รายงานการเมือง
ในบรรยากาศการเมือง ที่กระแสข่าวปรับคณะรัฐมนตรี ออกมาในโทนจะมีการดึงอดีตขุนพลข้างกาย ทักษิณ ชินวัตร มาร่วมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งวันนี้คนที่มีชื่ออยู่ตามหน้าสื่อก็ยังมีทั้งทำงานการเมืองกับทักษิณอยู่ และไม่ได้ร่วมงานกันแล้ว ทั้ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์-สรอรรถ กลิ่นประทุม-พินิจ จารุสมบัติ-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์-สุรเกียรติ์ เสถียรไทย-สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นต้น
โดยข่าวบางกระแสก็บอกว่ามีความเป็นไปได้สูงที่คนซึ่งมีชื่อเหล่านี้อาจสร้างเซอร์ไพรส์การเมืองมีชื่ออยู่ใน ครม.บิ๊กตู่ แต่บางกระแสก็วิจารณ์แบบไม่เกรงหน้าแตกว่า บางชื่ออย่างสมคิด-สุรเกียรติ์ เป็นไปได้ แต่ชื่ออย่าง สุดารัตน์-สุวัจน์ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะอาจได้ไม่คุ้มเสีย ยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ใครไปร่วมงานกับ คสช.ก็เปลืองตัว
ข่าวลือนี้ แต่พลิกไปมองในมุม คสช.ก็ต้องยอมรับกันว่า กองเชียร์บิ๊กตู่ส่วนใหญ่ก็คือ พวกไม่เอาระบอบทักษิณ-เครือข่ายเพื่อไทย-นักเลือกตั้งรุ่นเก่าที่เคยทำงานใกล้ชิดทักษิณ เรื่องว่าพวกอดีตขุนพลไทยรักไทยคิดหนักในการมาร่วมงานกับคสช.นั้น ถ้ามองในมุมกลับ บิ๊กตู่ ก็ต้องคิดหนักไม่น้อย หากจะดึงอดีตรัฐมนตรี-อดีตนักเลือกตั้ง เครือข่ายทักษิณมาเป็นรัฐมนตรี ซึ่งหลายชื่อที่ปรากฏออกมาข้างต้น ก็ไม่ได้โดดเด่นไปกว่ารัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจใน ครม.ประยุทธ์ตอนนี้เท่าไหร่
หากจะปรับ ครม.แล้วดึงพวกนี้มา นอกจากหน้าตา ครม.ไม่ได้ดูดีขึ้นแล้ว ยังทำให้กองเชียร์รัฐบาลอาจผิดหวังเอาด้วยซ้ำ
สูตรเอาคนกันเองกับ คสช. อย่างเช่น วรพล โสคติยานุรักษ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ก่อนหน้านี้ บิ๊กตู่ตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มาเป็นรัฐมนตรี อย่างเช่น รมช.คลัง แบบนี้ยังดูดีเสียกว่า
กระนั้น ไม่ว่าสุดท้าย ข่าวลือปรับ ครม.สูตรนี้จะจริงหรือไม่จริง แต่นัยการเมืองที่น่าสนใจคือ มันสอดรับกับกับกระแสข่าวความพยายามสร้างความปรองดองของรัฐบาล คสช.ที่มีออกมาหลายครั้ง
ทั้งเรื่องข่าวโยนหินถามทาง ความเป็นไปได้ในการให้เกิดรัฐบาลผสมหลังเลือกตั้งในรูปแบบรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อประคองประเทศไปอีกสักระยะ แต่ต้องมีคนของ คสช.มานั่งเป็นนายกฯคนกลาง พบว่าโยนไปแล้วสองพรรคใหญ่ ทั้งพรรคเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ไม่เล่นด้วย
หรือกรณีกระแสข่าวว่า บิ๊ก คสช.ส่งสัญญาณไปยังคนของพรรคเพื่อไทย บอกไม่ต้องกังวลใจ คดีถอดถอน 248 อดีต ส.ส. ที่ส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยทั้งพรรค ยังไง สนช.ที่ คสช.กดปุ่มสั่งการได้ ก็จะลงมติไม่ถอดถอนสำนวนนี้แน่นอน ไม่ต้องกังวลเรื่องจะต้องโดนตัดสิทธิการเมืองอะไรทั้งสิ้น
