xs
xsm
sm
md
lg

ผ่านฉลุย! โรงไฟฟ้าชีวมวลสุราษฎร์ฯ 2 อดีตผู้ว่าฯ ออกแรงดัน แก้ปัญหาขยะล้นเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี - 2 อดีตผู้ว่าราชการคนดังจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมผลักดันก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลสุราษฎร์ฯ แก้ปัญหาขยะล้นเมือง และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแบบครบวงจร ยันเป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบของเมืองไทยบนพื้นที่กว่า 100 ไร่ และพื้นที่รองรับขยะอีกกว่า 1,000ไร่ ผลประชาพิจารณ์ผ่านฉลุย ผู้นำท้องถิ่นพร้อมชาวบ้านเด้งรับ

นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายวิญญู ทองสกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้นำตัวแทนบริษัท อิโคเวสท์ แมเนจเม้นส์ จำกัด และบริษัท สุราษฎร์ธานี เวสท์ แมเนจเม้นท์ จำกัด จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการบริหารจัดการขยะชุมชนและน้ำเสียที่เกิดจากขยะเพื่อพลังงานทดแทน จ.สุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 3 โดยมี นายธีระศักดิ์ สุวรรณยศ ประธานบริษัทเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชาวบ้านประมาณ 100 คน ณ โรงแรมดิโอวาเลย์ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 ส.ค.2558 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งตอบปัญหาไขข้อข้องใจแก่ผู้ร่วมการประชุม หลังจากใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ ผลการทำประชาพิจารณ์ผ่านฉลุย ทางบริษัทพร้อมดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าภายใน 2 เดือนนี้

หลังจากสรุปการรับฟังประชาพิจารณ์แล้ว 2 อดีตผู้ว่าราชการ พร้อมด้วยนายธีระศักดิ์ สุวรรณยศ ประธานบริษัทเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ว่า ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ทั้งบนบก และตามหมู่เกาะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกโดยเฉพาะปัญหาขยะมากกว่า 2 แสนตันในพื้นที่เกาะสมุย ก็ยังอยู่ในระหว่างรอการแก้ไขปัญหา

โดยขณะนี้ทางบริษัทจะได้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ ต.ท่าโรงช้าง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี กว่า 100 ไร่ และยังมีพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ รองรับขยะที่นำมากลบฝังเพื่อรอการนำมาเป็นพลังงาน คาดว่าไม่เกิน 2 เดือนนี้จะลงมือก่อสร้างได้ พร้อมยืนยันโรงงานดังกล่าวจะเป็นโรงงานต้นแบบที่ปลอดภัยที่สุด

นายธีรศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน จ.สุราษฎร์ธานี มีขยะใหม่กว่า 800 ตันต่อวัน ใช้วิธีการฝังกลบ และเทกองอย่างไม่ถูกวิธี ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากได้จัดการขยะแบบถูกวิธีทำให้เกิดประโยชน์ด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งขีดความความสามารถของการกำจัดขยะวันละ 700 ตัน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 10 เมกะวัตต์ ใช้ในโรงงาน 5% ที่เหลือ 95% ส่งขายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และเชื่อมั่นว่าจะไม่มีการต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างแน่นอน

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น