xs
xsm
sm
md
lg

“พิเชฐ” ถกความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์จีน แนะขยายผลด้านอวกาศ ยานยนต์ไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมหารือกับ ดร.เฉา เจี้ยนหลิน ผู้ช่วย รมต.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เกี่ยวกับความก้าวหน้าในโครงการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ไทย - จีน หารือความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ “พิเชฐ” แนะช่องขยายผลความร่วมมือด้านอวกาศ นโยบาย วทน. โซลาร์เซลล์ ยานยนต์ไฟฟ้า และอาสาเชื่อมจีนกับอาเซียน

ที่ นครหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะผู้บริหารได้หารือ กับ ดร.เฉา เจี้ยนหลิน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และคณะ เกี่ยวกับความก้าวหน้าในโครงการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ภายใต้กรอบการดำเนินงาน Science and Technology Partnership Program (STEP) ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความสำเร็จต่อกัน และพร้อมจะขยายผลความร่วมมือเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้าน วทน. ของทั้งสองประเทศ พร้อมกันนี้ ดร.พิเชฐ ซึ่งทำงานร่วมกับอาเซียนมาเป็นเวลานาน ได้อาสาเป็นตัวแทนเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียนเพื่อการพัฒนาภูมิภาคเอเซีย - แปซิฟิก ต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ทั้งสองประเทศได้ตกลงร่วมมือกันส่งเสริม วทน. กันตั้งแต่ปี 2556 ภายใต้กรอบ STEP โดยมีคณะกรรมการร่วมและคณะทำงานเป็นกลไกในการดำเนินงาน 4 โครงการ ซึ่งภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี ได้สร้างความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะโครงการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี จีน - อาเซียน ซึ่งมีศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้ดำเนินการฝ่ายไทย ศูนย์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างหน่วยงาน สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยระหว่างประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีผลสำเร็จไปแล้วหลายด้าน เช่น การจัดฝึกอบรมผู้จัดการเทคโนโลยี การเจรจาธุรกิจ และนำผู้ประกอบการไทยไปร่วมจัดนิทรรศการแสดงสินค้าและเทคโนโลยี โดยมีธุรกิจข้าวและเมล็ดพันธุ์เป็นหลัก สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับไทยเป็นจำนวนมาก พร้อมกันนี้ ยังมีแผนที่จะเปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีไทย - จีน ในบริเวณอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากประเทศจีนมาแสดงในมหกรรมวิทยาศาสตร์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้

ดร.พิเชฐ กล่าวต่อว่า ความร่วมมือที่ 2 เป็นโครงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วม เพื่อวิจัยและพัฒนาสาขาที่ทั้งสองประเทศมีความสนใจร่วมกัน ซึ่งทั้งสองประเทศได้เริ่มดำเนินการเรื่องเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง โดยมี สวทช. และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นผู้ดำเนินการฝ่ายไทยในการจัดฝึกอบรมวิศวกรด้านระบบการทดสอบการสั่นสะเทือนไปแล้ว และมีแผนที่จะดำเนินการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับควบคุมรถไฟความเร็วสูงต่อไป ความร่วมมือที่ 3 เป็นโครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ที่มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (สวทน.) เป็นผู้ดำเนินการฝ่ายไทย ซึ่งจีนได้สนับสนุนให้ทุนนักวิจัยไทยได้ไปปฏิบัติงานที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน - อาเซียน แล้ว และมีแผนที่จะร่วมมือด้านการประกอบการธุรกิจใหม่รวมถึงด้านนโยบาย วทน. ร่วมกันต่อไป และความร่วมมือสุดท้ายเป็นโครงการระบบการบริการและแลกเปลี่ยนข้อมูลดาวเทียมสำรวจ โดยมีสำนักงานพัฒนเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) เป็นผู้แทนฝ่ายไทย ในการดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมระหว่างกันในสาขาต่าง ๆ เช่น เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อมและการป้องกันภัยพิบัติ ซึ่งได้มีการฝึกจัดอบรมเรื่องข้อมูลดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมดาวเทียมพร้อมซอฟต์แวร์ที่จิสด้าแล้ว และจะขยายผลความร่วมมือเพื่อดูแลการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

“ปีนี้เป็นปีที่ 40 ของความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน จึงเป็นโอกาสดีที่เราได้มาสรุปผลการดำเนินงานด้วยกัน และยังมีอีกหลายโครงการที่ไทยและจีนสามารถร่วมมือกันได้ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการและคาดการณ์ภัยพิบัติ การส่งคนไทยมาเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีอวกาศของจีน การพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าซึ่งจีนมีความเข้มแข็งเรื่องการวิจัยเกี่ยวกับแบตเตอรี่ การวิจัย และพัฒนาเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์และเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ การวิจัยนโยบายด้าน วทน. นอกจากนี้ จากความเข้มแข็งของการเป็นทำงานร่วมกับอาเซียนมาอย่างต่อเนื่องมานานกว่าหลายสิบปี ทำให้เราพร้อมที่จะเป็นตัวเชื่อมให้กับจีนสู่อาเซียน” ดร.พิเชฐ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น