xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” เยือนฟิลิปปินส์ ขอบคุณเข้าใจการเมืองไทย ลั่นมีเสถียรภาพแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
นายกรัฐมนตรี หารือกับประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ขอบคุณที่เข้าใจสถานการณ์การเมือง ยันไทยมีเสถียรภาพ พร้อมสนับสนุนความร่วมมือหลายด้าน ลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจ 6 ฉบับ และเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรือง

วันนี้ (28 ส.ค.) เวลา 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และภริยา พร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางไปยังอนุสาวรีย์โฮเซ ริซาล โดยเข้าร่วมพิธีวางพวงมาลา ซึ่งมีนายกเทศมนตรีกรุงมะนิลา และผู้บัญชาการทหารเรือ รอให้การต้อนรับ จากนั้นเวลา 10.00 น. นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางต่อไปยังทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ (มาลากันยัง) เพื่อเข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ โดยมีการตรวจแถวทหารเกียรติยศ และลงนามในสมุดเยี่ยม ก่อนจะร่วมหารือข้อราชการกับนายเบนิกโน เอส. อาคีโน ที่สาม (Mr. Benigno S. Aquino III) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ จากนั้นได้เข้าหารือแบบเต็มคณะ

ภายหลังการหารือ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ คือ นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ได้มาเยือนฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการ หลังจากการหารือระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 22 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมแสดงความขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างสมเกียรติและอบอุ่นจากฟิลิปปินส์ ในโอกาสนี้ ผู้นำทั้งสองประเทศได้หารือถึงความสัมพันธ์ไทย - ฟิลิปปินส์ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ฝ่ายฟิลิปปินส์เสนอให้การเยือนครั้งนี้ เน้นหัวข้อเรื่อง “การเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรือง” ซึ่งสะท้อนว่าทั้งสองประเทศมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองทั้งในระดับทวิภาคี และระดับภูมิภาค นายกรัฐมนตรีกล่าวเน้นย้ำว่า การเยือนฟิลิปปินส์ครั้งนี้ รัฐบาลไทยมีเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกับฟิลิปปินส์ เพื่อให้การเยือนครั้งนี้กระชับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์อย่างรอบด้าน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาคมอาเซียนและเสถียรภาพและความมั่นคงในระดับระหว่างประเทศ

นายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ต่างแสดงความยินดีที่ทั้งสองประเทศ มีความเป็นหุ้นส่วนทางความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยาวนาน ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องที่จะสนับสนุนให้เร่งจัดประชุมกลไกความร่วมมือทวิภาคีเพื่อผลักดันเรื่องต่าง ๆ ที่ไทยและฟิลิปปินส์ได้หารือกันในวันนี้ให้เป็นรูปธรรม โดยฝ่ายไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - ฟิลิปปินส์ (JCBC) ครั้งที่ 6 ภายในปี 2558 และพร้อมเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านการค้า (JTC) ครั้งแรก และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยความร่วมมือทางทหาร (JCMC) ครั้งแรก ซึ่งฝ่ายฟิลิปปินส์จะเป็นเจ้าภาพในปี 2558

สำหรับสถานการณ์การเมืองของไทย นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความขอบคุณฟิลิปปินส์ที่เข้าใจในสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ขณะนี้ประเทศไทยกลับสู่เสถียรภาพ และให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า และวางรากฐานประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการรักษาผลประโยชน์ของมิตรประเทศทุกประเทศ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยกับฟิลิปปินส์ต่างให้ความสำคัญกับการปฏิรูปประเทศ รัฐบาลไทยมุ่งการปฏิรูปประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ 5 ปี (2558 - 2563) “ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” ส่วนฟิลิปปินส์ได้ปฏิรูปประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ “Straight Path” ซึ่งให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล และการต่อต้านการทุจริต รวมถึงการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จึงขอเสนอให้หน่วยงานของทั้งสองประเทศแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการปฏิรูปประเทศ และธรรมาภิบาล ทางด้านประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้แสดงความเข้าใจ พร้อมยินดีประสานความร่วมมือกับไทยในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการปฏิรูปประเทศ และธรรมาภิบาล

ความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคง ผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างแสดงความยินดีกับความร่วมมือด้านการทหาร และความมั่นคงที่ใกล้ชิด ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเป็นประชาคมทางการเมือง และความมั่นคงอาเซียน นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมในความมุ่งมั่นของรัฐบาลฟิลิปปินส์ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในมินดาเนาด้วยสันติวิธี พร้อมแสดงความยินดีกับความคืบหน้าการเจรจาเพื่อสันติภาพในมินดาเนา

ความร่วมมือด้านการศึกษา นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่มีครูสอนภาษาอังกฤษชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากมาสอนภาษาอังกฤษในไทย นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังเห็นว่าทั้งสองประเทศควรให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนนักเรียนและนักศึกษาระหว่างสถาบันการศึกษาของทั้งสองประเทศด้วย จึงเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนนักเรียนระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์

ในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้แสดงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงรับโรงเรียนในฟิลิปปินส์ 3 แห่งให้อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน นายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ต่างมองว่า ไทยกับฟิลิปปินส์ต่างเป็นคู่ค้าสำคัญของกัน ทั้งในอาเซียนและโลก และในการก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้น ผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างยินดีกับปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในช่วงปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรียังกล่าวแสดงความยินดีที่ฟิลิปปินส์กลับมานำเข้าเนื้อไก่ปรุงสุก รวมถึงนำเข้าข้าวจากไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในคุณภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารจากไทย พร้อมเน้นย้ำว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลมาตรฐานคุณภาพของการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารจากไทย

ในส่วนของการลงทุน รัฐบาลไทยสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนไทยในฟิลิปปินส์ โดยจากการพบปะภาคเอกชนไทยในฟิลิปปินส์หลายคน ซึ่งได้มาร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา เมื่อวานนี้ ทุกคนต่างแสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ และพร้อมขยายการลงทุนในฟิลิปปินส์ จึงขอให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ดูแลและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนไทย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ รัฐบาลมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 6 จังหวัดนำร่องบริเวณชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน ไทยยินดีให้ภาคเอกชนฟิลิปปินส์ร่วมลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว

ความร่วมมือด้านวิชาการและการเกษตร ผู้นำทั้งสองฝ่ายยินดีร่วมกันหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการ อาทิ การวิจัยและพัฒนาด้านนมกระบือ ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ และการปศุสัตว์ โดยฝ่ายไทยยินดีแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ด้านการแปรรูปผลไม้ และการปศุสัตว์ตามความสนใจของฝ่ายฟิลิปปินส์

ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรียินดีที่ชาวฟิลิปปินส์นิยมมาเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย โดยนายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ต่างมองว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นสาขาที่สร้างรายได้ให้กับทั้งไทยกับฟิลิปปินส์ ทั้งสองประเทศมีศักยภาพส่งเสริมความร่วมมือการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชายฝั่ง และขณะนี้รัฐบาลสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการจอดเรือสำราญและเรือยอชต์ จึงขอเชิญชวนให้ฟิลิปปินส์มาร่วมลงทุนในโอกาสนี้ด้วย

ความร่วมมือด้านแรงงาน นายกรัฐมนตรีชื่นชมฟิลิปปินส์ว่าเป็นแบบอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการบริหารแรงงานในต่างประเทศ ไทยจึงประสงค์เรียนรู้จากความสำเร็จของฟิลิปปินส์ด้านการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางาน และการปรับตัวเข้าสู่สภาพสังคมเดิม (reintegration) ของแรงงานในต่างประเทศ นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและเหตุการณ์ภัยพิบัติในหลายประเทศที่มีแรงงานไทยและฟิลิปปินส์ทำงานอยู่ จึงเห็นว่าหากทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมมือด้านการกงสุลเพื่อดูแลคุ้มครองแรงงานระหว่างกันในกรณีเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยเสนอให้สองฝ่ายจัดให้มีเวทีหารือเรื่องนี้โดยตรง

สำหรับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณที่ฟิลิปปินส์ได้สนับสนุนการทำงานของไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียน - จีน ไทยรับทราบเรื่องการนำข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ของฟิลิปปินส์กับจีนเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ไทยพร้อมร่วมมือกับฟิลิปปินส์และประเทศอาเซียน ในการนำปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้มาปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ ตลอดจนส่งเสริมการปรึกษาหารือเรื่องแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้

