ปัตตานี - ชาวประมงนับพันนำเรือเข้าท่าเทียบเรือปัตตานี หวังรอดูท่าทีที่ชัดเจนของกฎหมายการประมง ขณะเดียวกัน นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย จัดประชุมชาวประมงรับมือมาตรการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการทำประมง
วันนี้ (1 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีการบังคับใช้กฎหมายประมงอย่างจริงจัง ทำให้บรรยากาศที่บริเวณท่าเทียบเรือประมงปัตตานี ผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ และขนาดกลางทยอยนำเรือเข้ามาจอดสองฟากฝั่งแม่น้ำปัตตานี และบริเวณที่จอดเรือประมงของท่าเรือปัตตานีจำนวนกว่าพันลำ เพื่อหาท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายการทำประมง จึงต้องเข้ามาเพื่อรวมตัวหามาตรการที่ชัดเจน เพื่อให้เห็นถึงความเดือดร้อนของชาวประมง
ขณะเดียวกัน ที่ห้องประชุมสมาคมประมงจังหวัดปัตตานี นายภูเบศน์ จันทนิมิ นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ได้จัดประชุมสมาชิกสมาคมฯ โดยมี น.ท.มงคล อุปถัมภ์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกจังหวัดปัตตานี นายวัชรินทร์ รักษ์ยอดจิตร ประมงจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยตัวแทนตำรวจน้ำ กรมเจ้าท่า กรมการปกครอง ตลอดจนตัวแทนชาวประมง และเจ้าของเรือประมงกว่า 100 คน เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังข้อกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับการทำประมง เพื่อให้ถูกต้อง สามารถออกทำการประมงได้อย่างปกติ
ที่ประชุมได้แจ้งให้ชาวประมงทราบถึงกฎหมายจะต้องเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ เรามีการดำเนินการอย่างง่าย แต่ครั้งนี้จะต้องช่วยกัน โดยสรุปมี 4 ประเด็นหลัก คือ ดำเนินการทำอาชญาบัตรให้ถูกต้อง ให้มีการติดตั้ง VMS หรือกล่องดำกับเรือที่มีขนาดขนาด 30-60 ตันกรอสภายใต้กฎหมายกรมประมง และเรือขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไป ภายใต้กฎหมายกรมเจ้าท่า พร้อมให้มีอุปกรณ์เซฟตี้ในเรือ ทั้งเครื่องดับเพลิง อุปกรณ์ช่วยชีวิต และสุดท้ายหนังสือทำงานในเรือประมง สัญญาจ้างต่างๆ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยเช่นกัน
โดยในการประชุมได้ระบุว่า ทางชาวประมงไม่ได้ห่วงเรื่องอาชญาบัตร เพราะส่วนใหญ่ทำกันอยู่แล้ว มีบางส่วนที่ยังไม่ได้ทำ แต่สิ่งที่ชาวประมงกังวลเกี่ยวกับเรื่องการทำประมงนอกน่านน้ำ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งจะสามารถดำเนินการอย่างไร VMS หรือกล่องดำ เมื่อเข้าประเทศอื่นจำต้องมีกล่องดำอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมชี้แจงว่า ที่ผ่านมา เราทำประมงร่วมกับต่างประเทศผิดกฎหมาย เพราะทำกันเองโดยผ่านนายหน้าที่ทำตั๋ว แต่ครั้งนี้จะต้องมีการดำเนินการขออนุญาตต่อกรมประมงต่างประเทศของไทย โดยให้ทำหนังสือผ่านประมงจังหวัดและจะส่งเรื่องให้เขาดำเนินการจึงจะถูกต้อง
ซึ่งการประชุมครั้งนี้บรรดาชาวประมง และเจ้าของเรือประมงพอใจในระดับหนึ่งและแยกย้ายกัน แต่ในวันที่ 3 ก.ค.นี้ อาจจะต้องมารวมตัวกันอีกครั้งที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี เพื่อแสดงจุดยืนอีกครั้งหนึ่ง