กลุ่มประชาชนเพื่อความยุติธรรมฯ ยื่นหนังสือศาลปกครอง จี้คืนตำแหน่ง “หัสวุฒิ” พร้อมยุบทิ้ง ก.ศป. ปลด 2 ตุลาการฯ เหตุพบผลสอบระบุไม่มีมูลเอี่ยวจดหมายน้อย แต่ ก.ศป.กลับดึงเรื่องให้สอบสวนใหม่ ชี้เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลปกครองว่า เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (27 ส.ค.) กลุ่มประชาชนเพื่อความยุติธรรมในแผ่นดินไทย หรือ ก.ย.ท. นำโดยนายนพพล น้อยบ้านโง้ง ประธานกลุ่มฯ เข้ายื่นหนังสือถึงนายปิยะ ปะตังทา รองประธานศาลปกครองสูงสุด ในฐานะรักษาการประธานศาลปกครองสูงสุด และคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง หรือ ก.ศป. ผ่านนายเสริมพงษ์ รัตนะ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการคดีปกครอง สำนักงานศาลปกครอง เพื่อขอให้ยุบ ก.ศป.และเรียกนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุดที่ถูกพักราชการให้กลับเข้าปฏิบัติราชการ
นายนพพลกล่าวว่า เนื่องจากเห็นว่า ก.ศป.ไม่ปฎิบัติตามกรอบของกฎหมาย เพราะจากที่ได้ติดตามข่าวทางสื่อพบว่าราววันที่ 20 ส.ค. คณะกรรมการสอบสวนกรณีจดหมายน้อยมีมติเสียงข้างมาก เสนอความเห็นว่าที่มีการกล่าวหานายหัสวุฒิเกี่ยวข้องกับจดหมายน้อยนั้นไม่มีมูลจริง แต่ ก.ศป.ซึ่งมีหน้าที่ต้องออกมติเพื่อรักทราบผลการสอบสวนตามที่ได้มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวน กลับไม่ทำหน้าที่ กลับหน่วงเหนี่ยวให้คณะกรรมการสอบสวนทบทวน ทั้งที่เมื่อผลสอบออกมาแล้วว่าไม่มีความผิด ก็ชอบที่ ก.ศป.จะมีมติยุติการสอบสวนและคืนตำแหน่งให้แก่นายหัสวุฒิโดยเร็ว
นอกจากนี้ยังพบว่า การดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวนที่ ก.ศป.มีคำสั่งแต่งตั้งนั้นไม่ดำเนินการตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดว่าจะต้องให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และหากมีเหตุจำเป็นสามารถขอขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 วัน แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่าในขณะนี้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนแล้ว การดำเนินการสอบสวนกลับยังไม่แล้วเสร็จ และเมื่อคณะกรรมการสอบสวนมีมติ ก.ศป.ก็ไม่ดำเนินการ ทั้งที่ศาลปกครองเป็นหน่วยงานที่ต้องอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ก็ควรจะยึดกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา หลังจากนี้ทางกลุ่มก็จะได้ไปยื่นเรื่องให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการประทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศุนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช. เพื่อขอความเป็นธรรมให้มีการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมในศาลด้วย และเรียกร้องให้ประธานศาลปกครองเข้ามาปฎิบัติหน้าที่
“ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าว ไม่มีฝ่ายใดว่าจ้าง หรือทำเพื่อใคร แต่ทำในฐานะประชาชน ที่ต้องการเห็นความยุติธรรม ที่ผ่านมาติดตามเรื่องทางสื่อฯ ข้อมูลทั้งหมดก็ได้มาจากสื่อ และเห็นว่าการดำเนินการสอบสวนไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทางกลุ่มฯต้องการให้ระบบการสอบสวนในกระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด นายหัสวุฒิจะผิดหรือไม่ผิดเราไม่รุ้ เพราะส่วนตัวก็ไม่รู้จัก ไม่เคยเจอกัน เห็นแต่ทางสื่อฯเท่านั้น แต่เราเห็นว่าถ้าองค์กรที่อำนวยความยุติธรรม ไม่ยึดตามกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมก็จะไม่เกิด” นายนพพลกล่าว และว่าส่วนตัวก็ไม่ได้รู้จักกับนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองกลางที่ถูกระบุเป็นผู้ทำจดหมายน้อย รวมทั้งเห็นว่ากรณีดังกล่าวทางศาลปกครอง ควรออกมาชี้แจงให้ขัดเจน ถ้าไม่สามารถนำสืบได้ว่าเชื่อมโยงไปถึงใคร แล้วเกี่ยวข้องจริงหรือไม่ก็ต้องยุติเรื่อง
