โฆษกวิป สนช. เผยเตรียมพิจารณาวาระเปิดแถลงสำนวนคดีถอดถอน 248 ส.ส. กรณีเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. โดยมิชอบในสัปดาห์นี้ คาดผู้ถูกกล่าวหาจะมีหนังสือแจ้งให้ สนช. ทราบก่อนประชุม
วันนี้ (12 ก.ค.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติวันที่ 15 - 16 ก.ค. นี้ จะมีการพิจารณาวาระการเปิดแถลงสำนวนคดีนัดแรกการถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 248 คน ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2557 ข้อ 149 โดยเบื้องต้นทางผู้ถูกกล่าวหายังไม่แจ้งว่าจะมีอดีต ส.ส. หรือให้ตัวแทนมาแถลงเปิดคดีในวันเปิดคดี ซึ่งในการประชุมวิป สนช. วันที่ 14 ก.ค. นี้ มีการประชุมเพื่อพิจารณากระบวนการถอดถอน ว่า จะมีแนวทางอย่างไร เพราะทาง สนช. เปิดเวลาไว้ถึง 2 วัน เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวซึ่งมีจำนวนถึง 248 คนได้มีโอกาสได้ชี้แจง
โฆษกคณะกรรมาธิการวิป สปช. กล่าวว่า คาดว่าผู้ถูกกล่าวหาจะมีหนังสือแจ้งให้ สนช. ทราบว่า จะมีผู้มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากี่คน หรือจะส่งผู้แทนมาชี้แจงตามกลุ่มฐานความผิดภายในวันที่ 14 ก.ค. นี้ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่ดีเพราะทางวิป สนช. จะได้พิจารณาวางแนวทางการประชุมแถลงเปิดสำนวนคดีนัดแรก เพราะในสัปดาห์หน้าจะมีร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. หลายฉบับ หากมีความชัดเจนเรื่องของการแถลงเปิดคดีทาง สนช. ก็จะดำเนินการจัดระเบียบวาระการประชุมให้มีความเหมาะสม
ผู้สื่อข่าวรายงานงานว่า สำหรับสำนวนความผิดในคดีถอดถอน 248 อดีต ส.ส. แยกตามสำนวนคดีตามฐานความผิดออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1. ส.ส. จำนวน 239 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. รวมทั้งพิจารณาและลงมติในวาระ 1 วาระ 2 โดยเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 116 ที่มีผลทำให้ ส.ว. ที่พ้นวาระแล้วสามารถกลับมาลงสมัครได้ทันที และวาระ 3 โดยถือว่าจงใจใช่อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กลุ่มที่ 2 ส.ส. จำนวน 1 คน ที่ลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พิจารณาและลงมติในวาระ 2 และ วาระ 3 ซึ่ง ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 291 อนุ 1 วรรคหนึ่ง และ กลุ่มที่ 3 ส.ส. จำนวน 10 คน ที่ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญพิจารณาและลงมติในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 โดยถือว่าจงใจใช้อำนาจขัดต่อบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 291 อนุ 1 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ในกลุ่มที่ 1 มีสมาชิก 2 คน ประกอบด้วย นายทองดี มนิสสาร และ นายตุ่น จินตะเวช ได้ถึงแก่กรรม จึงไม่ต้องนำมาพิจารณาตามข้อบังคับ