อดีต ส.ส.ปชป.แฉซ้ำ ร.ฟ.ท.ซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์แพงกว่าเอกชนซื้อ 200% แถมล็อกสเปกให้บริษัทจีน จนบริษัทอื่นต้องถอนตัว เรียกร้อง “ประยุทธ์” ตรวจสอบความโปร่งใส
นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่าหลังจากได้โพสต์เรื่อง “ซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 4,400 ล้านบาท กลิ่นทะแม่ง” ไปเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 ซึ่งมีใจความโดยสรุปว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ประกาศข้อกำหนดทางเทคนิคที่ผิดปกติ ดังนี้
1. กำหนดให้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์สามารถรองรับผู้โดยสารยืนได้สูงถึง 10 คนต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร สูงกว่าปกติ และ 2. กำหนดให้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ มีระบบขับเคลื่อน 8 ชุดในหนึ่งขบวน ในกรณีที่ระบบขับเคลื่อนเสียครึ่งหนึ่ง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ก็ยังคงสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุดเท่าเดิมคือ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ข้อกำหนดทางเทคนิคเช่นนี้ไม่ที่ไหนในโลกเขาทำกัน
ปรากฏว่าเมื่อเร็วๆ นี้เรื่องนี้ได้กลายเป็นข่าวดังขึ้นมาทำให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องออกมาชี้แจงกันจ้าละหวั่นนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการล็อกสเปกให้บริษัทจีนได้งานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ใหม่ 7 ขบวน รวม 28 ตู้ วงเงิน 4,400 ล้านบาทแล้ว ประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากคือการกำหนดให้มีที่ยืนได้ 10 คนต่อตารางเมตร แต่ตามมาตรฐานคือ 6 คนต่อตารางเมตร เต็มขีดความสามารถคือ 8 คนต่อตารางเมตร และมากเป็นพิเศษคือ 10 คนต่อตารางเมตรนั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะตามมาตรฐานมีการกำหนดไว้ที่ 6-8 คนต่อตารางเมตรเท่านั้น
“ผมขอบอกนายออมสินว่า มันได้เกิดขึ้นแล้วดังเอกสารข้อกำหนดทางเทคนิคหน้า 39, 47 และ 187 จากทั้งหมด 195 หน้า ซึ่งระบุชัดว่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จะต้องสามารถรับน้ำหนักในกรณีที่มีผู้โดยสารนั่งเต็มทุกที่นั่งรวมทั้งผู้โดยสารยืน 10 คนต่อตารางเมตร ในขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่จะเปิดให้บริการในอีกไม่นาน กำหนดให้รับผู้โดยสารยืนได้เพียงแค่ 8 คนต่อตารางเมตรเท่านั้น คงเป็นเรื่องไม่ยากที่นายออมสินในฐานะ รมช.คมนาคม และในฐานะอดีตประธานกรรมการ ร.ฟ.ท.จะขอดูเอกสารเหล่านี้
น่าแปลกใจยิ่งนักที่ข้อกำหนดทางเทคนิคที่เกินความจำเป็นเช่นนี้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดทำข้อกำหนดทางเทคนิคมาได้ โดยปกติข้อกำหนดทางเทคนิคจะต้องเป็นข้อกำหนดที่เปิดกว้างให้บริษัทที่สนใจจำนวนหลายรายสามารถทำตามหรือเข้าร่วมประมูลได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพ แต่ในกรณีนี้มีบริษัทที่ตอบว่าจะสามารถทำตามได้เพียงบริษัทเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นบริษัทจากประเทศจีน แต่ ร.ฟ.ท.ก็ไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าบริษัทนี้จะสามารถทำได้จริงและมีคุณภาพดีจริงหรือไม่ ส่วนบริษัทอื่นอีก 3 บริษัทที่สนใจจะเข้าร่วมประมูลด้วยต้องถอนตัว เพราะไม่สามารถทำตามข้อกำหนดทางเทคนิคพิสดารนี้ได้
การจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ครั้งนี้ใช้เงินถึง 4,400 ล้านบาท (ไม่รวมค่าอะไหล่อีก 400 ล้านบาท) ประกอบด้วยรถไฟฟ้า 7 ขบวน ขบวนละ 7 ตู้ รวมทั้งหมด 28 ตู้ ดังนั้น ราคารถไฟฟ้าต่อตู้เท่ากับ 157.14 ล้านบาท หรือประมาณ 4.37 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่เมื่อปี 2553 บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส จัดซื้อรถไฟฟ้าจากบริษัทเดียวกันนี้จำนวน 12 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ รวมทั้งหมด 48 ตู้ เป็นเงิน 70 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราคาต่อตู้เท่ากับ 1.46 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเห็นได้ชัดว่า ร.ฟ.ท.ซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มีราคาแพงกว่าบีทีเอสซื้อถึง 200% แต่อาจมีข้อโต้แย้งได้ว่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ต่างกับรถไฟฟ้าบีทีเอส เพราะสามารถวิ่งได้เร็วกว่า ซึ่งแม้จะเป็นเช่นนั้นก็ตาม ราคาก็ไม่ควรแพงเกินกว่า 30% สำหรับกรณีนี้จึงน่าคิดว่าเหตุใดจึงทำให้ราคาต่างกันถึง 200% และเหตุใดเอกชนจึงสามารถซื้อรถไฟฟ้าจากบริษัทเดียวกันนี้ได้ถูกกว่าราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาก
โดยทั่วไปการประกวดราคาหากมีผู้ยื่นประมูลรายเดียว มักจะมีการยกเลิกการประมูล และจะต้องประมูลกันใหม่ แต่ในกรณีนี้ไม่มีการยกเลิก ทั้งๆ ที่มีบริษัทหนึ่งที่สนใจจะเข้าประมูลแต่ไม่สามารถเข้าร่วมได้จากสาเหตุความผิดปกติของข้อกำหนดทางเทคนิคได้ทำหนังสือทักท้วงไปที่ ร.ฟ.ท. แต่ ร.ฟ.ท.ก็ไม่ใยดี กลับเดินหน้าประมูลโดยการเจราจาต่อรองราคากับบริษัทหนึ่งเดียวบริษัทนั้นจนสำเร็จ
เมื่อเป็นเช่นนี้ เห็นทีท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องบัญชาให้มีการตรวจทานการจัดซื้อจัดจ้างของ ร.ฟ.ท.เสียใหม่ เพื่อให้การประมูลเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และเพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ”