xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เปิดเว็บรับร้องเรียนค่ารักษาพยาบาลแพง-ยันมีมาตรการรับมือ"เมอร์ส"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง นโยบายรัฐบาลในการควบคุมค่ายาและค่ารักษาพยาบาลที่สูงเกินจริงของโรงพยาบาลเอกชน โดยระบุว่า ต้นเหตุของปัญหาเกิดจากการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐที่ไม่เพียงพอ การไม่ได้รับความสะดวกจากโรงพยาบาลรัฐ ทำให้ประชาชนต้องหนีไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน แต่ต้องพบปัญหาค่ารักษาพยาบาลที่แพงเกินจริง ปัจจุบันผู้ป่วยต่างชาติเข้าใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนของไทยจำนวนมาก ประกอบกับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนในสิ้นปีนี้ ยิ่งทำให้โรงพยาบาลเอกชนต่างต้องลงทุนขยายกิจการด้านเครื่องมือ การซื้อตัวหมอจากภาครัฐ เพื่อแข่งขันกัน ยิ่งทำให้ราคาค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาอย่างไร และจะเป็นอุปสรรคต่อนโยบายของรัฐบาลหรือไม่

นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ปัจจุบันภาครัฐมีกองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดูแลด้านสุขภาพให้กับประชาชน ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนมีส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพแบ่งเบาภาระและการลงทุนของภาครัฐได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ การที่ชาวต่างชาติเดินทางมาใช้บริการกับโรงพยาบาลเอกชนก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัญหาดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุขเข้าใจว่าปัญหาเกิดจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งเทคโนโลยีใหม่ ต้นทุนความเสี่ยง ต้นทุนก่อสร้างในพื้นที่ที่มีราคาที่ดินสูง จึงไม่ได้คิดจะดึงราคาค่ารักษาให้เทียบเท่าโรงพยาบาลของรัฐ

นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงปัญหาดังกล่าวที่อาจส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนของไทยอาจสูญเสียศักยภาพในการแข่งขัน เนื่องจากชาวต่างชาติอาจย้ายออกไปรักษาประเทศอื่นที่ราคาถูกกว่า เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขมีคำสั่งให้โรงพยาบาลเอกชนต้องประกาศราคายาให้ประชาชนรับทราบ และให้ประชาชนสามารถนำใบสั่งยาไปซื้อยาข้างนอกได้

นอกจากนี้ ยังได้เปิดเว็บไซต์ให้ประชาชนรับทราบถึงค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่ง เพื่อให้ตรวจสอบและเปรียบเทียบก่อนเข้ารักษาพยาบาล รวมถึงการเปิดสายด่วนสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการรักษาได้ร้องเรียนหลายช่องทาง อาทิ 02-937-9999 สายด่วน 1166

จากนั้น นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.ได้สอบถามนายแพทย์รัชตะ ถึงการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสเมอร์ส-โควี โดยนายแพทย์รัชตะ ยืนยันว่า ได้เฝ้าระวังผู้ที่มีความเสี่ยงซึ่งเดินทางเข้าประเทศไทย โดยเฉพาะที่มาจากตะวันออกกลาง และเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ไว้รองรับแล้วโดยจะใช้มาตรการเดียวกันกับการรับมือโรคอีโบลา
กำลังโหลดความคิดเห็น