เค้าลางของข่าวลือทำนอง คสช.เริ่มมองการสลายขั้วการเมือง แล้ว คสช.ได้มีอำนาจต่อ โทนของเรื่องนี้ จับทางได้ คือ คสช.ชักออกไปในทาง การสร้างความปรองดองทางการเมืองแบบนอกกระบวนท่า คือไม่ต้องมีข้อตกลงอะไรอย่างเป็นทางการ แต่ให้กระบวนการต่างๆ เดินไปได้โดยเฉพาะหลังเลือกตั้ง ที่ คสช.ต้องลงจากอำนาจอย่างปลอดภัยและยังมีคนของ คสช.เกาะเกี่ยวในอำนาจได้อยู่
ประมวลจากข่าวสาร ทั้งข่าวลือ-ข่าวปล่อย ทั้งหมด เชื่อได้ว่า ข่าวทำนองนี้ มันจะเกิดขึ้นนับจากนี้ออกมาอีกเรื่อยๆ เพียงแต่ความหนักเบาของข่าวลือขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ แต่น่าจะเกิดขึ้นเป็นระลอกใหญ่ ในช่วงเดือนสิงหาคม ที่มีกระแสข่าวว่าหากสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์จะปรับ ครม.จริง ก็คงปรับหลังผ่านช่วงวันสำคัญในเดือนสิงหาคมไปแล้ว
และในโหมดว่าด้วยเรื่อง “ปรองดองทางการเมือง” ต่อจากนี้มันก็มีอีกหนึ่งฉากที่ต้องรอดูว่าสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์และคสช.จะเอาอย่างไร กับเรื่อง “ปรองดอง-นิรโทษกรรม”
เพราะในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติวันอังคารที่ 21 ก.ค.นี้ จะมีการพิจารณารายงานและข้อเสนอแนะเบื้องต้นของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ที่มี อเนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานฯ
ได้สรุปแนวทางการสร้างความปรองดอง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นซ้ำอีก ที่กรรมการฯ เห็นว่าจะต้องมีกระบวนการต่างๆ รวม 6 ภารกิจที่ต้องทำควบคู่กันไปแบบองค์รวม
อันประกอบด้วย 1. การสร้างความเข้าใจร่วมของสังคมต่อเหตุแห่งความขัดแย้ง 2. แสวงหาและเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์และความรุนแรง 3. อำนวยความยุติธรรมการสำนึกผิดและการให้อภัย
4. เยียวยา ดูแลและการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ 5. สร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน และ 6. มาตรการป้องกันการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
แต่ประเด็นสำคัญที่อยู่ในรายงานดังกล่าว และคาดว่าอาจมี สปช.อภิปรายเรื่องนี้กันพอสมควรในวันที่ 21 ก.ค.ก็คือเรื่อง “นิรโทษกรรม” ที่จะให้ครอบคลุมช่วงระยะเวลาปี 2548-2557 และคนในกรรมการชุดนี้ ออกมาแถลงข่าวว่า เบื้องต้น กรรมการเห็นว่า ควรแบ่งการนิรโทษกรรมออกเป็น 2 ระดับ คือ
1. ระดับผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งต้องมีการแบ่งแยกผู้กระทำผิดเป็น 3 ประเภท คือ 1. ผู้กระทำผิดจากมูลเหตุจูง ใจทางการเมือง อาจทำโดยให้อัยการพิจารณาไม่สั่งฟ้อง 2. ผู้กระทำผิดในคดีอาญาโดยเนื้อแท้ เช่น ฆ่าคนตาย การมีอาวุธในครอบครอง 3. ผู้กระทำผิดจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และคดีอาญาโดยเนื้อแท้ ซึ่งในกลุ่มที่ 2 และ 3 จะต้องไปต่อสู้คดีอาญาตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ จนกระทั่งเมื่อรับโทษไประยะหนึ่ง ก็สามารถขอรับการอภัยโทษ
