xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้องผู้ตรวจฯ สอบ 21 กมธ.ยกร่างฯ ส่อประโยชน์ทับซ้อนโหวต รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (แฟ้มภาพ)
ทนายความยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบจริยธรรม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่เป็น สปช. ยันไม่สามารถลงมติร่างรัฐธรรมนูญได้ ชี้มีประโยชน์ทับซ้อน หากกฎหมายเห็นชอบก็จะได้ทำงานต่อ จวก “บวรศักดิ์” ข่มขู่ไม่รับงาน ด้านเลขาฯ ผู้ตรวจฯ เล็งชงที่ประชุม แต่ไม่รู้ทันโหวตหรือไม่

วันนี้ (31 ส.ค.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายเฉลิมศักดิ์ กาญจนศิราธิป ทนายความ เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบจริยธรรม คุณธรรมของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ทำหน้าที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 21 กรณีที่จะร่วมลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในการประชุม สปช.วันที่ 6 ก.ย.นี้ เนื่องจากเห็นว่าไม่สามารถทำได้ด้วยเหตุผล 3 ประการ 1. ในด้านจริยธรรม คุณธรรม มรรยาท ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีทั้งหมด 36 คน 21 คนมาจาก สปช.ทำให้สามารถกำหนดทิศทางในการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามต้องการของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ซึ่งไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทยที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจึงไม่ควรที่ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพื่อเป็นการยกมาตรฐานด้านจริยธรรม คุณธรรม มรรยาทของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่สังคมคาดหวังในการปฏิรูป

2. การที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เป็น สปช. หากมีการลงมติให้ความเห็นชอบ ทำให้ สปช.ทั้งหมดสิ้นสุดลงยกเว้น สปช.ที่เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างยังคงต้องทำหน้าที่ต่อไปรับเงินเดือนต่อไปมีเบี้ยประชุมต่อไป สังคมจะมองได้ว่าเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และ 3. การที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติในบทเฉพาะกาลไว้ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 275ให้หลังรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของ สปช.แล้ว กรรมาธิการยกร่างฯ ยังสามารถปฏิบัติหน้าทีได้ต่อไปจนกว่าจะเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก รวมทั้งทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะมีการบัญญัติเรื่องการดำรงตำแหน่งต่างๆ ได้ภายหลังการพ้นจากการเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะแม้รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะมีบทบัญญัติห้ามกลุ่มคนดังกล่าวไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี แต่ก็ถือว่าเป็นระยะเวลาสั้น ดังนั้น การร่วมโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจึงถือว่ามีเรื่องของประโยชน์ที่จะได้รับในอนาคตรวมอยู่ด้วย

“การที่ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ประชาสัมพันธ์โน้มน้าวให้ สปช.ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญถึงขั้นข่มขู่ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านก็จะไม่ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญอีกต่อไป อีกทั้งยังให้สัมภาษณ์ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านก็ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปร่างเองเห็นว่าประธานกรรมาธิการยกร่างฯ เป็นถึงรองประธาน สปช.ต้องระมัดระวังเรื่องจริยธรรม คุณธรรม มารยาทให้เหนือกว่าคนทั่วไป จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาเพื่อเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำวินิจฉัยต่อไป” นายเฉลิมศักดิ์กล่าว

ด้านนายรักษเกชากล่าวว่า จะเร่งนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินในช่วงบ่ายวันนี้ (31 ส.ค.) เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน แต่ไม่สามารถยืนยันว่าจะเสร็จก่อนวันที่ 6 ก.ย.ที่ สปช.จะมีการโหวตร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นอกจากผู้ตรวจฯ ต้องพิจารณาว่าคำร้องดังกล่าวอยู่ในอำนาจที่ผู้ตรวจสามารถรับไว้พิจารณาได้หรือไม่แล้ว ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อว่ากฎหมายให้อำนาจผู้ตรวจวินิจฉัยกรณีขัดกันของกฎหมาย แต่ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญยังเป็นเพียงร่างกฎหมายที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้นจะสามารถนำไปสู่การพิจารณาเพื่อมีคำวินิจฉัยได้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น