รายงานการเมือง
เหมือนหวยล็อก หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำพิธีกรรมล้างป่าช้า ปลดปล่อย 248 อดีต ส.ส. ให้เป็นอิสระ กลับไปเล่นการเมืองได้ตามปกติ ไม่ถอดถอนตามสำนวนของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ชี้มูลว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. มิชอบ งานนี้ทำเอานักการเมือง โดยเฉพาะค่ายเพื่อไทย หายใจกันได้ทั่วท้องเสียที
เพราะยังพอมีอนาคตทางการเมืองอยู่ เฉกเช่นเดียว อดีต 38 ส.ว. ที่รอดคมดาบไปก่อนหน้านี้ในกรณีเดียวกัน ต้องบอกว่า เป็นหนังม้วนเดียวกันเป๊ะ
มองในแง่กฎหมาย การที่ 248 อดีต ส.ส. ไม่โดนถอนรากถอนโคน สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ถูกฉีกไปแล้ว จึงไม่มีกฎหมายมาอ้างอิงในการลงโทษ อีกทั้งข้อหาที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลเป็นข้อหาเดียวกับ 38 อดีต ส.ว. ที่รอดไปก่อนหน้า ดังนั้น หากปล่อย 38 อดีต ส.ว. เป็นอิสระ แต่กลับมาฟาดฟัน 248 อดีต ส.ส. จะเกิดคำถามตามมามากมายว่า สนช. ใช้บรรทัดฐานอะไรตัดสินใจ ความผิดเดียวกันแท้ ๆ แต่ปฏิบัติต่างกัน จะทำให้ถูกมองว่า เป็นการดำเนินการโดยอคติ จ้องล้างบางนักการเมืองฝ่ายเพื่อไทย
ถึงกระนั้นแน่นอนว่า ป.ป.ช. ในฐานะผู้กล่าวหา ก็ต้องยืนยันในจุดยืนตัวเองอยู่เหมือนเดิมว่า 248 อดีตส.ส. นั้นผิด เพราะตัวเองเป็นคนชี้มูลความผิดมา หากมากลับลำเอาในชั้น สนช. ว่า คนเหล่านี้ไม่ผิด อาจถูกคนนินทาหมาดูถูกได้ว่า การดำเนินการต่าง ๆ ที่ผ่านมา ใช้อคติในการดำเนินการล้วน ๆ แต่ถึงตอนนี้ก็หลีกหนีไม่พ้นเสียงก่นด่าอยู่ดี
ถ้ามองลึกเข้าไปอีกมิติ การปล่อยผียกกระบิของ สนช. ไม่ว่าจะเป็น 38 อดีต ส.ว. และ 248 อดีต ส.ส. เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการเดินของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ไม่ได้จะจองล้างจองผลาญชนิดให้ถอนรากถอนโคนนักการเมืองฝ่ายเพื่อไทย หรือแม้กระทั่ง อดีตพรรคร่วมรัฐบาล แต่ใช้ยุทธศาสตร์เด็ดเฉพาะหัวโจกเท่านั้น
จะเห็นได้ว่า มีเพียง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่คอขาดสะบั้นในกรณีละเว้นไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว จนก่อให้เกิดความเสียหาย และ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ หมดอนาคตทางการเมืองจากกรณีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
เพราะชั่ง ตวง วัด แล้ว เห็นว่า นักการเมืองเหล่านี้ยังเป็นเบี้ยในกระดานการเมืองที่สำคัญในอนาคต โดยเฉพาะหากวันหนึ่งข้างหน้าประเทศเดินถึงจุดที่จะต้องรอมชอม หรือเกี้ยเซียะกัน หรือฝ่ายกุมอำนาจในปัจจุบันต้องการจะสร้างทางเลือกใหม่ โดยการตั้งพรรคทหาร ที่จำเป็นจะต้องอาศัยนักการเมืองเข้ามาเป็นองค์ประกอบ ก็จำเป็นจะต้องดึง หรือดูดนักการเมืองเข้ามาร่วมทีม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเอง
ดูอย่างสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่มีการโยนหินถามทางออกมาจาก “อ.ปื๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ. ยกร่างฯ ที่ให้สอบถามประชาชนในการทำประชามติว่า ควรมีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติบริหารประเทศในช่วง 4 ปี หลังจากมีรัฐธรรมนูญก่อนหรือไม่ ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของฝ่ายอำนาจในปัจจุบันได้เป็นอย่างดีเหมือนกันว่า ยังมีความพยายามหาช่องต่อท่ออำนาจตัวเอง เพื่อสานต่อภารกิจบางอย่างให้เสร็จก่อน โดยเฉพาะเรื่องปฏิรูป และการวางระบบการเมืองใหม่
แลไปดูเนื้อหาการที่ร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ ส.ส. ต้องใช้เสียง 4 ใน 5 เพื่อตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ นั่นหมายถึง ส.ส. ของ 2 พรรคใหญ่ อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ จะต้องจูบปากกันเสียก่อน ชั่วโมงนี้ถ้าเลือกตั้ง 2 พรรคนี้เสียงเกินร้อยชัวร์ ไม่ถึงอมขี้หมามาบ้วนหน้าได้
ฉะนั้น ในทางปฏิบัติแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะเอาขมิ้นกับปูนมาผสมกัน เอาแค่เฉพาะเรื่องการเลือกนายกฯ ต่างฝ่ายต่างต้องการผลักดันคนของพรรคตัวเองขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาล คงไม่มีใครให้อีกฝ่ายมาถือธงนำแน่
เช่นนั้นแล้ว หนังม้วนนี้ก็กลับไปสู่เรื่อง “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” หรือคนนอก ที่ทั้งสองฝ่ายรับได้ แต่ทว่ามันก็ดูจะไปเข้าทางฝ่ายอำนาจในปัจจุบัน โดยเฉพาะ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ผู้มากบารมี และมากคอนเนกชันในรัฐบาลที่เข้าได้ทั้งสองฝ่าย เตะหมูเข้าปากหมา!!
