xs
xsm
sm
md
lg

สนช.จ่อถกมีสิทธิแค่เห็นชอบประชามติ แก้ร่างด้วยได้หรือไม่ “สมชาย” ค้านใช้ รธน. 50

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมชาย แสวงการ วิปสนช. (แฟ้มภาพ)
วิป สนช. พร้อมสอบถามที่ประชุม สนช. หาก ครม.- คสช. ไฟเขียวประชามติ รธน. ถึง ม.46 ถ้าตีความแคบมีหน้าที่แค่เห็นชอบ ไม่มีสิทธิแก้ร่าง แนะ ตีความให้กว้างมีสิทธิแก้ แย้ม เตรียมเสนอประชามติ 180 วัน ชี้ ต้องมีทางออกไม่ผ่านต้องทำอย่างไร มี 3 ทางเลือก รับเริ่มต้นใหม่ทำเลือกตั้งช้า นำรธน.ปรับปรุงทางที่เร็วสุด ค้าน ใช้ รธน. 50 ไปก่อน

วันนี้ (19 พ.ค.) นายสมชาย แสวงการ เลขานุการกรรมการประสานงานกิจการสมาชิกสภานิติบัญญัติ (วิป สนช.) กล่าวถึงการเตรียมการของ สนช. ในกรณีที่ ครม. และ คสช. อาจเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เพื่อเปิดทางให้มีการลงประชามติ ว่า เป็นสิ่งที่ตนจะสอบถามในการประชุม วิป สนช. วันนี้ ว่า ทาง สนช. ควรจะต้องมีการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 46 ให้ชัดเจนหรือไม่ เพราะหากตีความอย่างแคบตามตัวบท สนช. จะมีหน้าที่เพียงแค่ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาได้ เช่นเดียวกับกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านคณะกรรมาธิการยกร่างฯครั้งสุดท้ายเมื่อเข้า สปช. ก็ทำได้แค่มีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่าควรตีความอย่างกว้าง เพราะ สนช. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ แตกต่างจาก สปช. การเสนอกฎหมายมีขั้นตอนสามวาระ ซึ่ง สนช. เป็นทั้ง ส.ส. และ ส.ว. อยู่ในขณะนี้ จึงควรจะต้องทำหน้าที่ในการพิจารณาและมีสิทธิที่จะปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ ครม. และ คสช. ส่งมาได้ด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานและประชาชน แม้ว่าในรัฐธรรมนูญมาตรา 46 จะบัญญัติว่า “ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ สนช. จะแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมิได้ เว้นแต่ ครม. และ คสช. จะเห็นชอบด้วย” ซึ่งจะต้องถามนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ที่มีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 2557 ด้วยว่าเจตนารมณ์ของมาตรา 46 ต้องการให้ สนช. ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น หรือเปิดโอกาสให้เสนอเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ แม้ว่าทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของ ครม. และ คสช. ก็ตาม แต่จะทำให้สนช.ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้สมบูรณ์มากขึ้น

“สนช. จึงน่าจะได้ทำหน้าที่เสนอความเห็นในประเด็นที่คิดว่าต้องแก้ไข เช่น เรื่องระยะเวลาการทำประชามติ โดยส่วนตัวเห็นว่าควรจะเป็น 180 วัน เพื่อให้มีเวลาในการจัดพิมพ์ร่าง ส่งไปรษณีย์ และให้เวลาประชาชนได้อ่านเพื่อทำความเข้าใจ ซึ่งสามารถเสนอในการพิจารณาวาระ 1 ได้ แต่ขึ้นอยู่กับตัวแทนของรัฐบาล และ คสช. ว่า จะเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าไม่เห็นด้วยก็จบไปสู่ขั้นตอนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น แต่ถ้าตัวแทนรัฐบาล และ คสช. เห็นว่า มีเหตุผลก็สามารถนำกลับไปให้ ครม. และคสช. พิจารณาปรับปรุงแล้วส่งกลับมาใหม่ ซึ่งเท่ากับว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะไม่ผ่านสามวาระรวดในวันเดียว แต่เมื่อ ครม. และ คสช. ส่งกลับมาการลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2557 ก็จะจบภายในวันเดียว โดยได้ผ่านขั้นตอนการแปรญัตติจาก สนช. แล้ว” นายสมชาย กล่าว

เลขาวิป สนช. ยังกล่าวด้วยว่า ในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต้องมีทางออกด้วยว่าเมื่อทำประชามติแล้วหากไม่ผ่านจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งมีสามทางเลือกคือ 1. เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2557 คือเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ 2. ใช้ร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างฯมาปรับปรุงแก้ไข หรือ 3. ใช้รัฐธรรมนูญ 50 มาเป็นหลักในการพิจารณาและปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่มีปัญหา ซึ่งหากเป็นทางเลือกแรกการเลือกตั้งก็จะช้าออกไปมากกว่าการนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมามาปรับปรุง ซึ่งน่าจะดำเนินการรวดเร็วกว่าการเริ่มต้นตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯชุดใหม่ แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของครม.และคสช.

นายสมชาย ยังไม่เห็นด้วยที่จะให้ทำประชามติโดยเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 50 ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ให้ใช้ปี 50 เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง เพราะแม้รัฐธรรมนูญ 50 จะมีข้อดีอยู่มากแต่ก็มีบางอย่างที่เป็นปัญหา หากไม่แก้ไขก่อนแล้วไปเลือกตั้งเลยโดยใช้รัฐธรรมนูญ 50 ก็จะต้องเกิดความขัดแย้งในอนาคตขึ้นอีก


กำลังโหลดความคิดเห็น