ประชุม สปช.พิจารณารายงาน กมธ.ปฏิรูปสังคม ปฏิรูปสลาก เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม พร้อมร่าง พ.ร.บ.กิจการสลาก แจงปรับหารายได้ให้แผ่นดินเป็นสังคม เสริมบทบาทประชาชน พร้อมตั้งเป็นบริษัทจำกัด คลังถือหุ้นทั้งหมด เชื่อแก้หวยแพง กันผู้มีอิทธิพลหาประโยชน์ ช่วยสังคม ก่อนถูก สปช.บางส่วนค้าน ชี้มีวาระซ่อนเร้น กมธ.โต้ปัดหมกเม็ด ก่อนขอถอนญัตติเพื่อความรอบ ฝากสภาขับเคลื่อนสานต่อแทน
วันนี้ (5 ส.ค.) ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในแผนปฏิรูปวาระเพิ่มเติม เรื่องแนวทางการปฏิรูปสลากเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม และร่าง พ.ร.บ.กิจการสลากเพื่อสังคม พ.ศ. ... โดยนายอำพล จินดาวัฒนะ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้รายงานว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้มีการเสนอให้ปรัชญาการออกสลากตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 ที่มุ่งแสวงหารายได้ของแผ่นดิน มาเป็นสลากเพื่อสังคม และสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม และพลังพลเมือง โดยนำเงินจากสลากส่วนหนึ่ง มาจัดตั้งเป็นกองสลากวิสาหกิจเพื่อสังคม ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และนำเงินรางวัลที่ไม่มีผู้รับตามกฎหมายกำหนด ส่งให้เป็นรายได้ของกองทุน เพื่อจะได้นำมาส่งเสริมบทบาทของประชาชน กลุ่มภาคประชาสังคม และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถพึ่งตนเองได้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ป้องกันหรือลดผลกระทบจากการพนัน และช่วยลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน อีกทั้งยังแก้ปัญหาธรรมาภิบาลและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสำนักงานสลากฯ โดยจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด ที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด คาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคา การจัดโควตาในระยะยาว มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค และแก้ปัญหาการครอบงำของนักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ และผู้มีอิทธิพลที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอให้มีการปฏิรูปโครงการการบริหารจัดการสลาก โดยให้แยกอำนาจการกำกับไปให้ “องค์การสลากแห่งประเทศไทย” แทน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และตั้งคณะกรรมการ 2 คณะ คือ คณะกรรมการบริหาร องค์การสลากแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกองทุนสลากวิสาหกิจเพื่อสังคม มีอำนาจบริหารกองทุน และให้ยกเลิกมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 เพื่อกำหนดสัดส่วนการจัดสรรรายได้จากการจำหน่ายสลาก ดังนี้ 1. ร้อยละ 60 ของรายได้เป็นเงินรางวัล 2 ไม่เกินร้อยละ 15 ของรายได้ เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและจำหน่ายสลาก 3 ร้อยละ 10 ของรายได้เป็นภาษีสลาก และ 4 เงินที่เหลือไม่น้อยกว่า ร้อยละ 15 เป็นเงินนำส่งกองทุนสลากวิสาหกิจเพื่อสังคม
นอกจากนี้ยังกำหนดการใช้เงินในกองทุนดังกล่าวว่าไม่เกินร้อยละ 30 อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เช่น ใช้ในการคุ้มครองเด็ก กองทุนผู้สูงอายุ เป็นต้น ไม่เกินร้อยละ 30 ให้กองทุนอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งไปใช้ในด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และไม่เกินร้อยละ 40 ให้นำไปใช้ในกิจกรรมพัฒนาสังคม เช่น ป้องกันหรือแก้ปัญหาจากการพนัน และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการพนัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิก สปช.บางส่วนได้อภิปรายไม่เห็นด้วยกับรายงานดังกล่าว อาทิ นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับหลักการช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ แต่เกรงว่าจะขัดหลักการของ สปช. เพราะการเสนอรายงานดังกล่าวเป็นการสอดแทรกเข้ามา เพราะก่อนหน้านี้ได้ข้อสรุปว่าจะรับข้อคิดเห็นของสมาชิกไปปรับปรุง แต่กลับมีการสอดแทรกเรื่องนี้ พฤติกรรมไม่ต่างจากการเสนอเรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน อีกทั้งไม่ใช่หน้าที่ของ สปช.ที่จะเสนอเรื่องเกี่ยวกับการเงิน การที่กรรมาธิการต้องการหาเงินช่วยเหลือสังคม ผู้ด้อยโอกาสถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีวิธีการอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การจัดตั้งกาสิโน แล้วนำเงินรายได้ช่วยเหลือ แต่การมีวาระซ่อนเร้นโดยการตั้งบริษัทขึ้นมา ตนถือว่าเป็นการปล้นเพราะเป็นการยุบองค์กรเก่าเพื่อตั้งองค์กรใหม่ อีกทั้ง คสช.ก็ได้มีคำสั่งแก้ปัญหาสลากกินแบ่งฯ เรียบร้อยแล้ว และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยกำชับการทำงานของ สปช.ว่าอย่าทำสิ่งที่ซ้ำซ้อนกับสิ่งที่รัฐบาลทำ
ด้านนายอำพลกล่าวชี้แจงว่า ญัตติเรื่องนี้ได้รับการเสนออย่างถูกต้องต้องตามระเบียบ ไม่มีการหมกเม็ด โดยอยากให้ สปช.เป็นสภาปฏิรูปอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีการใช้คำพูดเชือดเฉือนกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรอบคอบจึงขอถอนญัตติเรื่องนี้กลับไปพิจารณาใหม่ แต่ สปช.จะหมดใกล้หมดวาระคงไม่สามารถพิจารณาได้ทัน จึงขอฝากให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปผลักดันเรื่องนี้ต่อไป
ขณะที่นายเกรียงไกรได้ลุกขึ้นขอใช้สิทธิพาดพิงชี้แจงว่า ตัวเองไม่มีเจตนาให้ร้าย แต่ที่ใช้ถ้อยคำเปรียบเปรยนั้นเนื่องจากไม่เห็นญัตตินี้ในการพิจารณาครั้งแรก แต่จู่ๆ กลับโผล่มาในการพิจารณาครั้งนี้ แต่เมื่อนายอำพลชี้แจงอธิบายก็เข้าใจและต้องกราบขอโทษหมออำพล และประธาน สปช.ด้วยความจริงใจ
จากนั้นนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช.ได้ถามสมาชิกว่ามีความเห็นคัดค้านกับการขอถอนญัตติหรือไม่ โดยที่ประชุมไม่มีใครเห็นค้านจึงได้ข้อสรุปให้ถอนรายงานดังกล่าวออกไป