xs
xsm
sm
md
lg

วปอ.รุ่น 57 แถลงยุทธศาสตร์ชาติให้ นายกฯ และ ครม.ฟัง ดัน 5 ปฏิรูป หนุนใช้งานวิจัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกฯ นำ ครม. ฟังนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 57 แถลงยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูปสังคม, เศรษฐกิจ, พลังงาน, จัดการทรัพยากรธรรมชาติ, ความมั่นคงภายใน และส่งเสริมงานวิจัยไปใช้ เพื่อการพัฒนาความมั่นคงภายใน ความมั่งคั่งทาง ศก. และความยั่งยืน

วันนี้ (3 ก.ย.) ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อเวลา 14.00 น. สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย โดยคณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 57 (นศ.วปอ.57) ได้ร่วมกันจัดงานแถลงยุทธศาสตร์ชาติ - ยุทธศาสตร์ทหาร ประจำปีการศึกษา 2557 - 2558 โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงงาน หม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เข้าร่วมงาน

การแถลงยุทธศาสตร์ เป็นผลงานของผู้ที่เข้ารับการศึกษา ในสถาบันการศึกษาระดับสูงของกองทัพ โดยนำประเด็นสำคัญด้านความมั่นคง ที่เกิดขึ้นในสภาวะแวดล้อมปัจจุบัน มาร่วมกันจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ชาติ และส่งต่อศูนย์ยุทธศาสตร์ทหาร ซึ่งการจัดทำยุทธศาสตร์ระดับชาติ เป็นการศึกษาในภาพรวมด้านความมั่นคงทุกมิติ เริ่มจากการนำเป้าหมายของชาติคือผลประโยชน์แห่งชาติ วัตถุประสงค์แห่งชาติมาพิจารณา โดยคำนึงถึงสภาวะแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อกำหนดเป็นแผนงานและโครงการต่าง ๆ ที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์แห่งชาติ

นักศึกษาวิทยาลัยเสนาธิการทหาร และนักศึกษาวิทยาลัยการทัพ จัดทำยุทธศาสตร์ทหาร โดยนำผลประโยชน์แห่งชาติและนโยบาย ความมั่นคงแห่งชาติด้านการป้องกันประเทศ มาพัฒนาจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ทหารที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

สำหรับยุทธศาสตร์ชาติในปี 2559 - 2563 นักศึกษา วปอ. 57 ที่ได้จัดทำขึ้น เกี่ยวข้องด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ พลังงาน สิ่งแวดล้อม นำมาสู่ผลประโยชน์ชาติ คือ ทั้งการบริหาร ของ คสช. และ การปฏิรูป เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศและให้ต่อเนื่องจากรุ่นก่อน ๆ กำหนดวัตถุประสงค์เป้าหมายของชาติในอีก 20 ปีข้างหน้า มาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ภายใน 5 ปีที่ต้องการให้ประเทศไทย ก้าวสู่สังคมแห่งความสุข เศรษฐกิจเชิงรุกที่เข้มแข็ง ประเทศไทยมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน

ประกอบด้วย 6 ประเด็นสำคัญ คือ
1. การปฏิรูปและสร้างสังคมให้มีความสุขอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน 2. การปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้ดำเนินการแบบเชิงรุกสร้างความมั่นคงมั่งคั่งให้กับชาติและประชาชน 3. การปฏิรูประบบบริหารจัดการด้านพลังงาน ทั้งเรื่องการจัดหาการอนุรักษ์และการใช้พลังงานให้มั่นคง และยั่งยืน 4. การปฏิรูประบบบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนคืนความสมดุลสู่ธรรมชาติ 5. การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาไปใน ใช้ในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและบริการ 6. การปฏิรูปงานบริหารจัดการความมั่นคงภายในประเทศ

ทั้งนี้ 6 ประเด็นสำคัญมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาใน 3 ด้าน คือ 1. ด้านความมั่นคงได้กำหนดยุทธศาสตร์หลัก คือ การบริหารจัดการความมั่นคงภายในประเทศและกิจการชายแดน ความร่วมมือด้านความมั่นคงในอาเซียน โดยการตั้งเป็นกระทรวงความมั่นคงภายในและชายแดน ลดความซ้ำซ้อนงบประมาณและเสริมสร้างการป้องกันด้านไซเบอร์ เปรียบเสมือนฐานรากเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ถูกทำลาย นอกจากนี้ ยังต้องมียุทธศาสตร์ความร่วมมือในอาเซียน ตั้งกองกำลัง ทางเรืออาเซียน ดูเรื่องภัยพิบัติ ภัยคุกคามทางทะเล 2. ด้านความมั่งคั่งได้กำหนดยุทธศาสตร์หลัก คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงรุกให้เข้มแข็งการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน รองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

3. ด้านความยั่งยืน ได้กำหนดยุทธศาสตร์หลัก คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การคืนสมดุลให้กับทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาระบบพื้นฐานการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและในส่วนของยุทธศาสตร์ทหารได้จัดทำแนวทางในการบริหารจัดการกำลังอำนาจทางทหารที่มุ่งตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติ ตลอดจนกำลังอำนาจแห่งชาติด้านอื่น ๆ โดยกำหนดคุณลักษณะสำคัญของกองทัพไทยในอนาคตว่าต้องเป็นกองทัพที่มีความน่าเชื่อถือ มีการตอบสนองที่ทันเวลาและเป็นกองทัพอเนกประสงค์ ทั้งนี้ การจัดทำและการแถลงยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ทหารจะเป็นข้อเสนอแนะทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในการเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติร่วมกัน เพื่อให้ประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดไป





กำลังโหลดความคิดเห็น