xs
xsm
sm
md
lg

ผงะ! ค่าโดยสารใหม่แท็กซี่สตาร์ทสูงสุด 50-100 บาท วัดดวง “ประจิน” เคาะ - รถใช้ได้แค่ 9 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ออกแล้วกฎกระทรวงคมนาคม! แท็กซี่กรุงเทพฯ มีลุ้นค่าโดยสารพุ่งสูงสุดสตาร์ทที่ 50 บาท ขับต่อกิโลละ 12 บาท รถติดนาทีละ 3 บาท ส่วนต่างจังหวัดโหดกว่า สตาร์ท 2 กิโลเมตร 100 บาท ไปต่อ กม.ละ 20 บาท รถติดนาทีละ 5 บาท ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเมื่อไหร่ก็ได้ หลังมีผลใน 30 วัน ส่วนคนขับ-เจ้าของรถ เจอคุมเข้ม รถใหม่วิ่งได้แค่ 9 ปี หมดอายุต้องกระจกใส

วานนี้ (29 ก.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 (2) (3) และ (10) แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2542 และมาตรา 5 (14) แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2547 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 6 แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ 6 รถยนต์รับจ้างต้องไม่ติดตั้งระบบป้องกันการเปิดประตูรถจากภายในและกระจกกันลมทุกด้านต้องเป็นกระจกที่โปร่งใสสามารถมองเห็นสภาพภายในรถและสภาพการจราจรภายนอกรถได้ชัดเจน และห้ามมิให้นําวัสดุอื่นใดมาติดหรือบังส่วนหนึ่งส่วนใดของกระจก เว้นแต่เป็นการติดเครื่องหมาย หรือเอกสาร ตามที่กฎหมายกําหนด หรือการติดวัสดุสําหรับบังหรือกรองแสงแดดที่กระจกกันลมด้านหน้าตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกําหนด”

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 9 แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ 9 รถยนต์รับจ้างต้องมีและใช้เครื่องสื่อสารตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมตามแบบหรือชนิดที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเครื่องสื่อสารประเภทอื่น ที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ”

ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในข้อ 10 แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550

ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในข้อ 14 แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ 14 รถยนต์รับจ้างตามกฎกระทรวงนี้ ให้มีอายุการใช้งานได้ไม่เกินเก้าปี นับแต่วันที่รถยนต์นั้นจดทะเบียนครั้งแรก ในกรณีที่รถยนต์รับจ้างครบอายุการใช้งานตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าของรถมีหน้าที่ส่งคืนแผ่นป้ายทะเบียนรถต่อนายทะเบียนและนําใบคู่มือจดทะเบียนรถมาแสดงต่อนายทะเบียนเพื่อบันทึกหลักฐาน การระงับทะเบียนหรือเปลี่ยนประเภทรถภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ครบอายุการใช้งาน”

ข้อ 6 ให้ยกเลิกความในข้อ 15 แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ 15 ให้รัฐมนตรีมีอํานาจกําหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสําหรับรถยนต์รับจ้าง และค่าบริการอื่น ดังต่อไปนี้ (1) ค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารให้กําหนดโดยถือเกณฑ์ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรกไม่เกิน 50 บาทและกิโลเมตรต่อๆ ไป ไม่เกินกิโลเมตรละ 12 บาท ในกรณีที่ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติวิสัยในอัตรานาทีละไม่เกิน 3 บาท (2) ค่าบริการอื่น ให้กําหนด ดังต่อไปนี้ (ก) กรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารหรือระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ของผู้รับจ้างกําหนดได้ไม่เกิน 50 บาท (ข) กรณีการจ้างจากท่าอากาศยานหรือสถานที่ที่กระทรวงคมนาคมประกาศกําหนด โดยรถยนต์รับจ้างนั้นจอดรอคนโดยสารอยู่ในสถานที่ดังกล่าว ณ จุดที่ได้จัดไว้เป็นการเฉพาะกําหนดได้ ไม่เกิน 100 บาท การกําหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา การเรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารให้เรียกเก็บตามจํานวนเงินรวมที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสาร ส่วนในกรณีที่มีการเรียกเก็บค่าบริการอื่น ให้เรียกเก็บเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารดังกล่าว”

ข้อ 7 รถยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ให้มีอายุ การใช้งาน ดังต่อไปนี้ (1) รถยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ถึงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ให้มีอายุการใช้งานสิบสองปีนับแต่วันที่รถยนต์นั้นจดทะเบียนครั้งแรก (2) รถยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ถึงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ให้มีอายุการใช้งานต่อไปได้จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ให้ไว้ ณ วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นอกจากนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษายังได้ออกประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่จดทะเบียนในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2558 โดยมีเนื้อหาที่แตกต่าง อาทิ ข้อ 3 ในกฎกระทรวงนี้ “รถยนต์รับจ้าง” หมายความว่า รถยนต์รับจ้างประเภทรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร ไม่เกินเจ็ดคน (TAXI-METER) ข้อ 4 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับแก่รถยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร

ข้อ 5 รถยนต์รับจ้างต้องเป็นเก๋งสองตอน รถเก๋งสองตอนแวน รถเก๋งสามตอน รถเก๋งสามตอนแวน รถยนต์นั่งสองตอน รถยนต์นั่งสองตอนแวน รถยนต์นั่งสามตอน รถยนต์นั่งสามตอนแวน หรือรถลักษณะอื่นตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ต้องมีประตูไม่น้อยกว่าสี่ประตู ความกว้างไม่เกิน 2.50 เมตร ความยาวไม่เกิน 6 เมตร ความสูงไม่เกิน 2 เมตรและเครื่องยนต์ต้องมีความจุของกระบอกสูบรวมกันไม่ต่่ำกว่า 1,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร ในกรณีที่รถยนต์รับจ้างเป็นรถยนต์นั่งสองตอน รถยนต์นั่งสองตอนแวน รถยนต์นั่งสามตอนหรือรถยนต์นั่งสามตอนแวน เบาะนั่งต้องมีระยะห่างจากพื้นถึงส่วนบนสุดของเบาะนั่งไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตร และมีระยะห่างจากส่วนต่ำสุดของเบาะนั่งถึงเพดานไม่น้อยกว่า 85 เซนติเมตร

ข้อ 7 รถยนต์รับจ้างอาจติดตั้งอุปกรณ์กั้นระหว่างที่นั่งผู้ขับรถกับคนโดยสารภายในห้องโดยสารก็ได้ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของผู้ขับรถหรือคนโดยสาร ให้นายทะเบียนมีอํานาจกําหนดให้รถยนต์รับจ้างตามข้อ 5 ประเภทใดต้องติดตั้งอุปกรณ์ตามวรรคหนึ่งได้ ทั้งนี้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาคุณลักษณะ วิธีการติดตั้ง และแบบของอุปกรณ์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกกําหนดหรือให้ความเห็นชอบ

ข้อ 8 รถยนต์รับจ้างต้องมีและใช้มาตรค่าโดยสาร โดยติดตั้งไว้ด้านซ้ายของผู้ขับรถมาตรค่าโดยสารตามวรรคหนึ่งต้องเป็นแบบหรือชนิดที่แสดงจํานวนเงินค่าโดยสารได้ตามอัตราระยะทาง และระยะเวลาที่กําหนดไว้ในข้อ 17 และได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก

ข้อ 9 รถยนต์รับจ้างอาจมีและใช้เครื่องสื่อสารตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมตามแบบหรือชนิดที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเครื่องสื่อสารประเภทอื่นที่กรมการขนส่งทางบก ให้ความเห็นชอบก็ได้รถยนต์รับจ้างที่มีและใช้เครื่องสื่อสารตามวรรคหนึ่ง ต้องแสดงเครื่องหมายการใช้เครื่องสื่อสาร ณ ที่ที่คนโดยสารเห็นได้ชัดเจน ทั้งนี้ ตามลักษณะ ขนาด และตําแหน่งตามที่นายทะเบียนประกาศกําหนด

ข้อ 10 รถยนต์รับจ้างให้ใช้สี ดังต่อไปนี้ (1) รถยนต์รับจ้างของบุคคลธรรมดา ให้ใช้สีแดงและสีเหลืองเป็นสีของตัวถังรถ ดังต่อไปนี้ (ก) สีแดงให้เริ่มตั้งแต่ด้านล่างสุดของตัวถังรถจนถึงที่ปิดเปิดประตูเป็นแนวขนานกับพื้นตลอดรอบตัวรถ (ข) สีเหลืองให้เริ่มถัดต่อจากสีแดงตาม (ก) จนถึงด้านบนของหลังคารถ (2) รถยนต์รับจ้างของนิติบุคคล ให้ใช้สีน้ำเงินและสีเหลืองเป็นสีของตัวถังรถ ดังต่อไปนี้ (ก) สีน้ำเงินให้เริ่มตั้งแต่ด้านล่างสุดของตัวถังรถจนถึงที่ปิดเปิดประตูเป็นแนวขนานกับพื้นตลอดรอบตัวรถ (ข) สีเหลืองให้เริ่มถัดต่อจากสีน้ำเงินตาม (ก) จนถึงด้านบนของหลังคารถ การแก้ไขทะเบียนเปลี่ยนประเภทรถยนต์รับจ้างเป็นรถยนต์ประเภทอื่นต้องเปลี่ยนสีของตัวถังรถ และต้องไม่มีลักษณะเหมือนกับที่กําหนดไว้ในวรรคหนึ่ง

ข้อ 11 รถยนต์รับจ้างต้องมีเครื่องหมายเป็นอักษรโรมันว่า “TAXI-METER” อยู่ภายในกรอบสีเหลือง ขนาดไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร × 15 เซนติเมตร ติดตรึงไว้แนวนอนบนหลังคารถ ให้เห็นได้จากทางหน้ารถ ตัวอักษรคําว่า “TAXI-METER” ให้ใช้สีดํามีขนาดสูงไม่น้อยกว่า 7 เซนติเมตรเส้นของตัวอักษรหนาไม่น้อยกว่า 1.20 เซนติเมตร และให้มีแสงไฟพร้อมด้วยกรอบที่บังคับแสงให้เห็นเครื่องหมายนี้ได้ชัดเจนในเวลากลางคืน และเครื่องหมายอื่น ตามลักษณะ ขนาด และตําแหน่งตามระเบียบที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกําหนดการแก้ไขทะเบียนเปลี่ยนประเภทรถยนต์รับจ้างเป็นรถยนต์ประเภทอื่นต้องนําเครื่องหมาย ตามวรรคหนึ่งออก

