xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศสำนักนายกฯ 2 ฉบับ รับ กม.ชุมนุมสาธารณะ แจ้ง ตร.ผ่านอีเมล ให้ จนท.ใช้เฉพาะ “สเปรย์แก๊สน้ำตา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดประกาศสำนักนายกฯ 2 ฉบับ กำหนดวิธีการแจ้งขอชุมนุมสาธารณะ ให้แจ้งเป็นหนังสือต่อ “หัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่” ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ทั้งโดยตรงต่อผู้รับแจ้ง แจ้งทางโทรสาร หรือแจ้งทางอีเมล “ห้ามแจ้งทางสังคมออนไลน์” อีกฉบับ กำหนดเครื่องมือควบคุมฝูงชนให้ใช้ “โล่ใส กระบองยาง แก๊สน้ำตาชนิดสเปรย์ อุปกรณ์ส่งคลื่นเสียงรบกวนพิเศษระยะไกลชนิดพกพา ลูกขว้างแบบควัน”

วันนี้ (25 ส.ค.) มีรายงานว่า ภายหลัง ครม. เห็นชอบตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เสนอ พิจารณาเรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. 2558 หลังจาก พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 58 และมีผลบังคับใช้ 30 วัน หลังจากประกาศ คือวันที่ 13 ส.ค.58 ดังนั้น เมื่อมีการประกาศกฎหมายฉบับนี้แล้ว จำเป็นต้องมีแผน (Action Plane) มีการกำหนดรายละเอียดของผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนของหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

มีรายงานว่า คณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... และร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชน พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างประกาศ 1. ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กำหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ โดยให้ผู้แจ้งแจ้งเป็นหนังสือต่อผู้รับแจ้ง (หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ) ตามแบบท้ายประกาศ โดยให้แจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง โดยแจ้งด้วยวิธีหนึ่งวิธีใด ดังต่อไปนี้ เช่น แจ้งโดยตรงต่อผู้รับแจ้ง แจ้งทางโทรสาร หรือแจ้งทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์

2. ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชน พ.ศ. 2558 กำหนดหลักการปฏิบัติของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ผู้ควบคุมสถานการณ์ หรือข้าราชการตำรวจซึ่งได้มอบหมาย ต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง กรณีการปฏิบัติใดที่จำเป็นต้องใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์สามารถดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามสมควรแก่เหตุ และยุทธวิธีการใช้กำลังตามความจำเป็นของสถานการณ์ตามหลักสัดส่วน โดยเลือกใช้ เครื่องมืออุปกรณ์ควบคุมฝูงชนวิธีการใดวิธีการหนึ่ง หรือหลายวิธีการพร้อมกันให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น โล่ใส กระบองยาง แก๊สน้ำตาชนิดสเปรย์ อุปกรณ์ส่งคลื่นเสียงรบกวนพิเศษระยะไกลชนิดพกพา ลูกขว้างแบบควัน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น