xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เล็งชง พ.ร.บ.กันโกงเลือกตั้ง หนักใจแจกเอกสาร รธน. ขออำนาจเพิ่มรับประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน (แฟ้มภาพ)
กกต.ด้านสืบสวนเผยจำเป็นต้องแก้ กม.ให้พนง.สืบสวนมีอำนาจออกหมายเรียก ค้น จับ เพิ่มอำนาจดำเนินคดีเลือกตั้ง ฟ้องอาญา-ค่าเสียหายคราวเดียว แย้มเสนอ พ.ร.บ.กันโกงเลือกตั้ง โทษแรง เลขาฯ กกต. ชี้ชงศาลอุทธรณ์ฟ้องเป็นไปในทิศทางที่ดี โวมืออาชีพประชามติไร้ปัญหา รับงานหนักแจกเอกสารร่าง รธน.แก่ประชาชน แจ้ง คสช.ไม่ใช่หน้าที่ ขอเพิ่มอำนาจ กกต.ใช้คำว่าสั่งการหน่วยต่างๆ ช่วยงาน เหตุภารกิจประชามติหนัก

วันนี้ (9 ก.ค.) นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงวิชาการเรื่อง “การดำเนินคดีเลือกตั้งระดับภูมิภาค” ครั้งที่ 4 ประกอบด้วย กกต.ประจำจังหวัด ผอ.กกต.ประจำจังหวัด รองผอ.กกต.ประจำจังหวัด หัวหน้างานสืบสวน และพนักงานสืบสวนสอบสวนในเขตพื้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่ จ.จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว โดยนายบุญส่งบรรยายตอนหนึ่งว่า การประชุมในวันนี้นั้น ด้านกิจการการสืบสวนสอบสวนของสำนักงานฯจะประชุมร่วมกับศาลอุทธรณ์ ภาค 4 และมีข้อสรุปหลายวิธีเกี่ยวกับการปรับปรุงงานในด้านการสืบสวนสอบสวน ซึ่งมีหลายเรื่องที่เราจะต้องดำเนินการ เช่น การป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งระดับชาติ และท้องถิ่น การปรับปรุงระบบการสืบสวนสอบสวน และระบบเลือกตั้งในศาล

นายบุญส่งกล่าวอีกว่า กกต.จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้พนักงานสืบสวนสอบสวนให้มีอำนาจออกหมายเรียก ค้น จับ และปรับระบบการสอบสวนในรูปแบบขององค์กรและคณะ การบันทึกภาพและเสียงในการสอบพยาน และต้องมีกฎหมายพิเศษให้อำนาจ กกต.ในการดำเนินการเลือกตั้ง คดีอาญาและเรียกฟ้องค่าเสียหายในคราวเดียวกัน โดยฟ้องคดีที่ศาลอุทธรณ์เพื่อให้ดำเนินการให้มีความรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการเสนอ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตเลือกตั้ง โดยให้ถือว่าการทุจริตเลือกตั้งเป็นการกระทำที่ผิดอาญาร้ายแรง

ด้านนายภุชงค์ นุตตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.บรรยายพิเศษตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่ปี 2545 คำร้องที่ กกต.เสนอต่อศาลๆเห็นตามที่ กกต.เสนอคิดเป็นร้อยละ 40 เท่านั้นแต่หลังจากกกต.ได้คำแนะนำจากศาลอุทธรณ์ทำให้คดีที่เราส่งไปยังศาล ศาลเห็นด้วยกับ กกต.ร้อยละ 60 ถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กกต.ต้องดำเนินการในระยะเวลาอันใกล้นี้ คือ การเตรียมจัดการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยการจัดการออกเสียงไม่มีปัญหาเพราะเราเป็นมืออาชีพอยู่แล้ว แต่การที่กฎหมายกำหนดให้ กกต.ต้องแจกจ่ายเผยแพร่เอกสารร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนกว่า 24 ล้านครัวเรือนภายในเวลา 45 วันก่อนวันออกเสียงประชามติ และยืนยันไปยัง คสช.ว่ากว่าร้อยละ 80 ของผู้มีสิทธิออกเสียงหรือประชาชน 19 ล้านครัวเรือนได้รับเอกสารเผยแพร่ฯ แล้ว กกต.จึงถือว่างานหนักพอสมควร อย่างไรก็ตาม กกต.ได้เสนอไปยัง คสช.และรัฐบาล ว่าการเผยแพร่เอกสารไม่น่าจะเป็นหน้าที่ของ กกต. เพราะ กกต.เป็นเสมือนกรรมการหรือผู้จัดการเลือกตั้ง ซึ่งก็คงจะมีความเห็นไปยัง คสช.และรัฐบาลอีกครั้ง ทั้งนี้ ในเบื้องต้น กกต.ได้เตรียมความพร้อมด้านการจัดพิมพ์ด้วยการสำรวจโรงพิมพ์ต่างๆ ทั้งของราชการ และเอกชนว่าจะมีกระดาษเพียงพอหรือไม่

