“หมอเจตน์” เผย “พรเพชร” รับสำนวนชี้มูลความผิดถอดถอน “สมศักดิ์” คดีร่ำรวยผิดปกติ ประชุมนัดแรก 17 ก.ย. โวย กมธ. ยกร่างฯ ม.276 วรรคสองสาม ปมสัดส่วน กมธ. ไม่ไว้ใจ สนช. เกิดปัญหาแง่ปฏิบัติ “สมชาย” จี้ ยึดแนวทางที่ สนช. เคยปฏิบัติ “ยุทธนา” เผย สนช. เตรียมพิจารณางบ 59 วาระ 2 - 3 พฤหัสนี้
วันนี้ (25ส.ค.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ล่าสุด ทางศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับสำนวนชี้มูลความผิดคดีถอดถอนนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ตามมาตรา 56 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จากกรณีร่ำรวยผิดปกติ จากการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน บ้านเลขที่ 5/5 ตำบลไผ่จำศีล อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ตั้งแต่ปี 2541 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และมีการก่อสร้างต่อเนื่องในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยปลูกสร้างแล้วเสร็จ เมื่อปี 2554 ซึ่งมีมูลค่า 16 ล้านบาทเศษ โดยจะมีการนัดประชุมนัดแรกในวันที่ 17 กันยายนนี้ เพื่อกำหนดกรอบวันแถลงเปิดคดีต่อไป
นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่า วิป สนช. ยังได้มีการหารือถึงร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีการส่งถึงมือ สนช. โดยเฉพาะมาตรา 276 ที่กำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติที่สำคัญ แต่ในมาตรา 276 วรรคสองและวรรคสาม กำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดส่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และยังให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสามารถกำหนดบุคคลมาร่วมทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการสามัญพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ และเป็นการไม่ไว้ใจ สนช. หรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสัดส่วนกรรมาธิการ จะทำให้เกิดปัญหาในแง่ปฏิบัติได้ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องคำถามประชามติ สนช. ได้กำหนดวันประชุมเพื่อพิจารณาในวันที่ 8 กันยายน หากในวันที่ 6 กันยายน สปช. มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สนช. ได้ทำหน้าที่มาตลอด 1 ปี และพิจารณาร่างกฎหมายแล้วกว่า 116 ฉบับ แต่ไม่เคยมีการกำหนดสัดส่วนกรรมาธิการชัดเจนว่าต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เพราะการปฏิบัติที่ผ่านมาใช้หลักเกณฑ์ในการตั้งกรรมาธิการไม่เกิน 1 ใน 5 ของจำนวนกรรมาธิการ ซึ่งการที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เช่นนี้ เท่ากับว่า ต้องมีสัดส่วนกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 7 - 8 คนต่อคณะ อีกทั้งในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 สนช. ก็เป็นผู้รับผิดชอบในการร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ไม่สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้แล้ว มีแต่เพียงว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติจะมีมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น อยากจะเสนอทางออกให้ยึดแนวทางที่ สนช. เคยปฏิบัติ
นอกจากนี้ นายยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกวิป สนช. กล่าวว่า สนช. เตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 ในวาระ 2 และวาระ 3 วันที่ 27 สิงหาคมนี้ ซึ่งมีจำนวน 35 มาตรา แต่มีการแก้ไข 29 มาตรา โดยถูกปรับลดงบประมาณ 20,582 ล้านบาท โดยนำไปใส่ไว้ในงบประมาณกลาง ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ที่จำเป็น หรือเร่งด่วนต้องใช้งบประมาณในส่วนดังกล่าวก็สามารถเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาได้ ทั้งนี้ จะเปิดให้สมาชิกสามารถยื่นแปรญัตติได้ภายในวันที่ 27 กันยายน เวลา 10.00 น. โดยขณะนี้มีสมาชิกยื่นแปรญัตติแล้วจำนวน 2 คน คือ นายมณเฑียร บุญตัน และนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิก สนช. และจะเปิดให้สมาชิกลงชื่อร่วมอภิปรายได้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการประชุมจนถึงช่วงเวลา 18.00 น. ของวันเดียวกัน