจกันไม่สร้างขยะหรือลดปริมาณลงมาได้ก็จะทำให้ปัญหาลดน้อยลงด้วยเช่นกัน