โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย นายกฯ กำชับหลังโหวตคว่ำ ยืดอายุรัฐบาลไม่ใช่สบาย เร่งทุกฝ่ายทำผลงานให้ปรากฏ “วิษณุ” แจงปฏิทิน ขั้นตอนเวลายกร่างฯ - เลือกตั้ง ลากยาว ก.ค. 60 เผยนายกฯ ห่วงทรัพยากรลด เน้นกระทรวงกำหนดงานให้ชัดเจน พร้อมกังวลปริมาณน้ำภาคเกษตรกรรม อีกด้านอนุมัติแผนปฏิบัติการงาช้างฉบับแก้ไข เคาะโยกย้าย ขรก. หลายกระทรวง “พงศ์ภาณุ” ข้ามห้วยนั่งปลัดท่องเที่ยว ก.เกษตรฯ สลับเก้าอี้ 14 ตำแหน่ง แต่ยังไร้ชื่อปลัดกระทรวง
วันนี้ (8 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. กรณีที่สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า คงต้องวิเคราะห์ว่าการที่ สปช. ไม่เห็นชอบมาจากเรื่องใดบ้าง ซึ่งก่อนหน้านั้น กระแสเรื่องของการให้โหวตคว่ำในช่วงของการทำประชามติ หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ สปช. เห็นว่าหากจะทำอย่างนั้นก็ไม่ต้องไปลงประชามติแล้วคว่ำก็จะเสียเงินอีก 3,000 กว่าล้านบาท
นอกจากนั้น จะแสดงให้เห็นถึงความไม่ปรองดอง เพราะในกลุ่ม สปช. 250 คน ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว แต่เมื่อผลออกมาแบบนี้รัฐบาลจะมีเวลาในการทำงานมากขึ้น จากผลที่ร่างไม่ผ่าน สปช. แต่ไม่ได้หมายความว่าดีใจ เพราะเวลาที่ขยายออกไปจะต้องใช้อย่างคุ้มค่า ในการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรม ต้องทำงานให้หนักขึ้น เพื่อให้มีผลงานปรากฏให้เห็นชัดเจนเร็วขึ้นและมากขึ้น เวลาที่มากขึ้นไม่ได้หมายความว่าจะทำได้ตามสบาย
อย่างไรก็ตาม นายกฯ กำชับให้ทุกฝ่ายทำงานตามยุทธศาสตร์ใช้เวลา 6 เดือนในระหว่างการยกร่างฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ควรใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ ลงประชามติ ทำกฎหมายลูก และหาเสียงยาวนานจนเกินไป
“สำหรับเสียงวิจารณ์ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ นายกฯ ชี้แจงให้ที่ประชุมรับฟัง และอยากให้ดูว่าที่มาบอกว่าทหารมีส่วนสำคัญในการลงมติ ให้กลับไปดูว่าทหารมีกี่คน และจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าทหารจำนวนแค่นั้นจะโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญได้ ต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย ทั้งกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่ออกมาเชิญชวนคว่ำร่าง การเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน ที่เห็นว่ารูปแบบของร่างฉบับนี้ยังไม่ตรงใจ และที่สำคัญ คือ การเชิญชวนให้คว่ำในขั้นตอนการทำประชามติ อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง นายกฯ ระบุว่าการตั้งกรรมการร่างฯ ที่ต้องทำภายในวันที่ 5 ต.ค. หากทำได้ก่อนที่จะเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติระหว่างวันที่ 23 ก.ค.- 2 ต.ค. ถ้าเสร็จก่อนก็จะออกมาก่อนที่เดินทาง” พล.ต.วีรชน กล่าว
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงในที่ประชุมถึงลำดับขั้นตอนและปฏิทินของการร่างรัฐธรรมนูญว่า เริ่มต้นในเดือน ก.ย.- ต.ค. 58 จะตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จากนั้นเดือน ต.ค. 59 - เม.ย. 59 อยู่ในช่วงของการยกร่างรัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน ต่อมาเดือน เม.ย.- ส.ค. 59 เป็นขั้นตอนของการจัดทำประชามติและประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือน ก.ย. 59 และในเดือน ก.ย. - ต.ค. 59 เป็นช่วงของการยกร่างกฎหมายลูกภายใน 2 เดือน ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นเรื่องที่ยาก จากนั้นเมื่อส่งให้ สนช. ผ่านร่างกฎหมายลูกภายใน 3 เดือน และในเดือน ก.พ. 60 ส่งกฎหมายลูกให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบภายใน 1 เดือน โดยขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จำเป็น ต้องส่งให้ตรวจสอบเนื่องจากจะมีการตั้งคำถามว่ากฎหมายที่ออกมามีความถูกต้องชอบธรรมอย่างไร และต่อมาในเดือน มี.ค. 60 จึงเริ่มประกาศใช้กฎหมายลูกและเริ่มรณรงค์หาเสียงได้ จากนั้น มี.ค.- มิ.ย. 60 มีการเลือกตั้ง จากนั้นจะตั้งรัฐบาลใหม่ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน คือ ก.ค. 60
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากในขั้นตอนของการลงประชามติในร่างใหม่จะมีแนวทางอย่างไรต่อไปในร่างฉบับใหม่ พล.ต.วีรชน กล่าวว่า รัฐบาลยังมองภาพบวกอยู่ว่าผ่าน ยังมองโลกในแง่ดีอยู่โดยจะดำเนินการเพื่อสร้างการยอมรับโดยนำบทเรียนของการยกร่างครั้งที่ผ่านมาว่าถ้าไม่ผ่านแล้วจะทำอย่างไร