สำหรับร่างกำหนดประกาศการใช้การออกเสียงประชามตินั้น นายภุชงค์กล่าวว่า ได้ดำเนินการไปส่วนหนึ่งแล้ว และได้เสนอไปยังคณะกรรมการ กกต. เพื่อมีมติเห็นชอบในตัวร่างประกาศกำหนดนี้ ซึ่งในส่วนแรกจะพูดถึงอำนาจหน้าที่ของ กกต.ในการบริหารจัดการออกเสียงอย่างไร มีคณะกรรมการเท่าไหร่ และการจัดทำบัญชีรายชื่อ ในส่วนนี้ กกต.ได้เพิ่มในส่วนของอำนาจหน้าที่ของ กกต. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้อำนาจ กกต.ใช้คำว่าสั่งการหน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือในการดำเนินงานของ กกต. เนื่องจากภารกิจในการออกเสียงประชามตินั้นค่อนข้างหนักมาก กกต.ดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียวคงไม่ไหว ต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น จึงต้องมีอำนาจพอสมควร โดยไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าที่กฎหมายเคยกำหนดไว้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในเรื่องการบริหารจัดการทางด้านธุรการ ตอนนี้ยังคงให้ทางบริหารเลือกตั้ง บริหารกลาง ดูเรื่องดังกล่าวไปก่อน ส่วนคณะกรรมการอีก 2 ชุด คือ คณะกรรมการในการจัดพิมพ์ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ และภายในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมกัน

“หากพูดถึงความพร้อม กกต.มีความพร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าภายในวันที่ 14 กันยายนนี้ สปช.จะมีมติออกมาอย่างไร ถ้ามีมติว่ารัฐธรรมนูญผ่าน กกต.ก็พร้อมเดินหน้า แต่สิ่งที่คาดการณ์ไว้ว่าการส่งเอกสารร่างรัฐธรรมนูญไปยังครัวเรือนกว่า 24 ล้านครัวเรือนอาจจะมีปัญหาหรือไม่นั้น เป็นเหตุการณ์ที่คิดไว้หรือมีการวางแผนไว้ กรณีหากเกิดปัญหา แต่หากกฎหมายออกมาแล้ว กกต.ก็ต้องดำเนินการให้ได้ และทำให้สมบูรณ์ที่สุด หากถามว่าหนักใจหรือไม่ เราตอบว่าหนักใจ แต่ทำให้เราสามารถเตรียมการได้มากขึ้น เราเชื่อว่าศักยภาพของ กกต.ที่จัดการเลือกตั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.และ ส.ว. เรามีศักยภาพที่จะดำเนินการเรื่องนี้ได้แน่นอน เพียงแต่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เพราะอาจจะมีการร้องเรียนเกิดขึ้นได้ ซึ่งเราจะต้องทำให้ถูกต้อง ทั้งนี้จะเชิญหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สตง. และ ป.ป.ช. มาร่วมดำเนินการเรื่องนี้ด้วย”

ส่วนที่มีข้อสงสัยว่าแล้วพรรคการเมืองที่มีสาขาอยู่ในจังหวัดจะทำอย่างไรนั้น กกต.ก็ต้องเดินตามประกาศคำสั่งของ คสช.ก่อน เพราะคำสั่งมีการบังคับใช้อยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น