xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมประมงภูเก็ตขอรัฐนิรโทษกรรมอาชญาบัตรเรืออวนลากใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เรือประมงฝั่งอันดามันกว่าครึ่งติดปัญหาอาชญาบัตร ด้านสมาคมประมงภูเก็ต ขอรัฐนิรโทษกรรมอาชญาบัตรเรืออวนลากใหม่ ให้สามารถทำประมงได้เหมือนเดิม

วันนี้ (1 ก.ค.) ที่โรงแรม รอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต พล.ร.ท.สายันต์ ประสงค์สำเร็จ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 เป็นประธานการประชุมเรื่อง การกำหนดแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายการทำประมงผิดกฎหมาย IUU Fishing ในพื้นที่ ศรชล.เขต 3 ที่มีการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ 1 ก.ค.58 เป็นต้นไป รวมทั้งพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป โดยมีตัวแทนจากสมาคมประมง ผู้ประกอบการ เจ้าของท่าเรือ และแพปลาต่าง ตลอดจนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต หน่วยสืบสวนปราบปรามภูเก็ต กรมศุลกากร ด่านศุลกากร ฯลฯ ร่วมประชุม

โดยทางสมาคมประมงแต่ละหน่วยได้ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเรื่องผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย และการพิจารณาจำนวนลูกเรือประมงทำการประมงในทะเล ขณะที่เจ้าท่าฯ ชี้แจงเรื่องการกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรือ TAI SHAN และศูนย์ PIPO ได้ชี้แจงเรื่องการกำหนดตำบลท่าเรือที่ใช้เป็นจุดในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ PIPO

พล.ร.ท.สายันต์ ประสงค์สำเร็จ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหา IUU ในพื้นที่ ศรชล.เขต 3 และกำหนดแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายที่จะต้องดำเนินการตามนโยบายของศูนย์บัญชากรแก้ไขปัญหาการปฏิบัติการการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ที่กำหนดให้มีการบังคับใช้กฎหมายการทำประมงอย่างจริงจัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.58 เป็นต้นไป ตามโรดแมปการแก้ปัญหาการทำประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายขั้นตอนที่ 2 ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมา ในส่วนของการสำรวจจำนวนเรือ และการขึ้นทะเบียนเรือประมง โดยกรมเจ้าท่า สามารถดำเนินการไปได้ด้วยดี
 
แต่ที่มีปัญหาคือ อาชญาบัตรการทำประมง ที่ดำเนินการโดยกรมประมง ปรากฏว่าจำนวนเรือที่ทำประมงอยู่จริงในทะเลอันดามันมีมากกว่าที่ขึ้นทะเบียนต่อกรมเจ้าท่า โดยเรือประมงขนาดใหญ่เกิน 30 ตันกรอส ที่ขึ้นทะเบียนต่อกรมเจ้าท่ามีประมาณ 900 ลำ แต่จากการสำรวจจริงที่ทำประมงอยู่จริงมีประมาณ 1,200 ลำ และไม่น้อยกว่า 90% มาขึ้นทะเบียนแล้ว และพบว่า จำนวนเรือที่เกิน 30 ตันกรอส มีปัญหาเรื่องอาญชาบัตรการทำประมงไม่ตรงกับที่ประเภทประมงที่ทำอยู่ในขณะนี้ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 500 ลำ และขณะนี้เรือที่ไม่มีอาชญาบัตรและอาชญาบัตรไม่ตรงกับประเภทประมง รวมทั้งมีบางส่วนที่ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ไม่กล้าที่จะออกไปทำประมง เนื่องจากโทษที่กำหนดตาม พ.ร.บ.ประมง พ.ศ.2558 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2558 ที่ผ่านมา บทลงโทษค่อนข้างที่จะสูง เรือเหล่านี้จะออกทำประมงก็ต่อเมื่อมีการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวให้หมดไปก่อน

ส่วนปัญหาแรงงานในภาคการประมงนั้น ที่ประชุมได้มีการหารือในเรื่องนี้เป็นประเด็นหลักๆ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลการใช้แรงงานในภาคการประชุมที่ชัดเจน และสมดุลต่อจำนวนเรือ ซึ่งเรื่องนี้ได้ฝากให้กรมการปกครอง และกรมแรงงานในการเชื่อมฐานข้อมูลให้มีความชัดเจนต่อไป เพื่อให้ทราบจำนวนแรงงานต่างด้าวในภาคการประมงมีความชัดเจน แก้ปัญหาการร้องขอเรื่องการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในภาคการประมง

อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมศูนย์บัญชากรแก้ไขปัญหาการปฏิบัติการการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ซึ่งทาง ศรชล.เขต 3 จะนำปัญหาการทำประมงของฝั่งอันดามัน 2 เรื่องหลักๆ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ที่มีผู้บัญชาการกองทัพเรือ เป็นประธาน คือ ปัญหาแรงงานในภาคประมง และปัญหาอาชญาบัตรเรือประมงที่ยังไม่ถูกต้องต่อไป

ขณะที่ นายสมยศ วงศ์บุญยกุล นายกสมาคมประมงจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายประมงตามนโยบายของ ศปมผ.หลังมีการกำหนดให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อเรือประมงผิดกฎหมาย หรือผิดประเภท ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.58 เป็นต้นไป ว่า ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือ เรื่องอาชญาบัตร เพราะใบอนุญาตใช้เรือ ทะเบียนเรือ ใบประกาศนียบัตรช่างเครื่อง นายท้ายเรือ ทางกรมเจ้าท่าได้อำนวยความสะดวกมาก ให้รีบดำเนินการทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทุกอย่างทำได้หมด ยกเว้นเรื่องของอาชญาบัตร ซึ่งทางสมาคมประมงแห่งประเทศไทยก็พยายามผลักดันเรื่องนี้ว่าจะให้ผู้ประกอบการเรือประมงทำอย่างไรต่อไปในเมื่อรัฐบาลมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ไม่มีการผ่อนผันแต่อย่างใด โดยในส่วนของภูเก็ตมีเรือประมงที่ติดปัญหาอาชญาบัตรซึ่งเป็นเรืออวนลากประมาณกว่า 100 ลำ ต้องหยุดออกทำการประมงชั่วคราว ตรงส่วนนี้จะกระทบต่อแรงงานประมาณ 800 คน ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปยังแรงงานที่อยู่บนฝั่งอย่างแพปลาด้วย

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาให้แก่เรือประมงอวนลากที่ยังออกใบอาชญาบัตรให้ไม่ได้นั้น ซึ่งเป็นอาชญาบัตรที่ปิด เนื่องจากมีเครื่องมือที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ต้องเป็นระดับนโยบายว่า รัฐจะนิรโทษกรรมอาชญาบัตรเรืออวนลากใหม่ให้เราหรือไม่ ก็ต้องฝากความหวังไว้ที่ภาครัฐ เพื่อให้เรือประมงเหล่านี้สามารถออกทำการประมงได้เหมือนเดิมต่อไป ซึ่งตอนนี้เรือประมงที่ติดปัญหาทั้งหมดได้ไปจอดอยู่ที่บริเวณเกาะตะเภาน้อย ตามที่ทางกรมเจ้าท่ากำหนดให้นำเรือไปจอด เพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจรทางน้ำ





 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น