xs
xsm
sm
md
lg

อังก์ถัดหนุน วท.ใช้นวัตกรรมเคลื่อน ศก.ลดทับซ้อน “ศุภชัย” แนะตามรอยชาติรายได้สูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อังก์ถัดหนุน วท.ไทยใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แนะปรับระบบบริหารจัดการลดทับซ้อนเพื่อความคล่องตัว เสนอปฏิรูประบบการศึกษาอาชีวะเน้นเชื่อมโยงธุรกิจแบบเข้มข้น “ดร.ซุป” ฟันธงประเทศไทยจะไปต่อ สังคมต้องรับรู้จุดเปลี่ยนโลกสู่เทรนด์นวัตกรรมทัดเทียมประเทศรายได้สูง

วันนี้ (14 ก.ย.) ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น จัดประชุมเผยแพร่และขยายผลรายงานการศึกษาทบทวนนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศไทย โดยที่ประชุมเสนอแนะให้ประเทศไทยมุ่งส่งเสริมธุรกิจ startup ปฏิรูปอาชีวศึกษา ปรับระบบบริหารจัดการ วทน. เดินหน้านำองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่ภาคการเกษตร

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การประชุมแถลงผลการทบทวนนโยบาย วทน. จากมุมมองของอังก์ถัดในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความตระหนักให้สังคมเห็นความสำคัญของการนำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนประเทศซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสนับสนุนการใช้นวัตกรรมในประเทศ ผลักดันจากระบบบริหารจัดการ วทน. พร้อมกับการการใช้นวัตกรรมในภาคเอกชน ณ ตอนนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับการจัดกลุ่มเป็นกระทรวงเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อการใช้นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ดร.พิเชฐกล่าวว่า ในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เดินหน้าขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่ภาคเศรษฐกิจและสังคมในหลายเรื่อง เช่น การจัดทำมาตรการและส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาด้าน วทน. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน เช่น โครงการคูปองนวัตกรรม การส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในภาคอุตสาหกรรม มาตรการลดหน่อยภาษีด้านการวิจัยและพัฒนาจาก 200% เป็น 300% การจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐานและคุณภาพของประเทศ เรียกว่า MSTQ ที่เกี่ยวกับระบบมาตรวิทยา มาตรฐาน การทดสอบและการประกันคุณภาพ โครงการทาเล้นท์โมบิลิตี้ที่ส่งนักวิจัยภาครัฐเข้าไปทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน รวมถึงการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เช่น การจัดให้มีที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ประจำจังหวัดให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีในท้องถิ่น การพัฒนาโมเดลบริหารจัดการน้ำชุมชน การสร้างแก้มลิง การจัดสรรที่ดินแบบเศรษฐกิจพอเพียงโดยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม และการเชื่อมโยงความร่วมมือด้าน วทน.กับต่างประเทศ เช่น ความร่วมมือด้านไอทีกับเกาหลีใต้ ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีชีวภาพกับประเทศบราซิล เป็นต้น

ดร.ญาดา มุกดาพิทักษ์ รองเลขาธิการ ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการ สวทน.กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงสถานภาพ วทน.ของประเทศได้อย่างตรงไปตรงมา มีการวิเคราะห์ รวบรวมความคิดเห็นในวงกว้างทุกภาคส่วน มีความโปร่งใสและชัดเจนเป็นรายงานฉบับที่สมบูรณ์สามารถนำมาปรับใช้จริงได้ในทางปฏิบัติ

ด้าน Ms. Marta Perez Cuso จากอังค์ถัด กล่าวว่า อังค์ถัดได้จัดทำการทบทวนนโยบายในหลายประเทศ สามารถจัดลำดับความสำคัญในขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยมีข้อเสนอแนะสำคัญสำหรับประเทศไทย หลายประการ คือ 1. การปรับระบบบริหารจัดการ วทน. ลดความทับซ้อนในการทำงานของหน่วยงาน แบ่งบทบาทความรับผิดชอบในงานให้ชัดเจน กระจายนโยบายและโครงสร้างพิ้นฐานสู่ระดับภูมิภาค 2. การส่งเสริมนวัตกรรมในภาคเอกชน โดยสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็ง บริหารเงินอุดหนุนโครงการวิจัยและพัฒนา ปรับกฎหมายสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและแรงจูงใจต่างๆ ให้ภาคเอกชน 3. ยกระดับระบบการศึกษา โดยเฉพาะอาชีวศึกษา เน้นการจัดฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานด้านเทคนิค การเพิ่มความสามารถครู อาจารย์ และพัฒนาวิธีการเรียนการสอนให้เชื่อมโยงภาคการศึกษากับภาคธุรกิจ 4. พัฒนาระบบนวัตกรรมด้านการเกษตร โดยเฉพาะการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นตัวแทนประชากรกลุ่มใหญ่ ซึ่งรัฐต้องเพิ่มการสนับสนุนองค์ความรู้และนวัตกรรมให้กระจายไปตามภูมิภาค

ขณะที่ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการอังก์ถัด ให้ความเห็นว่า เรื่องเร่งด่วนของการพัฒนา วทน.ในประเทศไทย คือ การสร้างความตระหนักต่อสังคมให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงจากการพึ่งพาเงินสนับสนุนจากรัฐบาล หรือพึ่งพาตัวเลขการส่งออกและการใช้แรงงานราคาถูก มาเน้นการสร้างสังคมฐานความรู้และการใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างผลิตภาพเหมือนประเทศรายได้สูงหลายประเทศ



กำลังโหลดความคิดเห็น