“บัวแก้ว” เผยผลถกทวิภาคี “ไทย-รัสเซีย” เสนอผ่อนคลายกฎระเบียบขั้นตอนที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย เสนอ “รัสเซีย” ลงทุน Rubber Cities - ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง และจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจด้านความร่วมมือระหว่างธนาคารและการเงิน
วันนี้ (17 ก.ค.) เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ภารกิจของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างเดินทางเยือนกรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 6 ตามคำเชิญของนายเดนิส แมนทูรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมรัสเซีย ระหว่างวันที่ 14-19 กรกฎาคม 2558 โดยคณะได้พบหารือทวิภาคีกับนายเดนิส แมนทูรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ถึงแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อต่อยอดผลการหารือจากการเยือนไทยของนายแมนทูรอฟฯ ในเดือนมกราคม 2558 และการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีรัสเซียในเดือนเมษายน 2558
จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-รัสเซีย (JC Thai-Russia) ครั้งที่ 6 สรุปผลได้ดังนี้
1. ด้านสินค้าเกษตร ฝ่ายไทยได้เสนอให้ฝ่ายรัสเซียพิจารณาผ่อนคลายกฎระเบียบและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการเกษตรและขยายการลงทุนด้านการเกษตรระหว่างกัน
2. การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน โดยฝ่ายไทยได้เชิญชวนให้ฝ่ายรัสเซียให้ลงทุนในโครงการ Rubber Cities ในไทย และเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางซึ่งบริษัทรัสเซียมีขีดความสามารถสูง โดยจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ โดยในระหว่างนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นหน่วยงานประสาน รวมถึงร่วมลงทุนในสาขาที่รัสเซียมีความชำนาญในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย Thailand+1 ของรัฐบาล
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะหาแนวทางอำนวยความสะดวกด้านธุรกิจการเงินเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยได้ตกลงที่จะจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจด้านความร่วมมือระหว่างธนาคารและการเงิน เพื่อให้กลุ่มธุรกิจรายย่อยมีโอกาสมากยิ่งขึ้น โดยฝ่ายไทยขอเชิญชวนฝ่ายรัสเซียให้ไปจัดตั้ง International Headquarter และ International trading center ในประเทศไทย นอกจากนั้น ขอให้สภาธุรกิจไทย-รัสเซีย และสภาธุรกิจรัสเซีย-ไทยได้เพิ่มการประสานงานระหว่างกัน เพื่อให้คณะกรรมาธิการร่วมฯ ทำงานได้สะดวกขึ้น ทั้งนี้ รัสเซียจะจัดงาน “Thailand Industrial Fair” ที่ประเทศไทย ในปี 2560 เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันด้วย
3. เน้นย้ำความพร้อมของกระทรวงการต่างประเทศที่จะขับเคลื่อนประเด็นที่ยังอยู่ระหว่างการหารือ อาทิ ความตกลงต่างๆ ให้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสองฝ่ายร่วมกันดำเนินการเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว และเน้นย้ำความพร้อมของไทยที่จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 7 ในปี 2559 และครั้งที่ 8 ในปี 2560 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 120 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-รัสเซีย เพื่อเป็นการยืนยันความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของทั้งสองฝ่าย
4. นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือแนวทางความร่วมมือในทุกมิติ อาทิ การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา การแลกเปลี่ยนด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ การส่งเสริมวัฒนธรรม และการขยายการท่องเที่ยว และได้เน้นย้ำให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อส่งเสริมความร่วมมือให้เป็นรูปธรรม
5. ฝ่ายรัสเซียตระหนักถึงความสำคัญของไทยในภูมิภาคและในเวทีระหว่างประเทศ และปรารถนาที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับไทยอย่างสร้างสรรค์ ทั้งในกรอบความร่วมมืออาเซียน และองค์การสหประชาชาติ ให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้ขอบคุณรัฐบาลรัสเซีย โดยเฉพาะนายเดนิส แมนทูรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และเจ้าหน้าที่อาวุโสของสองฝ่าย ที่ทำให้การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย และเป็นโอกาสให้สองฝ่ายสามารถหารือถึงแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการส่งเสริมและขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ ตามเจตนารมณ์ของผู้นำทั้งสองประเทศที่ได้ตกลงกันไว้ในระหว่างการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีรัสเซียเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและมีความมุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือให้เป็นระดับหุ้นส่วนในอนาคต
ทั้งนี้ ทางการรัสเซียยังได้ให้เกียรติเชิญรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะเข้าเยี่ยมชมพระราชวังเครมลิน (Kremlin) ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสและเยี่ยมชมเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2440 ในระหว่างเสด็จประพาสรัสเซียเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างไทยกับรัสเซีย และมีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้เสด็จประพาสเครมลิน เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2550 จึงนับได้ว่าเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-รัสเซีย