รองนายกฯ เผยกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไปถึงวันเลือกตั้ง สามารถลดเวลาจาก 20 เดือน เหลือ 18 เดือนได้โดยนำสิ่งดีๆ ของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่มาปรับใช้ แต่ไม่ควรนำฉบับใดมาเป็นตัว แย้ม 22 กันนายนได้ กรธ.ครบ แต่จะประกาศหลังนายกฯ กลับจากต่างประเทศ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญตามสูตร 6-4, 6-4 ว่า สามารถลดเวลาลงมาได้ โดยร่างเร็วขึ้นจาก 6 เดือนมาเหลือ 5 เดือน โดยรีบเขียนและรีบทำความเห็น แต่ 4 เดือนในการรับฟังความคิดเห็นคงลดเวลาลงมาไม่ได้มากนัก เพราะต้องแจกรัฐธรรมนูญ อย่างมากลดลงมาได้ครึ่งเดือนเท่านั้น ส่วน 6 เดือนที่ทำกฎหมายลูก แบ่งเป็นใช้เวลายกร่างกฎหมายลูก 2 เดือน เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 3 เดือน และส่งศาลรัฐธรรมนูญตรวจ 1 เดือน ขั้นตอนนี้อาจเหลือ 5 เดือนได้ถ้าเริ่มร่างกฎหมายลูกรอไว้บ้าง แล้วค่อยมาเติมเอานิดเดียว โดยเอาคน สนช.มาช่วยร่าง ถึงเวลาเข้า สนช.จะช่วยพูดได้ ซึ่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.จึงได้ขอนายกฯ ว่าให้มี สนช.มาเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 1-2 คน ขณะที่ 4 เดือนสุดท้ายไม่มีทางลดได้เลย เพราะต้องนำกฎหมายลูกขึ้นทูลเกล้าฯ 1 เดือน อีก 3 เดือนขยับไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของการหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้น 20 เดือน อาจเหลือ 18-19 เดือนได้
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การย่นเวลาการร่างรัฐธรรมนูญให้สั้นลงมาจะมีคำตอบเมื่อเข้าสู่กระบวนการร่าง ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าตอนร่างจะใช้ฉบับไหนเป็นหลัก หรือเริ่มจากศูนย์ ถ้าเริ่มจากศูนย์ต้องใช้เวลาเต็ม 6 เดือน แต่ถ้าเริ่มจากฉบับอื่นเป็นหลักจะเร็วขึ้นมา อย่างไรก็ตาม การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องมีทางออกให้ประชาธิปไตยไม่ให้มีทางตัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีองค์กรมาคอยควบคุมรัฐบาล เหมือน คปป.อีกอาจถูกมองไม่เป็นประชาธิปไตย นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่เห็นว่าเป็นการครอบงำรัฐบาล เพราะถ้าสงสัยอะไรให้ถามไป แล้วให้เขาตอบว่าถูกหรือผิด ถ้าผิดจะได้ไม่ต้องทำ ถ้าถูกจะได้เดินหน้า วันนี้ถ้าไม่มีอะไรมาตอบคำถามถูกหรือผิด พอทำไปหากผิดขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น มันจะนำไปสู่การถอดถอน บ้านเมืองจะเกิดช่องว่าง หรือบางครั้งเมื่อไม่มีคนตอบเลย ไม่มีใครกล้าทำทั้งที่ความจริงเป็นสิ่งที่ถูก เราเลยพลาดโอกาสอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น จึงไม่คิดว่าเป็นการครอบงำ ร่างใหม่ตนอยากให้มีอันนี้อีก
ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญให้เร็วสามารถใช้รัฐธรรมนูญฉบับไหนมาเป็นตัวตั้งได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าหยิบฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาเลย 7 วันยังสามารถร่างให้เสร็จได้ แต่จะตอบโจทย์อื่นไม่ได้ ถ้าหยิบรัฐธรรมนูญปี 2550 ขึ้นมาแล้วจะยึดอำนาจทำไม ส่วนฉบับปี 2540 ขนาดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างฯ ที่เป็นเลขานุการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ยังไม่หยิบมาใช้ หาก กรธ.จะไปยกขึ้นมาจะอธิบายกับสังคมได้อย่างไร ดังนั้น ควรหยิบบางส่วนของปี 2540 หรือ 2550 และร่างของปี 2558 ที่แก้ปัญหาบางอย่างไป ซึ่งเป็นความเห็นส่วนตัวที่จะทำให้เร็วขึ้นได้และออกมาดูดีด้วย
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำหรับรายชื่อ กรธ.คนที่จัดการตัวจริงคือนายกรัฐมนตรี จนวันนี้ตนยังไม่รู้เลย แม้แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมก็ไม่รู้ แต่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีคงดูอยู่ อาจมีการปรึกษาหรือถามบ้าง
อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็น กรธ.นั้น ต้องมีสารพัด “นัก” คือ นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ ซึ่งนักรัฐศาสตร์ดูจำเป็นกว่านักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ นักพัฒนาสังคม ที่เข้าใจสภาพสังคมไทยอย่างแท้จริง นักประวัติศาสตร์ นักการต่างประเทศ หากเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศยิ่งดี จะได้ช่วยมาทำมาตราที่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เพราะมีความจำเป็น หากไปดูโครงสร้าง 36 กมธ.ยกร่างฯ เขาพยายามหามาอย่างดี แต่ดีเกินไปเลยไม่รอด ส่วนที่ประธาน สนช.ระบุอยากได้นักกฎหมายรุ่นใหม่ๆ เข้ามาเข้าใจว่าท่านน่าจะหมายถึงวัยมากกว่า เพราะส่วนใหญ่จะนึกถึงคนอายุ 64 ปีไปแล้วทั้งนั้น ถ้าเอาใหม่ๆ ต้องเก่งหน่อย แต่เมื่อใหม่คนจะไม่ยอมรับและไม่รู้จัก
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช.มีอยู่ในใจด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่กล้านึก เพราะนายมีชัยเคยบอกกับตนในช่วงทำรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ท่านพูดทีเล่นทีจริงว่าให้ช่วยเขียนสเปก กรธ.ไม่ให้เข้าตัวท่าน แต่ตนรอดไปแล้วเพราะเขียนสเปกต้องไม่เป็นรัฐมนตรี ส่วน พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ ที่มีชื่อออกมานั้น ไม่กล้าพูด กลัวเป็นการชี้นำ แต่เป็นคนเก่ง เพราะเคยทำกฎหมายกับท่านในบางเรื่อง ทั้งนี้ เท่าที่ฟังดูในการประชุม คสช.กับ ครม.วันที่ 22 ก.ย.จะได้ชื่อ กรธ. แต่ยังไม่ประกาศเพราะวันที่ 23 ก.ย.นายกรัฐมนตรีไปต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีบอกว่าช่วงนั้นเมื่อได้รายชื่อแล้วต้องถามเจ้าตัวยอมหรือไม่ หรือเขาขอเวลาคิด และระหว่างนั้นเปลี่ยนแปลงได้หากใครถอนตัว จากนั้นรอให้นายกรัฐมนตรี กลับมาเซ็นแล้วประกาศ โดยการประกาศรายชื่อต้องทำเร็วกว่าวันที่ 6 ต.ค.