“ศปมผ.” สรุป 15 ประเด็นแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย เร่งส่งเอกสาร “แก้ประมงผิดกฏหมาย” ให้อียูสิ้นเดือน ส.ค. นี้ สั่งกรมเจ้าท่า เพิกถอนทะเบียนเรือประมง 11,700 ลำ แต่งตั้งบอร์ดจังหวัด - ผู้ว่าฯ นั่งประธานบังคับใช้กฎหมาย ขีดเส้น 1 ก.ย. กำหนดจำนวนวันเพื่อลดการลงแรงทำประมงของเรืออวนลากและอวนล้อมในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน
วันนี้ (13 ส.ค.) มีรายงานว่า พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้เป็นประธานในการประชุม ศปมผ. ครั้งที่ 15 ณ ห้องประชุม กองบัญชาการกองทัพเรือ เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยใช้เวลาการประชุมนานกว่า 5 ชั่วโมง จากนั้นที่ประชุมมีมติ ดำเนินการใหนครั้งนี้ ดังนี้
1. ให้คณะทำงานต่าง ๆ ที่จัดทำเอกสารส่งไปให้สหภาพยุโรปเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาภายในสิ้นเดือน ส.ค. 58
2. ให้กรมเจ้าท่า เพิกถอนทะเบียนเรือประมงที่ไม่มาแสดงตน จำนวน 11,700 ลำ และรวบรวมข้อมูลเรือดังกล่าวเพื่อป้องกันการจดทะเบียนใหม่ หรือสวมทะเบียนเรือ
3. ให้คณะทำงาน ศปมผ. ร่างคำสั่ง คสช. เพื่อ 1) กำหนดให้มีการห้ามโอน เปลี่ยนแปลงทะเบียนเรือ/อาชญาบัตร จนกว่าจะมีการคำนวนค่า MSY แล้วเสร็จ 2) ให้อำนาจกับ ผบ.ศปมผ. ในการแต่งตั้ง เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการโอน/เปลี่ยนแปลง
4. ให้กรมประมงนำข้อมูลประเภท ขนาด และจำนวนเรือ เครื่องมือประมงที่เหมาะสม ไปพิจารณาร่วมกับการแบ่งเขตทำการประมง ตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้ ศรชล. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตรวจเรือประมง โดยเสนอให้ที่ประชุมทราบในการประชุมครั้งต่อไป
5. ให้กรมประมงชี้แจงและตักเตือนเรือประมงที่ลักลอบเข้าไปทำการประมงนอกน่านน้ำ ซึ่งตรวจพบโดยการติดตามสถานการณ์ ผ่าน VMS
6. ให้ ส่วนเลขานุการ ศปมผ. ตรวจสอบข้อกำหนดต่าง ๆ ที่กำหนดเวลาแล้วเสร็จของการดำเนินงานแล้วแจ้งเตือนให้ที่ประชุมทราบเป็นระยะ
7. ส่วนเลขานุการ ศปมผ. เสนอคำสั่ง ศปมผ. เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับจังหวัด เพื่อบูรณาการบังคับใช้กฎหมายรื้อถอน โพงพาง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานประมงจังหวัด เป็นเลขานุการ และให้ ศรชล. เขต ให้การสนับสนุนด้านกำลัง
8. ให้ “กรมประมง” กำหนดจำนวนวันเพื่อลดการลงแรงทำประมงของเรืออวนลากและอวนล้อมในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน มีผลตั้งแต่ 1 ก.ย. 58 และให้กรมประมงหารือกับสหภาพยุโรปให้ได้ข้อสรุป อาจมีการเปลี่ยนแปลง
9. ให้ กระทรวงการต่างประเทศ นำข้อมูลการปรับลดเวลา การลงแรงประมง เพื่อให้สอดคล้องกับ ค่า MSY เสนอให้ ผู้แทนฯ ณ กรุงบรัสเซลส์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเจรจา และประชาสัมพันธ์กับประเทศใน สหภาพยุโรป
10. ให้ส่วนเลขานุการ ศปมผ. ปรับแก้ไขมติที่ประชุม ศปมผ. ครั้งที่ 14/2558 โดยให้ลดวันทำการประมงของเรืออวนล้อม ในอ่าวไทย จาก 8 วัน/เดือน เป็น 9 วัน/เดือน
11. ให้คณะทำงานต่าง ๆ ที่ต้องจัดส่งเอกสารให้ สหภาพยุโรป บรรยาย กรอบงาน และแนวทางการดำเนินการของแต่ละด้าน ความยาวประมาณ 15 นาที ในการประชุมครั้งต่อไป
12. ให้กรมประมง/กระทรวงการต่างประเทศ มีหนังสือเสนอต่อประเภทเพื่อนบ้านเพื่อทำความเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติ ในการนำเรือประมงเข้าเทียบท่าเรือในประเทศไทย
13. ให้คณะทำงานปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับปรับการดำเนินการเรื่องการออกเอกสารกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (MCPD)
14. ให้คณะทำงานจัดทำระบบติดตามเรือรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จาก VMS ของเรือประมงนอกน่านน้ำว่ามีพฤติกรรมอย่างไรบ้างผ่าน เสธ. ศปมผ.
15. ให้คณะทำงานพัฒนาระบบงานทะเบียนและบันทึกข้อมูลเรือประมง ศึกษารายละเอียดพร้อมงบประมาณในการดำเนินการและเสนอที่ประชุม