xs
xsm
sm
md
lg

สนช.พร้อมไฟเขียว รธน.ชั่วคราว ฉลุย! วันเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนช. พร้อมไฟเขียวร่าง รธน. ชั่วคราว ฉลุย! วันเดียว “วิป สนช.” แถลงพอใจหลัง “ประวิตร - วิษณุ” ชี้แจง ย้ำ 3 วาระผ่านรวด “หมอเจตน์” ย้ำไม่จำกัดเวลาสมาชิกอภิปราย อ้างเปิดช่องประชามติสอดคล้องความต้องการของประชาชน เชื่อไม่มีแก้ไข

วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระสำคัญคือ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม สนช. วันที่ 18 มิ.ย. นี้ โดยเชิญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มาชี้แจงถึงสาระสำคัญของการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังการประชุม

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษก สนช. แถลงภายหลังการประชุม ว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ของ สนช. ในวันที่ 18 มิ.ย. จะพิจารณา 3 วาระรวดภายในวันเดียว เป็นการตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภา โดย วิป สนช. จะเปิดให้สมาชิกอภิปรายโดยไม่จำกัดเวลา เพื่อนำเสนอข้อมูลให้รอบด้าน ซึ่งฝ่ายรัฐบาลมอบให้นายวิษณุ พล.อ.ประวิตร และ นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ มาชี้แจงต่อ สนช. หากมีความจำเป็นจะต้องแก้เนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในรายละเอียดเล็กน้อย รัฐมนตรีทั้ง 3 คน มีอำนาจตัดสินใจในนาม ครม. ได้ แต่ถ้าเป็นประเด็นสำคัญ อาจจำเป็นที่ ครม. ต้องนำกลับไปหารือกับ ครม. อีกครั้ง เชื่อว่า คงไม่พบว่ามีประเด็นใดมีปัญหา

ส่วนขั้นตอนลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น ในวาระ 1 ขั้นรับหลัการ และวาระ 3 จะใช้วิธีขานชื่อเป็นรายบุคคล ส่วนวาระ 2 ที่เป็นการพิจารณารายมาตราจะใช้วิธีเสียบบัตรลงคะแนน ส่วนตัวเชื่อว่าสนช. จะให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เป็นการแก้ไขเพื่อให้มีการทำประชามติ ซึ่งมาจากความต้องการของประชาชน คิดว่าในทางปฎิบัติไม่น่ามีปัญหา การประชุม สนช. วันดังกล่าวไม่มีการประชุมลับ และจะถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์รัฐสภา ส่วนการหารือเพื่อกำหนดประเด็นคำถามในการทำประชามติของ สนช. นั้น สนช. ยังไม่ได้หารือ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรรอให้กระบวนการแก้ไขร่างเสร็จสิ้นก่อน จึงจะพิจารณาว่าจะกำหนดกระบวนการจัดทำคำถามอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น