สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประเด็นใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ที่ถูกปล่อยตัวชั่วคราว “วิษณุ” แจงผู้ต้องหาต้องได้รับความยินยอม 3 เงื่อนไข หวังช่วยเหลือพวกหาเงินประกันได้ไม่ทัน หากอุปกรณ์ถูกทำลายสันนิษฐานได้ว่าหลบหนี ยันแค่รู้สถานที่อยู่ไม่ได้ดูแบบเรียลิตีโชว์ ด้าน สนช.รับหลักการวาระแรกด้วยคะแนน 171 ต่อ 1 งดออกเสียง 5
วันนี้ (6 ส.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฉบับที่ ... ในวาระที่ 1 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ที่ถูกปล่อยตัวชั่วคราว หลักเกณฑ์การบังคับคดีผู้ประกัน และการอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ปัจจุบันมีการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring) หรืออีเอ็ม มาใช้ในการบังคับตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงสมควรให้นำไปใช้ในการติดตามตัวผู้ถูกปล่อยชั่วคราว และมิให้เรียกหลักประกันเกินสมควร เพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยมีโอกาสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมากขึ้น ทั้งนี้การจะนำอุปกรณ์ไปใช้จะต้องได้รับการยินยอมใน 3 เงื่อนไข คือ 1. กฎหมายบัญญัติให้ใช้ 2. เจ้าหน้าที่หรือศาลเห็นสมควรให้ใช้ และ 3. ผู้ต้องหาหรือจำเลยยินยอมให้ใช้ ซึ่งหากไม่ยอมรับในเงื่อนไขนี้ก็สามารถดำเนินการตามวิธีการอื่น นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังบัญญัติให้มีงดการบังคับตามสัญญาประกันหรือลดจำนวนเงินที่ต้องใช้ ตามสัญญาประกันอีกด้วย เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาที่ไม่สามารถหาเงินจ่ายค่าประกันตนได้ทันท่วงที
นายวิษณุกล่าวว่า นอกจากนี้หากมีการทำลายอุปกรณ์หรือทำให้ใช้การไม่ได้ให้สันนิษฐานว่าผู้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นหนีหรือจะหลบหนี จากนั้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือศาลควบคุมตัว หรือกรณีที่อุปกรณ์ชำรุดให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยรีบรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ หรือศาล เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันกรมควบคุมการประพฤติได้มีการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวกว่า 3,000 เครื่องแล้ว จึงเห็นควรนำมาใช้กับผู้ต้องหาและจำเลย เพราะจะทำให้การติดตามตัวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกันได้สิทธิปล่อยตัวชั่วคราว ฉะนั้นจึงต้องแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 108 วรรคสาม และเพิ่มมาตรา 117 วรรคสอง เพื่อบัญญัติหลักเกณฑ์เหล่านี้ไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม สมาชิก สนช.ได้อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ เนื่องจากผู้ต้องหาสามารถที่มีภาระครอบครัวสามารถกลับมาดูแลครอบครัวได้ อีกทั้งยังเป็นการลดจำนวนผู้ต้องหาล้นคุกได้ แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เมื่อออกมาแล้วจะใช้กับบุคคลประเภทไหนยังไม่ชัดเจน รวมถึง หากใช้กับเด็กและเยาวชนจะไม่เหมาสม และหากใช้เครื่องนี้ติดกับผู้ต้องหาที่ถูกปล่อยตัวชั่วคราวก็จะกลายเป็นการประจานบุคคล นอกจากนี้จะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือไม่ เพราะมีการเฝ้าดูติดตามการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ต้องหา
ด้านนายวิษณุกล่าวว่า อุปกรณ์อีเอ็มใช้เฉพาะการติดตามตัวผู้ต้องหาเท่านั้นว่าอยู่สถานที่ใด ไม่ได้ดูผู้ต้องหาทุกวินาทีเหมือนรูปแบบอคาเดมี แฟนเทเชีย หากผู้ต้องหาทำลายหรือปลดอีเอ็มออกก็จะรู้ทันทีว่า ผู้ต้องหาหลบหนี ในส่วนที่กังวลเกี่ยวกับว่าจะเป็นการประจานนั้น อุปกรณ์นี้ในร่าง พ.ร.บ.เขียนว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรืออุปกรณ์อื่นใดซึ่งเป็นการเปิดกว้างซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จะมีการปรับเปลี่ยนรูปทรงของอุปกรณ์ให้เป็นที่ทันสมัย เล็ก จนไม่สังเกตได้ว่าเป็นอุปกรณ์ตามตัวผู้ต้องหา ที่สำคัญหลักการสำคัญคือ ผู้ต้องหาที่จะติดอุปกรณ์อีเอ็มนี้ต้องได้รับความยินยอมใน 3 เงื่อนไขที่กล่าวมาแล้ว
จากนั้นที่ประชุมได้ลงลงมติรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในวาระแรก 171 คะแนน ไม่เห็นด้วย 1 คะแนน และงดออกเสียง 5 คะแนน และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 15 คน แปรญัตติภายใน 7 วัน