xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” แจงเองสูตร “หกสี่-หกสี่” ไม่อยากให้ต่างชาติมองยืดเวลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกรัฐมนตรีชี้แจงสถานการณ์การเมืองไทยต่อประธานสหภาพรัฐสภา ระบุ สนช. ทำงานเต็มที่ ย้ำไม่โอนอ่อนล้มกฎหมายตามเสียงรัฐบาลเสมอไป อาศัยการส่งสัญญาณมาแทน แจงสูตร “6-4-6-4” ด้วยตัวเอง หวั่นต่างชาติเข้าใจผิดว่ารัฐบาลยืดเวลา ยอมรับเชิญพรรคการเมืองใหญ่ร่วมเป็น สปท. แต่ไม่ออกความเหมาะสม กมธ.ยกร่างฯ นั่ง กรธ.

วันนี้ (16 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับนายซาเบร์ โฮซเซน เชาว์ดรี ประธานสหภาพรัฐสภา (ไอพียู) ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการว่า ไอพียูถือเป็นการรวมของรัฐสภาทั่วประเทศในโลกซึ่งจะมีการประชุมทุกปี โดยปีนี้บังกลาเทศเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้ นายซาเบร์เข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยดี และได้เล่าให้ฟังว่าที่บังกลาเทศก็เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ จึงให้คำแนะนำแก่ไทยว่าแม้ขณะนี้จะเป็นยุคของสภาที่มาจากการแต่งตั้ง แต่สมาชิกสภายังสามารถทำหน้าที่ได้ด้วยการทำงานใกล้ชิดกับประชาชน สามารถรับฟังความเห็นจากประชาชน

นายวิษณุกล่าวอีกว่า การหารือครั้งนี้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.และกรรมาธิการการต่างประเทศได้อธิบายให้นายซาเบร์ ฟังว่า สนช.ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว ตนจึงกล่าวเสริมว่าตนเคยทำงานกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่วันนี้มาอยู่ในรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้ง อาจเทียบกันไม่ได้ แต่สภาในยุคปัจจุบันก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และไม่ได้อนุโลมหรือผ่อนปรนตามรัฐบาลทุกครั้ง เพียงแต่ท่าทีจะนุ่มนวลกว่า เพราะหากเป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้งกฎหมายใดที่สภาไม่พอใจก็คว่ำได้ในสภาทันที แต่สภาปัจจุบันจะอาศัยการส่งสัญญาณมาแทนรัฐบาลว่ากฎหมายนี้ไม่ดีอย่างไร รัฐบาลก็จะถอนออกจากสภาและมาปรับปรุงใหม่หรือยุบกฎหมายดังกล่าวทันที

นายซาเบร์ยังได้เล่าถึงสถานการณ์ในต่างประเทศให้ฟัง เพราะนายซาเบร์เคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อนและเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ จึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ฟัง

นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีนายมาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เผยแพร่ข้อความผ่านบล็อกของกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ทำนองว่าประชาธิปไตยของไทยดูห่างไกลออกไปกว่าเดิมว่า ตนได้อ่านแล้วซึ่งก็ถือว่าดี ตนคิดว่าเป็นการแสดงความเห็นกลางๆ ตามภาษาของคนที่เป็นห่วงเรา รัฐบาลก็จะพยายามส่งสัญญาณต่อไปว่าขอขอบคุณในความเป็นห่วง ซึ่งไทยก็มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้เช่นกัน และเราจะพยายามทำให้ดีที่สุด เหมือนที่นายซาเบร์ โฮซเซน เชาว์ดรี ประธานสหภาพรัฐสภา (ไอพียู) ที่ในครั้งแรกยังไม่เข้าใจสถานการณ์ไทยว่าทำไมต้องยืดระยะเวลารัฐบาลนี้ไปอีก 20 เดือน แต่หลังจากตนได้ชี้แจงก็เกิดความเข้าใจมากขึ้น เพราะตนได้บอกไปว่า 20 เดือนต่อจากนี้ไม่มีอะไรต้องเสียเวลา รัฐบาลพยายามจะทำให้กระชับลงสัก 2 เดือนเป็นอย่างน้อย ถือเป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลนี้

“เขาไม่ได้เป็นห่วงเรามากกว่าประเทศอื่น เพียงแต่ต้องพยายามเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองของแต่ละประเทศ อย่างสถานการณ์ในบังกลาเทศเคยรุนแรงกว่านี้ ฉะนั้นทุกคนควรใช้บทเรียนครั้งนี้มาเป็นบทเรียนของตนเองถือเป็นธรรมดา ส่วนที่ผมจะไปชี้แจงกับทูตประเทศต่างๆ ถือเป็นวงรอบปกติ และไม่อยากให้ทูตประเทศต่างๆ รับรู้สถานการณ์ผ่านสื่อเพียงอย่างเดียว เราจึงจำเป็นต้องชี้แจงกับทูตที่กระทรวงต่างประเทศด้วยตัวเอง ที่สำคัญไม่อยากให้สูตร 6-4-6-4 ถูกต่างชาติตีความว่าเป็นการยืดเวลา เราจึงต้องไปอธิบายกับเขาเอง” นายวิษณุกล่าว

เมื่อถามถึงสัดส่วนพรรคการเมืองที่จะเข้ามานั่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายวิษณุกล่าวว่า ในกรธ.ไม่มีสัดส่วนของพรรคการเมือง ไม่เหมือนกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งตนเห็นว่ามีการเชิญพรรคการเมืองเข้าร่วมบ้างบางส่วนแล้ว ซึ่งจะเน้นไปที่พรรคการเมืองใหญ่ที่มีผลกระทบต่อประชาชน ส่วนพรรคใดจะไม่ส่งเข้าร่วมก็ไม่เป็นไร ส่วน กรธ. ชุดใหม่ สมควรที่จะมี กมธ.ยกร่างฯ ชุดเดิมหรือไม่นั้น ตนไม่ขอแสดงความคิดเห็นในส่วนนี้ ส่วนสัดส่วนการคัดสรร กรธ.นั้น ครม.คงไม่เสนอความเห็นใด ทั้งนี้ตนอาจเป็นตัวประสานหากรัฐบาลจะดึงใครเข้ามา แต่ไม่ขอเปิดเผยในขณะนี้ เพราะเกรงว่าบุคคลนั้นจะปฏิเสธไม่เข้าร่วม


กำลังโหลดความคิดเห็น