xs
xsm
sm
md
lg

ทอ.ลงนามสัญญาจัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นแบบ บ.เกาหลี 4 ลำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โฆษกทัพฟ้าเผย เสธ.ทอ.ลงนามสัญญาจัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นแบบ ที-50 ทีเอช 4 ลำของบริษัทเกาหลี ตามมติ ครม. แทนรุ่นเก่าที่เทคโนโลยีล้าสมัย

วันนี้ (18 ก.ย.) พล.อ.อ.มณฑล สัชฌุกร โฆษกกองทัพอากาศ กล่าวว่า พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง เสนาธิการทหารอากาศ ในฐานะประธานกรรมการจัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นได้เป็นผู้แทนกองทัพอากาศลงนามในสัญญาจัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นแบบ ที-50 ทีเอช จำนวน 4 ลำ พร้อมอะไหล่ขั้นต้น อุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็น การฝึกอบรมนักบินและเจ้าหน้าที่เทคนิคที่เกี่ยวข้อง การถ่ายทอดเทคโนโลยีรวมทั้งข้อเสนอพิเศษร่วมกับนายฮา ซุง ยัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Korea Aerospace Industries (เคเอไอ) จำกัด ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในการจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 57 ที่อนุมัติให้กองทัพอากาศดำเนินการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น ระยะที่ 1 ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 58-60 และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบอีกครั้งก่อนดำเนินการ ซึ่งกองทัพอากาศได้นำเรียนคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบผลการดำเนินการเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 58 และรมว.กลาโหมได้อนุมัติให้กองทัพอากาศดำเนินการจัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นตามโครงการฯ (ระยะที่ 1) เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 58

พล.อ.อ.มณฑลกล่าวต่อว่า สำหรับเครื่องบินแบบ ที-50 ทีเอช เป็นเครื่องบินฝึกที่จะเข้ามาประจำการทดแทนเครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่ 1 (แอล-39) ของกองทัพอากาศที่มีแผนจะปลดประจำการซึ่งใช้งานมานาน เพราะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้น และมีเทคโนโลยีที่ล้าสมัย ไม่สามารถฝึกนักบินให้ตอบสนองต่อความต้องการในการผลิตนักบินเพื่อไปปฏิบัติการบินกับเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงที่กองทัพอากาศได้จัดหามาแล้วและทำการปรับปรุง คือ เครื่องบินขับไล่แบบที่ 20 (กริพเพน 39 ซี/ดี) และเครื่องบินขับไล่แบบที่ 19 (เอฟ-16 เอ็มแอลยู) ทั้งนี้เครื่องบินแบบ ที-50 ทีเอช เป็นเครื่องบินฝึกสมรรถนะสูง ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เหมาะสมสำหรับการฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นให้สามารถปฏิบัติภารกิจกับเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงของกองทัพอากาศที่มีใช้งานในปัจจุบันต่อไปได้ มีระบบการฝึกอบรมและระบบสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจที่ทันสมัย ส่งผลให้การฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถติดตั้งใช้งานระบบอาวุธที่กองทัพอากาศใช้งานในปัจจุบันได้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เป็นข้อเสนอพิเศษที่ประเทศไทยและกองทัพอากาศจะได้รับเพิ่มเติม ได้แก่ ทุนการศึกษาในระดับปริญญาโท จำนวน 8 ทุน และความร่วมมือ และการสนับสนุนในภาคอุตสาหกรรมการบินซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น