ข้อ 12 ในกรณีที่ผู้ขับรถยนต์รับจ้างไม่ประสงค์จะทําการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารในช่วงระยะเวลาใด ให้แสดงเครื่องหมายงดรับจ้างบรรทุกคนโดยสารไว้ที่หน้ารถด้านซ้ายของผู้ขับรถ โดยให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากภายนอกรถทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนของช่วงระยะเวลานั้นเครื่องหมายงดรับจ้างบรรทุกคนโดยสารตามวรรคหนึ่ง ต้องมีลักษณะเป็นแผ่นป้ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีพื้นสีขาวขนาดไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร × 22 เซนติเมตร และมีเส้นกรอบสีแดงหนาไม่น้อยกว่า 0.5 เซนติเมตร ตรงกลางมีตัวอักษรสีแดงคําว่า “งดรับจ้าง” ขนาดสูงไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตรและเส้นของตัวอักษรหนาไม่น้อยกว่า 0.6 เซนติเมตร

ข้อ 13 รถยนต์รับจ้างตามกฎกระทรวงนี้ ให้มีอายุการใช้งานได้ไม่เกินเก้าปีนับแต่วันที่รถยนต์นั้นจดทะเบียนครั้งแรกในกรณีที่รถยนต์รับจ้างครบอายุการใช้งานตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าของรถมีหน้าที่ส่งคืนแผ่นป้ายทะเบียนรถต่อนายทะเบียนและนําใบคู่มือจดทะเบียนรถมาแสดงต่อนายทะเบียนเพื่อบันทึกหลักฐานการระงับทะเบียนหรือเปลี่ยนประเภทรถภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ครบอายุการใช้งาน

ข้อ 14 ให้รัฐมนตรีมีอํานาจกําหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสําหรับรถยนต์รับจ้างและค่าบริการอื่น ดังต่อไปนี้ (1) ค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารให้กําหนดโดยถือเกณฑ์ระยะทาง ๒ กิโลเมตรแรกไม่เกิน 100 บาท และกิโลเมตรต่อๆ ไป ไม่เกินกิโลเมตรละ 20 บาท ในกรณีที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติวิสัยในอัตรานาทีละไม่เกิน 5 บาท (2) ค่าบริการอื่น ให้กําหนด ดังต่อไปนี้ (ก) กรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารหรือระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ของผู้รับจ้าง กําหนดได้ไม่เกิน 50 บาท (ข) กรณีการจ้างจากท่าอากาศยานหรือสถานที่ที่กระทรวงคมนาคมประกาศกําหนด โดยรถยนต์รับจ้างนั้นจอดรถรอคนโดยสารอยู่ในสถานที่ดังกล่าว ณ จุดที่ได้จัดไว้เป็นการเฉพาะกําหนดได้ไม่เกิน 150 บาท (ค) กรณีการจ้างในเวลากลางคืนตามที่กระทรวงคมนาคมประกาศกําหนด กําหนดได้ไม่เกิน 100 บาทการกําหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่นตามวรรคหนึ่งให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา การเรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารให้เรียกเก็บตามจํานวนเงินรวมที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสาร ส่วนในกรณีที่มีการเรียกเก็บค่าบริการอื่น ให้เรียกเก็บเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารดังกล่าว

ข้อ 15 ให้เจ้าของรถยนต์รับจ้างติดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่นตามข้อ 14 ในรถ ณ ที่ที่คนโดยสารเห็นได้ชัดเจน ทั้งนี้ ตามลักษณะ ขนาด และตําแหน่งที่นายทะเบียนประกาศกําหนด

ข้อ 16 ให้รถยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ให้มีอายุการใช้งาน ดังต่อไปนี้ (1) รถยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2546 ถึงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ให้มีอายุการใช้งานสิบสองปีนับแต่วันที่รถยนต์นั้นจดทะเบียนครั้งแรก (2) รถยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ถึงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ให้มีอายุการใช้งานต่อไปได้จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ข้อ 17 กฎกระทรวงนี้มิให้ใช้บังคับแก่รถยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2537 เว้นแต่เจ้าของรถยนต์รับจ้างนั้นมีความประสงค์จะปฏิบัติตามข้อกําหนดในกฎกระทรวงนี้ให้ยื่นคําขอจดทะเบียนเป็นรถยนต์รับจ้างตามกฎกระทรวงนี้

ข้อ 18 บรรดาประกาศ ระเบียบ หรือคําสั่งที่ออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ให้คงใช้บังคับต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ จนกว่าจะมีประกาศ ระเบียบ หรือคําสั่งตามกฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ



กำลังโหลดความคิดเห็น