2. การนิรโทษกรรมระดับแกนนำและเจ้าหน้าที่รัฐระดับสั่งการ ควรกระทำหลังจากที่นิรโทษกรรมในระดับประชาชนและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติไปแล้ว 1 ปี และจะทำได้ก็ต่อเมื่อแกนนำต้องแสดงความสำนึกผิด และมีข้อเท็จจริงปรากฏต่อสังคมแล้วในระดับ รวมถึงเหยื่อต้องให้อภัย จึงจะพิจารณาว่าจะมีการนิรโทษกรรมให้หรือไม่ แต่หลักเกณฑ์การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมถึงคดีทุจริต คดีอาญาโดยเนื้อแท้ คดีมาตรา 112 และคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
ในรายงานฉบับอย่างเป็นทางการของกรรมการชุดนี้ ระบุถึงเหตุผลในการเสนอให้มีการนิรโทษกรรมไว้ว่า
“ในกระบวนการปรองดองที่ใช้หลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมาปรับใช้นั้น การนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ควรเกิดขึ้นตามมาหลังจากที่คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายที่สร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้น ยอมรับ การเข้าร่วมกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคลี่คลายปมปัญหาในอดีต ตั้งแต่การตรวจสอบค้นหาความ จริง การอำนวยความยุติธรรม การฟื้นฟูและเยียวยา การแสดงความสำนึกรับผิดและการให้อภัย ฯลฯ
หากรัฐบาลมีความประสงค์จะนำการนิรโทษกรรมมาใช้ในการเสริมสร้างความปรองดอง
สิ่งสำคัญที่ควรทำก็คือ การดำเนินการในหลายระดับอย่างเป็นกระบวนการ โดยให้ความสำคัญกับการแสวงหาข้อตกลงระหว่างคู่ขัดแย้ง ทั้งในระดับแกนนำและผู้สนับสนุน รวมทั้ง สร้างให้เกิดบรรยากาศที่ พร้อมรองรับการปรองดองและมีความเข้าใจในขอบเขตของการนิรโทษกรรมในระดับสังคมในวงกว้าง”
ก็ไม่รู้ว่าที่ สปช.จะพิจารณารายงานร้อนๆ ฉบับดังกล่าวในสัปดาห์นี้ จะมี สปช.อภิปรายประเด็น “ข้อเสนอนิรโทษกรรม” ดังกล่าวกันเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน แต่ตามขั้นตอนแล้วเมื่อที่ประชุมสปช.รับรองรายงานของคณะกรรมการฯ ฉบับนี้แล้ว ตัวประธาน สปช.จะต้องส่งรายงานฉบับนี้ไปถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เหมือนกับรายงานของ สปช.ทุกเล่มก่อนหน้านี้ ส่วนเมื่อรับไปแล้ว รัฐบาลจะนำไปขยายผลหรือเก็บไว้ในตู้เก็บเอกสาร ไม่คิดจะหยิบขึ้นมาดู ไม่นำไปแจ้งต่อที่ประชุม ครม.ก็เป็นสิทธิของนายกฯ และรัฐบาล
เชื่อได้อย่างหนึ่งว่า แม้ดูแล้ว คสช.จะเริ่มหาวิธีการสร้างความปรองดองทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ แต่สำหรับเรื่องข้อเสนอให้มีการนิรโทษกรรมเพื่อนำไปสู่ความปรองดองอย่างที่บางฝ่ายเชื่อในทฤษฏีนี้ แม้จะเป็นการนิรโทษกรรมที่เริ่มกับกลุ่มประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุมไม่ใช่พวกแกนนำการชุมนุมแต่ของร้อนแถมอธิบายให้สังคมเข้าใจยากแบบนี้ บิ๊กตู่และ คสช.คงไม่รับเป็นเจ้าภาพ ค่อนข้างแน่