ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาฯ 35 ขอบคุณรัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาม็อบปี 56 - 57 ศพละ 4 แสน แม้จะน้อยกว่าก่อนหน้านี้ พร้อมแนะเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เปลี่ยนปรับทัศนคติเป็นการยื่นไมตรี และตรงไปตรงมาแบบทหาร พร้อมแนะตั้งคณะกรรมการอิสระ สร้างความปรองดองและสามัคคี
วันนี้ (13 ก.ย.) นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาฯ 35 กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ ว่า ขอชื่นชมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ร่วมมือกันระงับยับยั้งความขัดแย้งใหม่จากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย หวังว่า หลังจากนี้ คสช. จะแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จากบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และปฏิรูปประเทศให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง โดยนำส่วนที่ดี และมีประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ ของร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปมาปรับใช้ และตัดส่วนที่ไม่ได้รับการยอมรับออกไป เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาฯ 35 กล่าวว่า กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการในการเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ปี 2556 - 2557 เป็นการกระทำที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ถือเป็นการส่งสัญญาณและเริ่มต้นการปรองดองที่เป็นรูปธรรม แม้จะเยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 4 แสนบาท แตกต่างจากผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นซึ่งได้รายละ 7.5 ล้านบาท หวังว่าต่อไปจะทำให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน
“ยามนี้ประเทศชาติกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากในและต่างประเทศ รัฐบาลจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงจะนำพาประเทศฝ่าวิกฤตไปได้ ดังนั้น ควรเปิดกว้างรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายให้มาก หัวหน้า คสช. จะคิดแบบทหารที่ทุกคนต้องคิดเหมือนกันหมดคงไม่เหมาะสม ท่านต้องใจใหญ่ ถ้าใครแสดงความเห็นแตกต่างไม่ควรเรียกไปปรับทัศนคติ แต่ควรเชิญมากินกาแฟที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อท่านยื่นไมตรีให้เขา ท่านก็จะได้รับเกียรติจากเขาเช่นกัน และไม่ควรใช้วิธี ลับ ลวง พราง แต่ควรตรงไปตรงมาแบบชายชาติทหาร เชื่อว่า จะทำให้บรรยากาศความรักสามัคคีบังเกิดขึ้นได้” นายอดุลย์ กล่าว
นายอดุลย์ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้สื่อชัดเจนถึงความสามัคคีปรองดอง โดยได้ยกตัวอย่างเรื่องเบ้งเฮ็ก - ขงเบ้ง ในฐานะที่ท่านยอมเสียสละชีวิตเข้ามาเป็นคนกลางแก้ความขัดแย้งและจัดระเบียบประเทศ จึงขอเสนอว่า ควรพิจารณาตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสร้างความปรองดองและสามัคคีของประชาสังคมไทย โดยนำแนวทางของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ทีมี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ไปพิจารณา ซึ่งได้ทำการศึกษาและนำเสนอแนวทางไว้อย่างรอบด้านแล้ว ด้วยการนิรโทษผู้ชุมนุมหรือนิรโทษต้นซอยก่อน เพราะตราบใดที่สังคมไทยยังปรองดองกันไม่ได้ การปฏิรูปประเทศก็ไม่มีวันสำเร็จ แต่หากปรองดองกันได้ทุกฝ่ายก็จะร่วมมือปฏิรูปประเทศไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่เดินคนละทางแบบทุกวันนี้ และสุดท้ายก็ล้มเหลวอย่างที่ผ่านมา