พล.ต.วีรชน กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ได้แสดงความเป็นห่วงถึงเรื่องการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จากวันนี้ถึงวันข้างหน้าอย่างคุ้มค่าและให้แต่ละกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานได้กำหนดกิจเฉพาะของตนเอง เอางานและภารกิจเป็นตัวนำและให้ระบุหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างขัดเจนว่าหน่วยงานไหนเกี่ยวข้องเรื่องใดบ้าง เน้นย้ำว่าต้องมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด และนายกฯ ยังมีการสั่งการเพิ่มเติมผลจากการไปดูงาน ตรวจเยี่ยมโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ผ่านมา ได้มีการเน้นย้ำว่าแต่ละกระทรวง ทบวง กรม จะต้องมีการพิจารณาอะไรเพิ่มเติม ก็ให้มีการสั่งการเพิ่มเติมไปเลย
นอกจากนั้น ยังมีความห่วงกังวลเรื่องของที่อยู่อาศัย ที่รัฐมนตรีเคยได้พูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรที่จะยกระดับหรือเอาคนที่อยู่ตามชุมชนต่าง ๆ ให้ไปอยู่บนตึกให้ได้ นายกฯ ก็ได้ย้ำว่ากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้มีการหารือกับทางภาคเอกชน โดยที่ทางภาคเอกชนก็ได้มีความพร้อมที่จะประชุมกับทางรัฐบาลเพื่อดำเนินการช่วยเหลือประชาชนให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และเพื่อเป็นความมั่นคงในชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น
พล.ต.วีระชน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงการลงทุนของโครงการต่าง ๆ อาทิ อัญมณี สิ่งทอ เครื่องหนัง ว่า จะมีวิธีการยกระดับสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของสากลได้อย่างไร โดยให้แต่ละหน่วยงานไปคิดว่าการที่จะทำสินค้าให้เป็นพรีเมี่ยมต้องมีการนำเข้าวัสดุต้นทุนบางอย่างที่มาจากต่างประเทศมากน้อยหรือไม่ เพื่อการแข่งขันกับต่างประเทศได้ และจะมีทางที่ส่งเสริมทั้งมาตรการที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดคุยเรื่องการทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องที่สำคัญ เช่น เรื่องน้ำ ว่าในปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันจะใช้เป็นน้ำใช้ได้อย่างไร และน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนจำนวนและสัดส่วนเท่าไหร่ ก็เป็นที่น่าเป็นห่วงว่ามีน้ำปริมาณที่น่ากังวล เพราะปัจจุบันเราก็มาอยู่ในช่วงปลายฤดูฝน นายกฯก็ได้ให้โครงการต่างที่ได้มีการอนุมัติไปแล้ว เช่น โครงการเก็บกักน้ำต่าง ๆ ให้เร่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมอย่างเร็วที่สุด และทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างยิ่ง คือ ภาคเกษตรกรรม และให้เรียนรู้ที่จะปรับตัวพร้อมเปลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกรรมที่ใช้น้ำมากให้เป็นการใช้น้ำน้อย รวมทั้งให้ศึกษาโครงการต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเรียนรู้ และทำวิจัยอย่างแท้จริงเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้ได้
นอกจากนั้น ยังมีการพูดคุยเรื่องการเก็บกักจากแม่น้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำสายหลักทั้งแม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวิน ว่า เราจะมีพื้นที่เก็บกักน้ำได้อย่างไร เช่นมีการหาพื้นที่ทำเป็นแม่น้ำทะเลสาบ และได้ทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องของการลดส่วนสินค้าภาคเกษตรต่าง ๆ ที่จะสามารถให้เหมาะสมกับปริมาณของน้ำในปัจจุบัน
พล.ต.วีรชน แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในส่วนของการรับทราบรายงานความคืบหน้าตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทยฉบับแก้ไข ว่า ครม. มีมติอนุมัติรายงานฉบับดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญของความก้าวหน้าแผนปฏิบัติการงาช้างของประเทศไทย ประกอบด้วย การออกระเบียบและกฎหมาย ภายหลังได้ออกกฎหมายหลัก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2557 และพ.ร.บ. งาช้าง ปี 2558 ต่อมาได้มีการออกกฎหมายรอง 22 ฉบับ นอกจากนั้น ได้มีการจัดทำระบบทะเบียนข้อมูล 3 ระบบ ได้แก่ 1. ทะเบียนครอบครองงาช้างบ้านและงาช้างแอฟริกา โดยมีผู้ครอบครองงาช้างบ้าน 30,727 ราย ผู้ครอบครองงาช้างแอฟริกาที่ถูกกฎหมาย 54 ราย 2. ระบบทะเบียนข้อมูลผู้ค้างาช้าง รายงานสินค้างาช้าง โดยมีผู้ค้างาช้างอยู่ในทะเบียนแล้ว 247 ราย และ 3. ระบบทะเบียนงาช้างของกลางที่อยู่ในการดูแลของกรมศุลกากร กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืชจำนวน 17,234.5 กก.
