เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมคณบดีนิติศาสตร์ ม.หอการค้า จี้รัฐยุติอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง ชี้มติ ครม.สมัย “ทักษิณ-สุรยุทธ์” แก้ไขบันทึกข้อตกลงสัมปทานโทลล์เวย์มิชอบด้วยกฏหมาย พร้อมเร่งเรียกเงินคืนจากเอกชนขึ้นค่าทางด่วนรวม 5 ปี 4,121 ล้าน และให้ใช้อัตราค่าผ่านทางเดิม
วันนี้ (9 ก.ย.) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วยนายสุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายชัยรัตน์ แสงอรุณ ทนายความและกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าวเรียกร้องรัฐบาลยุติการอุทธรรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง กรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่ามติ ครม.สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2549 และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2550 ที่มีการแก้ไขบันทึกข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสัมปทานไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทางมูลนิธิฯ จึงเรียกร้องรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่อุทธรณ์ในคดีดัวกล่าวที่จะครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 17 กันยายนนี้ และเร่งดำเนินการเรียกเงินคืนจากบริษัทเอกชน ที่สร้างภาระเกินสมควรและไม่เหมาะสมให้กับผู้บริโภค กรณีการขึ้นค่าทางด่วนโทลล์เวย์ โดยขอให้เรียกเงินคืนจากบริษัท จากวันที่มีการฟ้องร้องเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ปี 2553 เป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ที่มีการขึ้นค่าทางด่วนโทลล์เวย์ คิดเป็นมูลค่า 4,121,056,540.00 บาท พร้อมกันนี้ขอให้บริษัทกลับมาใช้อัตราค่าทางด่วนในราคาเดิม
นายสุธรรมกล่าวว่า คำพิพากษากรณีนี้มีความชัดเจนว่าสัญญาสัมปทาน เป็นสัญญาทางปกครอง หากมีการแก้ไขเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของสัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขึ้นค่าผ่านทาง ย่อมถือเป็นคำสั่งทางปกครองซึ่งต้องนำมาใช้บังคับ และไม่สามารถเขียนข้อสัญญาจำกัดอำนาจรัฐ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาใช้ดุลพินิจทางปกครอง จะจำกัดสัญญาไม่ได้ มิฉะนั้นจะเป็นการเอื้อประโยชน์อันไม่ชอบให้กับเอกชน
นายชัยรัตน์กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลในครั้งนี้ ถือเป็นตัวอย่างคดีที่สำคัญของรัฐกับความล้มเหลวในการทำสัญญาร่วมกับเอกชนที่ไม่โปร่งใส ยอมยกผลประโยชน์ของรัฐให้กับเอกชนในทุกๆด้าน สร้างภาระให้ประชาชนและผู้บริโภค ซึ่งคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้บริหารระดับสูง ที่กระทำการแล้วเอื้อประโยชน์เอกชน ย่อมมีความผิดในการทำหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสามารถร้องต่อ ป.ป.ช.ได้
น.ส.สารีกล่าวว่า คดีนี้ศาลปกครองวินิจฉัยชัดเจนว่า สิทธิของผู้บริโภค ย่อมได้รับการคุ้มครอง ตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมูญ 2550 จากกรณีเก็บค่าผ่านทางที่ไม่เป็นธรรม มติคณะรัฐมนตรีที่แก้ไขสัญญาสัมปทานทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ครั้งที่ 2 ในปี 2539 ที่รวมเอาสัญญาสัมปทานเดิม ตอนดินแดง-ดอนเมือง รวมส่วนต่อขยาย ดอนเมือง-หน้ากองทัพอากาศ โดยปรับราคาขึ้นและขยายอายุสัญญาสัมปทานเอกชนเพิ่มอีก 27 ปี และครั้งที่ 3 ในปี 2550 ที่ขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 27 ปี เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนเพียงฝ่ายเดียว และครั้งสุดท้ายที่ยอมยกอำนาจของรัฐให้เอกชน ทั้งในส่วนของการขึ้นราคาโดยไม่ต้องขอนุญาต
ทั้งนี้ ทางมูลนิธิฯ จะทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อให้เกิดบรรทัดฐาน และรัฐบาลควรดำเนินการให้บริษัท คิดราคาค่าทางด่วนตามราคาเดิมที่มีการแก้ไขสัญญา