“คนเพื่อไทย” ยันต้องคว่ำร่าง รธน. “จาตุรนต์” ย้ำหากผู้คนไม่ยอมรับร่าง รธน.มากขึ้น คสช.จะเดือดร้อน จะทำให้บ้านเมืองเสียหายมากอย่างที่หลายฝ่ายคาดไม่ถึง “ปลอด” โผล่ตั้งฉายา “ร่างระเบิดเวลา” จ่อขัดแย้งหนัก “อำนวย-เหวง” ตั้งข้อสังเกตโรดแมปรัฐเหมือนถูก กปปส.ชี้นำ
วันนี้ (1 ก.ย.) มีรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงเหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า ฟังประเด็นทั้งชี้แจงและโต้แย้งเรื่องรัฐธรรมนูญแล้วยังไม่เข้าใจว่าผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งหลายกำลังคิดอะไร ใช้ตรรกะเหตุผลอะไรกันแน่ ในขณะที่ คสช.เองก็ออกมาห้ามคนชี้นำในทางค้าน บางคนบอกว่ารู้อยู่ว่า คปป.มีข้อเสีย แต่ไม่อยากพูด คงกลัวว่าพูดแล้วจะไปกันใหญ่ คนจะยิ่งไม่เอาด้วย พูดแบบนี้คนก็เลยยิ่งไม่เอาด้วย แล้วก็ออกมายอมรับว่าถ้า สปช.ผ่าน ถึงตอนลงประชามติจะขัดแย้งวุ่นวายไปใหญ่ พูดเหมือนอยากให้ สปช.คว่ำ บางคนเป็นห่วงว่าถ้าปล่อยให้ไปลงประชามติกัน ร่างนี้จะไม่ผ่านและจะเสียเงิน 3,000 ล้านบาทไปเปล่าๆ ทั้งยังเสียเวลา เสียแรงกันไปเปล่าๆ ด้วย อาจมองได้ว่าทั้งๆ ที่รู้ว่าประชามติจะไม่ผ่าน ยังจะดันทุรังไปลงประชามติกันทำไม ทำไมไม่คว่ำไปเสียในชั้น สปช. แต่ถึงผ่านก็เสียเงินเปล่าอยู่ดี ผ่านก็เสียเงินเปล่า เพราะการลงประชามติที่จะมีขึ้นจะห้ามรณรงค์ หรือแม้แต่แสดงความเห็นคัดค้าน จึงไม่ทราบว่าจะทำประชามติกันไปทำไม
“การลงประชามติจึงจะเป็นการสูญเปล่าทั้งขึ้นทั้งล่อง เว้นแต่ว่าจะเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ซึ่งไม่ใช่นโยบายของ คสช.” นายจาตุรนต์ระบุ
นายจาตุรนต์กล่าวว่า สุดท้ายก็เลยต้องถามใจ คสช.และผู้มีหน้าที่ทั้งหลายว่า ต้องการอะไรกันแน่ และถ้ารู้แล้วว่าต้องการอะไร ก็ขอให้กล้าๆ กันหน่อย ตัดสินใจไปเสียทางหนึ่ง ที่แน่ๆ คือร่างรัฐธรรมนูญนี้จะทำให้บ้านเมืองเสียหายมากอย่างที่หลายฝ่ายคาดไม่ถึง และเมื่อผู้คนไม่ยอมรับมากขึ้นๆ คสช.เองนั่นแหละจะเดือดร้อน
“จะคว่ำก็ขอให้คว่ำด้วยเหตุด้วยผล ถ้าผ่านก็ขอให้พร้อมจะรับผลที่จะตามมา โดยเฉพาะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายต่อประเทศชาติที่จะเกิดขึ้นตามมา ประชาชนเราไม่มีสิทธิไปยกมือในที่ประชุม สปช. จะจับมือใครให้ยกมือก็ไม่ได้ ถ้าพวกท่านผ่านกันไป เราก็ต้องไปค้านตอนลงประชามติ ไม่ค้านไม่ได้แน่”
ด้านนายปลอดประสพ สุรัสวดี แกนนำพรรคเพื่อไทย เขียนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงความคืบหน้าที่ตนเองได้เปิดให้มีการประกวดชื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า ขอขอบคุณแฟนเพจทั้งหลายที่มีผู้เสนอชื่อเข้ามาถึง 675 คน และมีชื่อไม่ซ้ำกันทั้ง 675 ชื่อ ไม่มีใครชอบร่างรัฐธรรมนูญนี้ หลายคนมองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ห่วยนี้ เพราะ 1. เป็นร่างที่อัปยศ มีเงื่อนงำ คิดหลอกลวง 2. เป็นเผด็จการ สืบทอดอำนาจ 3. เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและถอยหลังเข้าคลอง ชื่อที่เข้าตาตนอันดับแรก คือ 1. รัฐธรรมนูญฉบับระเบิดเวลา 2. ตบหัวประชาชน 3. อวยเผด็จการ 4. ทายาทอสูร 5. บอนไซ
“ระเบิดเวลาในทัศนะผม คือ เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ยอมรับ ซึ่งก็จะนำไปสู่ความขัดเเย้งและลงเอยด้วยการต่อสู้ที่อาจไม่มีใครควบคุมได้ กลุ่มนักวิชาการ จะออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้าน ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งแน่นอนที่สุดก็จะกระทบกับผู้มีอำนาจ สำหรับสื่อจำนวนไม่น้อย ก็คงจะวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ ผู้ถืออำนาจก็คงจะโมโหโกรธาอาละวาดหนักขึ้นไปอีก สำหรับรัฐบาลต่างประเทศ เขาก็คงจะประท้วงทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่คบค้ากับประเทศไทยเช่นเดิม เพราะเห็นว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เศรษฐกิจก็จะยิ่งแย่ไปกว่าทุกวันนี้” นายปลอดประสพกล่าว
นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันโหวตอยากให้ สปช.ดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญและมีจิตสำนึกด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรผ่านหรือไม่ควรผ่าน เพราะขณะนี้คนทั้งประเทศจับตาดูอยู่ หากโหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) มาปกครองประเทศซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย
ทั้งนี้ อดีตที่ผ่านมา กปปส.พูดไว้อย่างไร รัฐบาลชุดนี้ดำเนินการให้หมด ทำตามทุกอย่าง อยากให้ยึดแนวทางที่ถูกต้อง จะเอาตามแนวคิดของ กปปส.ไม่ได้ ส่วนเรื่องปรองดองขอให้จบในรัฐบาลนี้ หลังจากนี้หากมีการเลือกตั้งขอให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ที่มาตามระบอบประชาธิปไตย จะทำให้ คสช.ได้รับการยอมรับจากประชาชนมากยิ่งขึ้น ถึงวันนั้นหาก คสช.จะลงการเมือง ก็จะเป็นการลงการเมืองที่สง่างาม อย่านำเรื่องรัฐธรรมนูญมาเป็นประเด็นเพื่อสืบทอดอำนาจ
นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย แถลงข่าวโดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองแต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่า คสช.ได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า ทุกองค์กร ทุกบุคคล สามารถนั่งแถลงทางการเมืองได้อย่างเต็มที่เช่นกันและสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 36 มหาปราชญ์ได้อย่างเสมอภาคเช่นเดียวกันแต่หากมีการดำเนินการแบบสองมาตรฐาน คสช.ต้องรับผิดชอบต่อผลพวงที่เกิดขึ้นทุกประการ