xs
xsm
sm
md
lg

กกต.รับหลักเกณฑ์-วิธีการประชามติเสร็จแล้ว ให้ใช้สื่อหลักจ้อหนุน-ค้านเท่ากัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต.(แฟ้มภาพ)
ปธ.กกต.เผยร่างประกาศหลักเกณฑ์-วิธีการประชามติ จัดทำเสร็จแล้ว แจงมีหน้าที่ให้ความรู้ ปชช. แต่ไม่ชี้นำ เปิดโอกาสแสดงความเห็น ทำรูปแบบเวทีหลัก ต้องไม่ขัดคำสั่ง คสช. เน้นใช้สื่อหลัก ชี้โซเชียลคุมยาก “บุณยเกียรติ” รับการแสดงความเห็นคล้ายเสนอนโยบายพรรค โยนผู้อำนาจแก้ กม.เพิ่มโทษส่งไลน์ข้อความป่วนหรือไม่


วันนี้ (28 ส.ค.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและระเบียบที่เกี่ยวข้องว่า ขณะนี้สำนักงาน กกต.ได้จัดทำแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย อยู่ระหว่างตรวจทานความเรียบร้อย และรอดูมติที่ประชุมสมาชิสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่าจะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่งมอบให้ ก่อนที่จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในวันที่ 6 ก.ย.นี้ สำหรับขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของ กกต.เกี่ยวกับการจัดทำประชามตินั้น นอกจาก กกต.จะมีหน้าที่จัดทำประชามติแล้วยังมีหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนซึ่งต้องไม่เป็นการชี้นำให้โหวตรับหรือไม่รับ พร้อมเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำประชามติครั้งนี้ โดยรูปแบบจะเป็นการเปิดให้ประชาชนที่สนใจจะร่วมแสดงความคิดเห็นให้มาลงทะเบียนที่ กกต.ทั่วประเทศ จากนั้นกำหนดวันให้ดีเบตกันโดยเป็นการบันทึกเทปโทรทัศน์ ก่อนจะนำไปเผยแพร่ทางทีวี

“การดำเนินการในลักษณะนี้จะอยู่ในรูปแบบเวทีหลัก ไม่ใช่เป็นการที่ กกต.จะไปจัดเวทีระดมความคิดเห็นในสถานที่ต่างๆ เนื่องจากเราต้องคำนึงถึงประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองด้วย ดังนั้นเราจะทำอะไรต้องดูความเหมาะสมและหาวิถีทางที่ไม่ขัดต่อประกาศของ คสช.ด้วย และเห็นว่าการรณรงค์ในครั้งนี้คงอาศัยสื่อหลัก เช่น สื่อโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ เพราะมองว่าโซเชียลมีเดียมีการควบคุมยาก กกต.ไม่สามารถตรวจสอบได้”

ด้านนายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า หลักเกณฑ์ในการออกเสียงประชามติจะมีลักษณะเหมือนการเลือกตั้งทั่วไป ส่วนการจัดสรรเวลาในการแสดงความเห็นของฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยผ่านโทรทัศน์และวิทยุก็จะมีลักษณะคล้ายกรณีการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ก่อนเลือกตั้ง โดยจะให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยส่งตัวแทนมาอัดเทปแสดงความเห็นในเวลาเท่ากัน และเผยแพร่ในเวลาที่เท่าๆ กัน ส่วนกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ระบุว่าหากมีการส่งไลน์หรือเอสเอ็มเอสในลักษณะยั่วยุ ปลุกระดม ใช้คำพูดหยาบคาย รุนแรง ข่มขู่ ก้าวร้าวในการรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญทำไม่ได้ ผิดกฎหมายนั้น ผู้มีอำนาจ คือ รัฐบาล และคณะรักษาความสงบต้องไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไร โดยผู้มีอำนาจอาจจะเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 เพื่อเพิ่มความผิดดังกล่าวใน พ.ร.บ.ดังกล่าว หรืออาจจะมีการเสนอให้ออกเป็นกฎหมายพิเศษก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น