หรือกรณี ร่างรัฐธรรมนูญที่ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ในมาตรา 260 ที่มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ แปลงกายมาจาก มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 จับยัดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกันเสียเลย แต่ในทางปฏิบัติคณะกรรมการชุดนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้ความเห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และประชาชนให้ความเห็นชอบในการทำประชามติ ตกม้าตายขั้นตอนไหน ถือว่าแท้งทันที เหมือนเป็นการวัดใจกันไปเลย
ส่วนฝ่ายผู้มีอำนาจ นั่งสะบัดเท้ายิ้มกรุ้มกริ่มโดย เฉพาะก่อนถึงวันโหวตรับ หรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 7 กันยายน ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ขณะนี้ เรื่องดังกล่าวได้กลายมาเป็นกระแสให้พรรคการเมือง จับมือกันออกมารุมกระทุ้ง ไม่ยอมรับกติกาฉบับนี้แบบถึงพริกถึงขิง จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมมากน้อยเพียงใด จะถึงขนาดว่า สปช. ส่วนใหญ่ทนแรงเสียดทานไม่ได้ ต้องยกมือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญทิ้งเสีย หรือไม่ อ้างว่าคนในประเทศไม่สามารถรับเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้
หากสุดท้ายปลายทาง ร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ อายุขัยของ คสช. ในการบริหารประเทศจะเพิ่มขึ้นมาอีกพอสมควร เป็นไปแบบอัตโนมัติ เพราะต้องไปยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วยังต้องไปลุ้นทำประชามติกันอีกรอบด้วย การเขียนสุดโต่งแบบนี้ จึงทำให้คนอดคิดไม่ได้ว่า เขียนขึ้นมาเพื่อจงใจให้ ร่างรัฐธรรมนูญแท้งในชั้น สปช. หรือไม่ แล้วถ้าเขียนใหม่ยังเป็นรูปแบบเดิม มิต้องต่ออำนาจลากกันยาวเปื๊อยงั้นหรือ?
แต่ถ้าเป็นกรณี สปช. โหวตผ่าน ก็จะกลายเป็นเกมวัดใจนักการเมืองที่กระเหี้ยนกระหือรือ อยากจะเลือกตั้งโดยเร็ว ไม่ต้องการให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. อยู่บริหารประเทศต่อ ว่าจะเอาอย่างไร ระหว่างกลืนเลือด รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ไปในการทำประชามติ พร้อมกับก้มหน้ายอมรับการบริหารประเทศ ในสภาพที่มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นทายาทอสูรกดทับไว้อีกชั้นข้างบน รัฐบาลใหม่จะมีอำนาจแค่ลูกเมียน้อย หรือจะเลือกเดินเกมสะท้านใจ รณรงค์ให้ประชาชนคว่ำกติกาเผด็จการฉบับนี้ พร้อมตีตั๋วต่อเวลาให้ คสช. อยู่บริหารต่อไปอีกพักใหญ่ ๆ
เลือกทางไหนก็เจ็บปวด ชีช้ำกะหล่ำปลี ยุคนี้เป็นยุคดวงนักการเมืองตกต่ำอย่างแท้จริง
แตกต่างกับฝ่ายอำนาจขณะนี้โดยสิ้นเชิง เพราะไม่ว่าสูตรไหน คสช.ก็ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ได้ต่อท่ออำนาจอยู่ดี เพียงแต่ว่ารูปแบบจะเป็นในลักษณะใดเท่านั้น จะโจ่งแจ้ง หรือซ่อนรูป จะเป็นรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ หรือเป็นรัฐบาลต่อ มีหลายทางเลือกให้เลือกสบาย ๆ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการถลกหนังผู้มีอำนาจได้เป็นอย่างดีว่า ความพยายามสืบทอดอำนาจนั้น เป็นเรื่องจริงไม่อิงนิยาย ไม่ใช่การกล่าวหาเลื่อนลอย หรือมโนกันไปเอง ตามที่ “บิ๊กตู่” ออกมาตวาดใส่สื่อทุกวัน ๆ เพียงแต่พยายามหาสูตรที่กลมกล่อมที่สุด แต่กระนั้น เมื่อเวลาเริ่มบีบ อะไร ๆ ต้องรีบ ก็เปิดหรากันมาแบบจะจะ ไม่ต้องเหนียม ไม่ต้องอายกันอีกต่อไป
อย่าลืมว่า ก่อนหน้านี้ มีการโยนหินถามทางกันมาตลอด ตั้งแต่การปูดชื่อ “บิ๊กโด่ง” พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และ ผบ.ทบ. ขึ้นมาเป็นนายกฯรัฐบาลแห่งชาติ หรือการตีปี๊บปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 2 ปี เป็นการโยนความต้องการตัวเองไปให้ประชาชนเลือกแบบมีตัวเลือก เพียงแต่แต่ละตัวเลือกเป็นสิ่งที่ตัวเองยัดเยียดให้ ที่ไม่ว่าเลือกทางใด ตัวเองก็ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง
แต่ระวังเถอะว่า ถ้าประชาชนเขาไม่เลือกทางไหนเลย แต่เลือกที่จะไล่ผู้มีอำนาจกันไปทั้งคณะ ไม่ให้เหลือเศษซากตะกอนเอาไว้เลย วันนั้นคงไม่ได้นั่งยิ้มสบาย ๆ เหมือนในวันนี้ !!!