xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ขยายเวลา 30 วัน “ไพบูลย์” แย้มตัดสิทธิตัวการโกงเลือกตั้ง-ผู้ถูกพิพากษาคดีทุจริต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยที่ประชุมขยายเวลาทำงานไปอีก 30 วัน รอพิจารณาคำขอแก้ของ สปช.และ ครม. โดยเฉพาะเรื่องปฏิรูปและปรองดอง จ่อเชิญผู้เสนอคำขอมาฟังเหตุผล 17-19 ส.ค. โยนประเด็นพวกพ้นโทษแบนไปอ่าน รธน.เอาเอง ด้าน “ไพบูลย์” แย้มตัดสิทธิเฉพาะตัวการทำเลือกตั้งไม่สุจริต ไม่เกี่ยวกรรมการบริหาร รวมถึงคนทุจริตที่ถูกพิพากษาจนสิ้นสุดแล้ว

วันนี้ (21 ก.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 14.00 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ มีมติร่วมกันในการขยายเวลาการทำงานออกไปอีก 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในการส่งร่างรัฐธรรมนูญให้แก่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 22 ส.ค. โดยขั้นตอนต่อไปจะแจ้งมติของ กมธ.ยกร่างฯ ให้แก่ สปช.รับทราบ ส่วนสาเหตุที่ต้องขยายเวลาการทำงาน เนื่องจาก กมธ.ยกร่างฯ ต้องพิจารณาคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจาก สปช.และ ครม.เป็นจำนวนมาก ซึ่งในบางคำขอมีการแก้ไขกระทบเชิงโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการแก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญใน ภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ที่มีการปรับลดเนื้อหาจำนวนมาก ด้วยเหตุผลดังกล่าวกมธ.ยกร่างฯจำเป็นต้องขยายเวลาการทำงานออกไป เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงเลขมาตรา และถ้อยคำต่างๆ

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามในช่วง 30 วันดังกล่าว กมธ.ยกร่างฯ สามารถปรับแก้เนื้อหาในส่วนที่ กมธ.ยกร่างฯ เคยมีความเห็นชอบร่วมกันไปแล้วได้ แต่ที่ประชุมต้องมีความเห็นร่วมกันก่อน ขณะเดียวกัน กมธ.ยกร่างฯ จะเชิญ สปช.และครม.ในฐานะผู้เสนอคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมารับฟังเหตุผลของกมธ.ยกร่างฯที่ได้มีการแก้ไขเนื้อหาทั้งหมดในระหว่างวันที่ 17-19 ส.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เวลานี้มีกรณีของมาตรา 111 ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส.ที่อาจนำไปสู่การตีความได้ว่า ผู้ที่ถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะไม่สามารถสมัคร ส.ส.ได้ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ที่จริงทุกอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ไม่มีอะไรที่ไม่ชัดในรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมาบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็อยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

เมื่อถามว่า พอยืนยันได้หรือไม่ว่าผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจากเหตุของการถูกยุบพรรคและรับโทษห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาครบแล้ว 5 ปี จะสามารถกลับมาลงสมัครเลือกตั้งได้ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า “ให้อ่านเอง ผมคงไม่ตอบอะไร เพราะไม่ใช่หน้าที่ของ กมธ.ยกร่างฯ ที่จะต้องไปตอบในรายละเอียดที่เกี่ยวกับตัวบุคคล หรือคณะบุคคล เพราะการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการยกร่างในหลักการที่สำคัญ เพื่อให้เกิดการยึดถือในทางปฏิบัติ เพราะถ้าไปยึดถือเรื่องตัวบุคคลก็จะมีการตั้งคำถามไม่จบสิ้น”

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ในปัญหาที่มีหลายฝ่ายสงสัยเรื่องความชัดเจนเกี่ยวกับขอบเขตของการตัดสิทธิ์ผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.ในมาตรา 111 (8) ที่บัญญัติว่า บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่า การกระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมจะไม่สามารถลงสมัคร ส.ส.นั้น กมธ.ยกร่างฯ จะมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าจะจำกัดสิทธิเฉพาะบุคคลที่เป็นตัวการที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและไม่เที่ยงธรรมเท่านั้น ส่วนกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากการกระทำของบุคคลที่เป็นตัวการดังกล่าวจะไม่ถูกตัดสิทธิในการลงสมัครเลือกตั้ง

นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า เช่นเดียวกับผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่า กระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ คณะกมธ.ยกร่างฯจะบันทึกในเจตนารมณ์ว่าจะต้องเป็นกรณีที่บุคคลถูกคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีความผิดฐานทุจริตเท่านั้นถึงจะไม่มีสิทธิสมัคร ส.ส. แต่หากเป็นกรณีที่บุคคลถูกคำสั่งของคณะกรรมการป้องกันละปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่ามีความผิด โดยศาลยังไม่มีคำพิพากษาให้ถึงที่สุดจะยังมีสิทธิสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น