สำหรับความคืบหน้าในการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมาย แบ่งเป็น 3 เรื่อง คือ 1. การกำกับดูแลผู้ค้างาช้างบ้านให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเพิ่มจำนวนสายตรวจร้านที่ขายงาช้างจาก 22 สาย เป็น 79 สาย ซึ่งได้ออกปฏิบัติการในพื้นที่เป้าหมาย 8 พื้นที่ เฉลี่ย 3 - 4 ครั้ง ต่อสาย/เดือน พื้นที่เฝ้าระวัง 2 ครั้ง ต่อสาย/เดือน โดยได้จับกุมผู้กระทำผิดจำนวน 4 คดี 2. การจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยมีการจับกุมผู้กระทำผิดตั้งแต่เดือน เม.ย.- ก.ย. จำนวน 5 คดี เป็นคดีรายใหญ่ที่มีน้ำหนักเกิน 500 กก. จำนวน 2 คดี และมีการทำลายงาช้างของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้วจำนวน 155 กก. 3. การประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้มีการประชาสัมพันธ์ให้เหมาะสมกับ 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ผู้ประกอบการชาวต่างชาติ และประชาชน ซึ่งได้มีการติดตามประเมินผลจากคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้น
นอกจากนี้ ประชุม ครม. ได้อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหลายตำแหน่ง ดังนี้
กระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 5 ราย ได้แก่ 1. นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 2. นายธวัช ผลความดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 3. นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย 4. นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นรองปลัดกระทรวง และ 5. นายศักดา พันธ์กล้า ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นรองปลัดกระทรวง
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 5 ราย ได้แก่ 1. นายพงศ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็น ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวกีฬา 2. น.ส.วรรณสิริ โมรากุล รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว เป็นรองปลัดกระทรวง 3. นางธิดา จงก้องเกียรติ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง 4. นายพรหมโชติ ไตรเวช รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง และ 5. นายกิตติพงษ์ โพธิมู รองอธิบดีกรมพลศึกษา เป็นอธิบดีกรมพลศึกษา
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน 14 ราย ได้แก่ 1. นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นรองปลัดกระทรวง 2. นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นรองปลัดกระทรวง 3. นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ ผู้ตรวจราชการ เป็นรองปลัดกระทรวง 4. นายโอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นรองปลัดกระทรวง 5. นายสุรพงษ์ เจียสกุล ผู้ ตรวจราชการเป็นเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 6. นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเป็นอธิบดีกรมประมง 7. นายสมชาย ชาญณรงค์กุล รองปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร 8. นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรมหม่อนไหม 9. นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ 10. นายวิณะโรจน์ ทรัยพ์ส่งสุข อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นอธิบดีกรมส่งเสริ มสหกรณ์ 11. นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นอธิบดีกรมการข้าว 12. นายเลอศักดิ์ ลิ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร 13. น.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน ผู้ ตรวจราชการกระทรวง เป็นเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และ 14. นายสุรเดช เตียวตระกูล ผู้ ตรวจราชการกระทรวงเป็นอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน
กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 10 ราย ได้แก่ 1. นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา 2. นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 3. นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน 4. นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส 5. นายสมชาติ สร้อยทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นรองปลัดกระทรวง 6. น.ส.ศิรินารถ ใจมั่น รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ 7. น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง 8. นายวิชัย โภชนกิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง 9. น.ส.อรุณี พูลแก้ว รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง และ 10. นายอิทธิพงศ์ คุณากรบดินทร์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง
กระทรวงยุติธรรม จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1. พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นอธิบดีกรมคุมประพฤติ 2. นางกรรณิการ์ แสงทอง อธิบดีกรมคุมประพฤติ เป็นอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 3. นายวีระยุทธ สุขเจริญ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง และ 4. นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1. นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นเลขาธิการการสภาการศึกษา 2. นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3. นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นรองปลัดกระทรวง 4. นายสุภัทร จำปาทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นรองปลัดกระทรวง 5. นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
6. นายสุรพงษ์ จำจด ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 7. นายวีระกุล อรัณยะนาค รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง และ 8. นายขจร จิตสุขุมมงคล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง นอกจากนี้ ยังอนุมติต่อเวลาการดำรงตำแหน่ง นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา อีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 58 - 20 ต.ค. 59