กมธ.ยกร่างฯ ระบุประเด็นร้อน 10 ข้อ ในร่างรัฐธรรมนูญ เป็นตัวชี้ขาดผ่านไม่ผ่าน สปช.และประชามติ ด้านอดีตประธานวุฒิสภาเชื่อรัฐบาลมีแผนให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติอยู่แล้ว
นางถวิลวดี บุรีกุล คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โพสต์เฟชบุ๊กส่วนตัวว่า ขั้นตอนในวันลงมติ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.กำหนดให้ลงคะแนนแบบเปิดเผยด้วยการขานชื่อ สปช.เป็นรายบุคคล โดยการตัดสินว่าร่างรัฐธรรมนูญจะได้รับความเห็นชอบหรือไม่ จะใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสมาชิก สปช.เป็นเกณฑ์ในการตัดสิน คือ 124 เสียงจากสมาชิก สปช.248 คน
ประเด็นร้อนในร่างรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 10 ข้อที่อาจเป็นตัวชี้ขาดร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป คือ 1. ที่มานายกรัฐมนตรี อาจเรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุด 2. การเลือกตั้ง ส.ส. 3. การได้มาซึ่ง ส.ว. 4. การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5. การดำเนินคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 6. เครื่องมือป้องกันประชานิยม 7. อำนาจศาล 8. มาตรการให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ที่ผ่านมามีหลายกรณีที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 9. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างฯ ออกแบบให้การแก้ไขได้ยากกว่าเดิม 10. คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่ง 10 ประเด็นร้อนทั้งหมดนี้อาจไม่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับ กมธ.ยกร่างฯ แต่อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับ สปช. และประชาชนก็เป็นไปได้ จนส่งผลต่ออนาคตของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป
ขณะที่นายนิคม ไวรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์กรณี 2 พรรคการเมืองใหญ่ ออกมาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ว่าท่าทีของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ จะส่งผลต่อการทำประชามติหรือไม่ ต้องดูว่าเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวมคือประชาชน หรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่จะร่างให้ถูกใจทุกคนไม่ได้ น่าสังเกต 2 พรรคการเมืองที่ไม่ถูกกันมาตลอด เหตุใดจึงมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เขาอาจเห็นว่าหลายเรื่องที่ร่างมาคงไม่เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนอย่างแท้จริงก็ได้
ส่วนที่ กมธ.ยกร่างฯ ถูกวิจารณ์เรื่องการกำหนดให้มี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) นั้น ต้องดูว่าเนื้อแท้ของ คปป.จะทำให้ประเทศเดินหน้าภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงได้หรือไม่ หลายฝ่ายมองว่า คปป.มีอำนาจเหนือรัฐบาลปกติ ทั้งนี้ หากปล่อยให้ 2 พรรคการเมืองใหญ่ออกมาถล่มซ้ำรัฐธรรมนูญมากๆ อาจส่งผลกับประชามติอยู่บ้าง แต่เชื่อประชาชนมีดุลพินิจคิดเองได้ และเชื่อว่ารัฐบาลมีวิธีทำให้ประชามติครั้งนี้ผ่านอยู่ในใจแล้ว ไม่เช่นนั้นคงไม่กล้าให้นำรัฐธรรมนูญที่ถูกวิจารณ์อย่างมากมาทำประชามติ