นอกจากนี้ นายนพพลยังได้ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ผ่านนายจักรินทร์ นุชถนอม ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง สำนักงานศาปกครองกลาง เพื่อขอข้อมูลเอกสารคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวน และพักราชการนายหัสวุฒิ อาทิ เอกสารร้องเรียนของตุลาการที่เข้าชื่อ พร้อมรายชื่อที่ขอให้มีการพักราชการนายหัสวุฒิ เอกสารเกี่ยวกับการปฎิบัติงานของรักษาการประธานศาลปกครองสูงสุด หนังสือของ ก.ศป. และเอกสารที่มีถึงสำนักงาน ก.พ.เรื่องทักท้วงผู้แทน ก.พ. ในการมาร่วมเป็นกรรมการสอบวินัยนายหัสวุฒิเป็นต้น
ทั้งนี้ ตามหนังสือที่ทาง ก.ย.ท.ยื่นต่อรักษาการประธานศาลปกครองสูงสุดและ ก.ศป. ในครั้งนี้ ยังได้ระบุรายละเอียดการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายของ ก.ศป.ไว้ด้วยว่า ใช้อำนาจเสียงข้างมากโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ออกมติให้พักราชการประธานศาลปกครองสูงสุด และตั้งข้อกล่าวหาและมีคำสั่งสอบวินัยอย่างร้ายแรงในฐานะความผิดตามอ้างที่ไม่ใช่ความผิดวินัยร้างแรงกับนายหัสวุฒิ ซึ่งแต่ละคำสั่งและการออกมติมีนายชาญชัย แสวงศักดิ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่ 2 ซึ่งก็ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสอบสวนวินัยนายหัสวุฒิเป็นผู้เสนอวาระ ผู้ลงมติ ผู้ออกคำสั่ง รวมทั้งเมื่อมีการพักราชการนายหัสวุฒิแล้ว นายชาญชัยและนายปิยะ ปะตังทา รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่ 1 ในฐานะรักษาการประธานศาลปกครองสูงสุด ยังได้เข้าสวมใช้อำนาจประธานศาลปกครองสูงสุดโดยไม่ชอบมากว่า 6 เดือน
“ไม่ทำการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงในกรณีนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วตามกฎหมายบริหารบุคคลของตุลาการศาลปกครองซึ่งกำหนดให้ดำเนินการสอบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ขยายได้หากมีเหตุจำเป็นครั้งและไม่เกิน 15 วัน แต่นายชาญชัย ประธานสอบสวนไม่ดำเนินการสอบให้แล้วเสร็จ จนถึงวันที่ 140 นับแต่มีคำสั่ง และไม่ส่งคำสั่งสอบวินัยดังกล่าวให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยเร็ว เพื่อให้โอกาสโต้แย้งต่อผู้ถูกกล่าวหา แต่ได้ร่วมกับ ก.ศป.มีมติทักท้วงกรรมการสอบสวนที่มาจาก ก.พ. ซึ่งเป็นกรรมการที่ได้มาโดยชอบด้วยระเบียบกฎหมาย ทำให้ราชการเสียหาย ขาดความชัดแจน และประสิทธิภาพในระบบ กับทำให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องตกอยู่ในภาวะเดือดร้อน เสียชื่อเสียง จากการไม่เร่งรัดสอบสวนให้แล้วเสร็จตามกฎหมาย และเมื่อคณะกรรมการสอบสวนมีมติเสียงข้างมากว่านายหัสวุฒิไม่มีความผิด ก.ศป.ซึ่งที่มีหน้าที่ต้องออกมติเมื่อรับทราบผลการสอบสวนตามที่ได้มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนกลับหน่วงเหนี่ยวให้คณะกรรมการสอบทบทวน ทั้งที่ประธานสอบสวนคือนายชาญชัย ที่ก็เป็นประธานในที่ประชุม ก.ศป.ในเรื่องที่เกี่ยวข้องก็รู้ดีถึงเหตุผลและมติของคณะกรรมการสอบสวนในชั้นการสอบสวน จึงขอให้มีการยุบ ก.ศป.ที่ดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้กรรมการ ก.ศป.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทั้งหมด และยุติบทบาทหน้าที่และให้นายหัสวุฒิกลับเข้าทำหน้าที่ประธานศาลปกครองสูงสุดโดยด่วนและแต่งตั้ง ก.ศป.ชุดใหม่ รวมถึงให้ตุลาการศาลปกครอง 2 ราย คือ นายชาญชัย และนายวิษณุ วรัญญู ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งตุลาการเสียงข้างมากในคณะกรรมการสอบสวนี่เห็นว่านายหัสวุฒิ มีความผิด พ้นจากความเป็นตุลาการ เนื่องจากกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างชัดแจ้งและต่อเนื่อง”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กลุ่มดังกล่าวได้เคยไปยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.ขอให้ตรวจสอบ ก.ศป. รวมถึงยื่นหนังสือถึงหัวหน้า คสช.เพื่อขอให้ใช้อำนาจมาตรา 44 สั่งยุบ ก.ศป. และให้นายหัสวุฒิกลับมาปฏิบัติหน้าที่ประธานศาลปกครองสูงสุดมาก่อนแล้ว
สำหรับเรื่องจดหมายน้อยเป็นกรณีที่นายดิเรกฤทธิ์ได้มีหนังสือถึง ผบ.ตร.เพื่อขอให้สนับสนุนนายตำรวจคนหนึ่งที่มาดูแลความปลอดภัยให้กับนายหัสวุฒิ ให้ได้รับการเลื่อนขั้นในตำแหน่งที่สูงขึ้น ในการโยกย้ายประจำปี โดยในหนังสือได้อ้างถึงประธานศาลปกครองว่าก็มีความประสงค์ดังกล่าว