สำหรับการเป็นเจ้าภาพประชุมระดับผู้นำเอเปคของฟิลิปปินส์ นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงการสนับสนุนฟิลิปปินส์และการเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำเอเปกในเดือนพฤศจิกายน 2558 ณ กรุงมะนิลา

ความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรี ขอรับการสนับสนุนจากฟิลิปปินส์ต่อไปในการสมัครรับเลือกตั้งของไทยในตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติวาระปี ค.ศ. 2560 - 2561 และขอให้ฟิลิปปินส์พิจารณาสนับสนุนไทยในการสมัครรับเลือกตั้งผู้พิพากษาศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ (ITLOS) วาระปี 2560 - 2569 รวมถึงขอรับการสนับสนุนจากฟิลิปปินส์ในการสมัครเพื่อดำรงตำแหน่งประธานการประชุมกลุ่ม G-77 วาระปี 2559 ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันที่จะสนับสนุนฟิลิปปินส์ในการสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระปี 2559 - 2561

สำหรับความตกลงและบันทึกความเข้าใจที่คั่งค้าง ไทยและฟิลิปปินส์ยินดีร่วมมือกันเพื่อเร่งรัดหาข้อสรุปข้อตกลงที่คั่งค้าง ดังนี้ (1) บันทึกความเข้าใจด้านบริการเดินอากาศ (2) ขอบเขตอำนาจหน้าที่ (Terms of Reference - TOR) ของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ระหว่างกระทรวงกลาโหม กับกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ (3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (4) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการลักลอบยาเสพติด เคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นที่อยู่ภายใต้การควบคุม (5) การจัดทำบันทึกความตกลงด้านปศุสัตว์ และ (6) ความตกลงด้านการประมง

จากนั้น เวลา 11.50 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวร่วมกับนายเบนิกโน เอส. อาคีโน ที่สาม ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โดยภายหลังการแถลงข่าวร่วม พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความขอบคุณประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และรัฐบาลฟิลิปปินส์ ที่ได้เชิญมาเยือนฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการ รวมทั้งให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะอย่างอบอุ่น

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาเยือนฟิลิปปินส์ พร้อมกล่าวชื่นชมในความสวยงามของประเทศ มิตรภาพ และรอยยิ้มของประชาชนชาวฟิลิปปินส์ ตลอดจนความเจริญของบ้านเมือง ซึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จในการดำเนินวิสัยทัศน์ “Straight Path” ของประธานาธิบดี เบนิกโน เอส. อาคีโน ที่สาม ของฟิลิปปินส์ในการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และรัฐบาลฟิลิปปินส์สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ที่สูงอย่างต่อเนื่องในประมาณร้อยละ 6 ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ฟิลิปปินส์ได้รับการกล่าวขานจากประชาคมระหว่างประเทศว่าเป็น “ดาวรุ่งดวงใหม่แห่งภูมิภาค” โดยเชื่อมั่นว่าวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์จะเป็นรากฐานสำคัญในการนำพาฟิลิปปินส์สู่ความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มีโอกาสพบปะและหารือกับประธานาธิบดีฟิลิปปินส์หลายครั้ง โดยครั้งนี้ เป็นครั้งที่สอง ซึ่งนายกรัฐมนตรีพอใจอย่างมากกับผลการหารือ โดยผลสรุปจากการหารือ ทั้งสองฝ่ายพอใจกับสถานะความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและครอบคลุมรอบด้าน และเห็นพ้องกันด้วยว่าในโอกาสที่ไทยกับฟิลิปปินส์ย่างก้าวสู่ทศวรรษที่ 7 ของความสัมพันธ์และการเป็นประชาคมอาเซียนในปีนี้ ทั้งสองประเทศจะร่วมมือระหว่างกันมากยิ่งขึ้นเพื่อเสริมสร้าง “ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรือง” และความเข้มแข็งให้กับประชาคมอาเซียน

ในนามของรัฐบาลไทย นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความเสียใจต่อชาวฟิลิปปินส์ที่ได้รับบาดเจ็บหนึ่งคน ในเหตุการณ์ระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ขณะนี้ ทางการไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว และได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นต่าง ๆ ในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว และเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิด

นายกรัฐมนตรียังได้เรียนให้ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ทราบเกี่ยวกับพัฒนาการทางสถานการณ์การเมืองของไทย และการมุ่งการปฏิรูปประเทศระยะที่สอง ภายใต้วิสัยทัศน์ 5 ปี “ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” พร้อมเน้นย้ำว่าขณะนี้ ไทยกลับมามีเสถียรภาพและความมั่นคงแล้ว นายกรัฐมนตรีได้แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการตาม Roadmap และการปฏิรูป เพื่อวางรากฐานให้กับประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน ก่อนจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2559 ซึ่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้รับทราบแล้ว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ฟิลิปปินส์เป็นคู่ค้ากับไทยอันดับที่ 6 ของอาเซียน และเป็นคู่ค้ากับไทยอันดับที่ 18 ของโลก และในปีที่ผ่านมา ปริมาณการค้าทั้งสองฝ่ายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ทั้งสองฝ่ายจึงมีศักยภาพที่จะส่งเสริมการค้าและการลงทุนในระดับทวิภาคี และสนับสนุนการเป็นประชาคมอาเซียน และจากการที่นายกรัฐมนตรีได้ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำกับทีมประเทศไทยและภาคเอกชนไทยในฟิลิปปินส์ ซึ่งได้แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ และประสงค์ขยายการลงทุนในฟิลิปปินส์ นายกรัฐมนตรียินดีให้การสนับสนุนการลงทุนในฟิลิปปินส์ พร้อมขอรับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในโอกาสนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความขอบคุณรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่กลับมานำเข้าเนื้อไก่ปรุงสุกจากไทย ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 และย้ำว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลมาตรฐานคุณภาพของการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารจากไทย นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้เชิญชวนให้ภาคเอกชนฟิลิปปินส์ขยายการลงทุนในไทย และร่วมลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ บริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ในสาขาที่สนใจ โดยไทยและฟิลิปปินส์ เห็นพ้องว่าสภาธุรกิจฟิลิปปินส์ - ไทย และสภาธุรกิจไทย - ฟิลิปปินส์ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ทั้งสองฝ่ายได้มีการประชุมหารือด้านพลังงานครั้งแรกเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่กรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานอย่างยั่งยืน พร้อมกล่าวชื่นชมฟิลิปปินส์ในความสำเร็จด้านการบริหารจัดการแรงงานในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายไทยในการเรียนรู้จากประสบการณ์ของฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางาน และการปรับตัวเข้าสู่สภาพสังคมเดิมของแรงงานในต่างประเทศ ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้สองฝ่ายส่งเสริมความร่วมมือด้านการการกงสุลเพื่อดูแลคุ้มครองแรงงานระหว่างกันในกรณีเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วย

นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้ทั้งสองประเทศมีการพบปะ พูดคุย อย่างสม่ำเสมอ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ให้มีความคืบหน้าพร้อมแจ้งความพร้อมของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - ฟิลิปปินส์ (JCBC) ครั้งที่ 6 ภายในปี 2558 และการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 24 - 25 กันยายน 2558 การเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านการค้า (JTC) ครั้งแรก และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยความร่วมมือทางทหาร (JCMC) ครั้งแรก ซึ่งฝ่ายฟิลิปปินส์มีกำหนดเป็นเจ้าภาพในปีนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคกับประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะระหว่างอาเซียนกับจีนในสถานการณ์ทะเลจีนใต้ โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณฟิลิปปินส์ที่ได้ให้การสนับสนุนไทยในการทำหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานอาเซียน - จีน และยืนยันที่จะร่วมมือมือกับฟิลิปปินส์ และประเทศอาเซียนเพื่อนำปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้มาปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ ตลอดจนส่งเสริมการปรึกษาหารือเรื่องแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความขอบคุณประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และรัฐบาลฟิลิปปินส์สำหรับมิตรภาพ พร้อมเน้นย้ำความร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อเสริมสร้าง “ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรือง” ระหว่างไทยและฟิลิปปินส์เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้งสองประเทศ และอาเซียนโดยรวม


กำลังโหลดความคิดเห็น