xs
xsm
sm
md
lg

ผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.บริหารทุนหมุนเวียน - จี้ปรับปรุงบางมาตราหวั่นการเมืองล้วงเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
สนช. เอกฉันท์ผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ. บริหารทุนหมุนเวียน กมธ. ยอมแก้ให้อำนาจกรรมการเสนอใช้เงินทุนต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ พ.ร.ฎ. หลังสมาชิกหวั่นฝ่ายการเมืองล้วงเงิน

วันนี้ (23 ก.ค.) ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. ... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้พิจารณาแล้วเสร็จในวาระ 2 โดยมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยง เสริมสร้างความโปร่งใส และธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลังของรัฐ และกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน โดยมี รมว.คลัง เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการบริหารทุนหมุนเวียนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาการกลั่นกรองการขอจัดตั้งทุนหมุนเวียน

ทั้งนี้ สมาชิกได้มีการเสนอให้มีการปรับปรุงเนื้อหาในมาตรา 11 (5) ว่าด้วยการให้คณะกรรมการนโยบายฯ มีอำนาจเสนอแนะต่อ ครม. ในการนำทุน หรือผลกำไรของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เนื่องจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงเงินของกองทุนต่าง ๆ ตามอำเภอใจ โดย นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. กล่าวว่า การกำหนดในลักษณะดังกล่าวจะเท่ากับเป็นการให้กองทุนที่จัดตั้งขึ้นต่าง ๆ ขาดหลักประกันในเรื่องความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ เนื่องจากหากวันดีวันคืนดี ครม. คณะหนึ่งอยากย้ายเงินกองทุนที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนประกันสังคม ไทยพีบีเอส กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะของ กสทช. ตามใจชอบขึ้นมาจะทำให้กองทุนเหล่านี้ทำงานไม่ได้ จึงอยากขอให้มีการปรับแก้เนื้อหาด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการโยกเงินจากกองทุนที่ยังไม่ถูกยุบมาเป็นรายได้แผ่นดินให้ชัดเจน

ขณะที่ พล.อ.อ.ชนะ อยู่สถาพร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของร่างกฎหมายนี้ต้องการมองภาพรวมของกองทุนหมุนเวียนทั้งหมด และมีอำนาจเข้าไปดูแล และประเมินว่า กองทุนหมุนเวียนใดไม่มีประโยชน์ก็จะเสนอให้ ครม. ยกเลิก เพราะต้องการให้การบริหารทุนหมุนเวียนเป็นไปอย่างรอบคอบและเกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ ไม่ให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่มิชอบ

อย่างไรก็ตาม ที่กรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ยอมแก้ไขเนื้อหาในมาตรา 11 (5) ใหม่ ว่า “ให้คณะกรรมการนโยบายฯมีอำนาจเสนอแนะต่อ ครม. ในการนำทุนหรือกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา” จากนั้นได้มติเอกฉันท์ 183 เสียงเห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ. การบริหารทุนหมุนเวียน ประกาศใช้เป็นกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น