กมธ.ยกร่างฯ เคาะ ส.ส. 450 - 470 คน ตัดโอเพนลิสต์ทิ้ง เตรียมวางหลักแก้ปัญหา “โหวตโน” มโหฬาร ถกคุณสมบัติ ส.ส. ไม่จบ หลังติดปมคนถูกถอดถอน ด้าน สปช. เผย ข้อเสนอ “ปรองดอง” ถึงมือ “เทียนฉาย” แล้ว
วันนี้ (6 ก.ค.) มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ มี นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานได้มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในหมวดรัฐสภา โดยเป็นการพิจารณาเฉพาะในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร โดยที่ประชุมคณะ กมธ.ยกร่างฯ มีความเห็นร่วมกันว่าควรใช้ระบบการเลือกตั้งส.ส. แบบสัดส่วนผสม และกำหนดให้ ส.ส. มีจำนวน 450 - 470 คน แบ่งเป็น ส.ส. ระบบเขตเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวจำนวน 300 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อจำนวน 150 - 170 คน ซึ่งในส่วนของการเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อนั้นเห็นควรให้ชะลอการใช้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิดออกไปก่อน
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นสำคัญของการเลือกตั้ง ส.ส. ที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ เตรียมปรับถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญ คือ การกำหนดกระบวนการให้มีการเลือกตั้งใหม่ หากเกิดกรณีที่ผู้สมัคร ส.ส. ได้รับคะแนนของผู้ประสงค์ไม่ลงคะแนน (โหวตโน) มากกว่าคะแนนเห็นชอบให้เป็น ส.ส. โดยคณะ กมธ.ยกร่างฯ อภิปรายแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นว่าโดยหลักแล้วหากเกิดกรณีดังกล่าว ก็มีความจำเป็นที่ต้องเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่ แต่ประเด็นที่ต้องกำหนดให้ชัดเจน คือ หากผู้สมัครคนนั้นแพ้คะแนนโหวตโนอีก ควรจะมีกระบวนการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำอีกจนสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศ ดังนั้น คณะ กมธ.ยกร่างฯ จึงเห็นควรให้มีการเพิ่มเนื้อหาด้วยการกำหนดคะแนนขั้นต่ำเอาไว้สำหรับกรณีที่เกิดการเลือกตั้งใหม่หลังจากมีผู้สมัครสส.แพ้คะแนนโหวตโนต่อไป
ขณะเดียวกัน เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ส.ส. เป็นอีกประเด็นที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ อภิปรายค่อนข้างมาก โดยเฉพาะมาตรา 111 (15) ซึ่งระบุว่าผู้สมัคร ส.ส. ต้องไม่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือในการดำรงตำแหน่งอื่น ซึ่งคณะกมธ.ยกร่างฯ ได้หยิบคำขอแก้ไขของคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาพิจารณา โดยคณะ กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่สามารถมีข้อสรุปได้ว่าจะแก้ไขถ้อยคำหรือไม่ เนื่องจากมีข้อเสนอให้คณะ กมธ.ยกร่างฯ ควรกำหนดลงไปให้ชัดเจนว่าต้องเป็นบุคคลที่ถูกถอดถอนตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ถึงจะไม่สามารถลงสมัคร ส.ส. ได้ ซึ่งที่สุดแล้วคณะ กมธ.ยกร่างฯ จึงได้ชะลอการพิจารณามาตรา 111 (15) ออกไปก่อน
สำหรับการประชุมคณะ กมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 7 ก.ค. จะยังคงพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร โดยจะเริ่มต้นที่มาตรา 117 ว่าด้วยการกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่ภายใน 45 วันตั้งแต่วันที่อายุของสภาฯสิ้นสุดลงหรือสภาถูกยุบ
นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า คณะ กมธ.ยกร่างฯ จะนำประเด็นเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส. ไปหารือให้ได้ข้อสรุปในการประชุมนอกสถานที่ที่พัทยาระหว่างวันที่ 13 - 19 ก.ค. 2557 ที่พัทยา จ.ชลบุรี อย่างไรก็ตาม ในหลักการแล้วคณะ กมธ.ยกร่างฯ จะบัญญัติห้ามบุคคลที่เป็นตัวการหลักในการทุจริตการเลือกตั้งจะไม่สามารถลงสมัครสส.ได้ ส่วนบุคคลที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยผลของกฎหมายอย่างกรณีบ้านเลขที่ 111 บ้านเลขที่ 109 นั้น จะไม่ขาดคุณสมบัติในการลงสมัคร ส.ส.
ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุกการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวว่า คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. ที่มี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สปช. เป็นประธาน ได้ส่งรายงานและข้อเสนอแนะแนวทางการสร้างความปรองดองที่ได้พิจารณาเสร็จแล้ว ให้แก่ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เรียบร้อยแล้ว เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 6 ก.ค. หลังจากนี้นายเทียนฉายจะพิจารณาว่า จะส่งรายงานดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระต่อ ที่ประชุม สปช. เมื่อใด และจะส่งต่อรายงานให้รัฐบาลหรือไม่ แม้ขณะนี้ สปช. มีวาระพิจารณาโรดแมปการปฏิรูปด้านต่างๆ ในที่ประชุม สปช. ยาวถึงกลางเดือน ส.ค. แต่นายเทียนฉายสามารถจัดระเบียบวาระเรื่องนี้เป็นวาระเพิ่มเติม หรือเรียกประชุมสปช.เป็นวาระพิเศษเพื่อพิจารณารายงานสร้างความปรองดองได้.