xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลคิดหนัก! ฟ้องแพ่งจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” หวั่นสูญค่าธรรมเนียมศาลพันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  (แฟ้มภาพ)
“วิษณุ” รับคิดหนัก! ฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจำนำข้าวจาก “ยิ่งลักษณ์ - พวก” รอสรุปมูลค่าความเสียหายที่แต่ละคนต้องจ่ายอาจไม่เท่ากัน ดูตามโทษานุโทษ เผย รัฐเสียดาย “เงินค่าธรรมเนียมวางศาล หลักพันล้าน” ต้องคิดให้ดี เหตุ ยังไม่รู้จะแพ้หรือชนะ ยันฟ้องร้องทันอายุความ 2 ปี

วันนี้ (7 ก.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า คณะกรรมการทั้ง 2 ชุด คือ คณะกรรมสอบข้อเท็จจริงและกำหนดค่าความเสียหาย และคณะกรรมการว่าด้วยการรับผิดทางแพ่ง ได้รายงานความคืบหน้ามาเป็นระยะ และตนได้นำเรียนนายกรัฐมนตรีทราบว่า ขณะนี้ดำเนินการถึงไหนแล้ว ที่ยังมีปัญหาคือ จำนวนตัวบุคคลที่ต้องรับผิดชอบ โดยการพิจารณาความตัวบุคคลแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ บุคคลที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ากระทรวงอะไร เช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ อีกชุดดูในส่วนนักการเมือง และข้าราชการของกระทรวงที่มีสังกัด หรือกระทรวงพาณิชย์

ส่วนมูลค่าความเสียหายที่แต่ละคนต้องจ่าย ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการเรียกความเสียหายขาดทุนจำนำข้าว สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมสอบข้อเท็จจริงและกำหนดค่าความเสียหายจากการจำนำข้าว กระทรวงการคลังพิจารณา ทั้งนี้ ต้องแบ่งเฉลี่ย โดยแต่ละคนจะจ่ายค่าเสียหายไม่เท่ากัน ต้องดูกันตามโทษานุโทษ

“มีเรื่องหนึ่งที่อาจต้องคิดหนักหน่อย คือ การฟ้องเรียกค่าเสียหาย ไม่ว่าเอกชนจะเป็นคนฟ้องหรือรัฐเป็นคนฟ้องก็ตาม เมื่อเราเรียกว่าฟ้องทางแพ่ง มูลค่าเสียหายเท่าไรที่เราจะเรียก มันจะต้องไปเสียเงินที่เรียกว่าค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งกระทรวงการคลังต้องนำไปวางก็หลายสตางค์ ถือว่าเยอะอยู่ คุณฟ้องเรียกมาก คุณก็ต้องมีเงินไปวางศาลมาก ซึ่งมูลค่าความเสียหายจริงมันมาก แล้วคุณไปเรียกเอาหมด เอาเข้าใจจะได้หรือเปล่ายังไม่รู้ เพราะยังไม่รู้จะแพ้หรือชนะ จะต้องมีเงินไปวางศาลหลายพันล้านบาท ดังนั้น เงินที่รัฐต้องไปวางเป็นเรื่องที่ต้องคิด ถ้าเสียดาย ประหยัด ก็เรียกมันน้อยๆ ก็ถูกด่าเท่านั้นเอง ส่วนวงเงินเท่าไรก็ยังดูกันอยู่ แต่ว่าเยอะ” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า สามารถอ้างอิงตัวเลขความเสียหายของ ป.ป.ช. นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่จำเป็นว่าตัวเลข ความเสียหายที่รัฐจะเรียกต้องตรงกับ ป.ป.ช. ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน วันที่ ป.ป.ช. สรุปเรื่องความเสียหายอาจจะเป็น ณ ตอนนั้น ซึ่งหลังจากนั้นมาก็ต้องดูกันต่อ จะมากหรือน้อยกว่าก็ได้ แต่เมื่อได้ตัวเลขแล้วก็ต้องแจ้ง ป.ป.ช. ก่อนฟ้อง ทั้งนี้ ยืนยันว่า การฟ้องร้องทันอายุความ 2 ปีแน่นอน เพราะถ้ารัฐไม่ฟ้องรัฐก็ถูกพ่วงเป็นจำเลยรายที่ 17

มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้น นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลชุดก่อน แถลงว่า คณะอนุกรรมการได้ดำเนินการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปี 2547 จนถึงวันที่ 22 พ.ค. 2557 จำนวน 15 โครงการ พบว่า มีผล ขาดทุนประมาณ 680,000 ล้านบาท จากต้นทุนโครงการที่รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท โดยผลการปิดบัญชีดังกล่าวจะรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในจำนวน 15 โครงการรับจำนำข้าว เป็นการดำเนินโครงการโดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระยะเวลา 3 ปี จำนวน 4 โครงการ คิดเป็นผลขาดทุนจำนวน 518,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 11 โครงการ ดำเนินการตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีผลขาดทุนประมาณ 164,000 ล้านบาท

มีรายงานว่า ขณที่มติ ป.ป.ช. ให้กระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้ำประกันเงินในโครงการรับจำนำข้าว เรียกค่าเสียหายในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวทั้งระบบจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งการเรียกค่าเสียหายดังกล่าวเป็นตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 73 วรรค 1 ที่ให้ ป.ป.ช. ดำเนินการเรียกค่าเสียหายกับผู้ซึ่งที่ ป.ป.ช. ได้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดได้ดำเนินการยื่นฟ้งดำเนินคดีอาญา โดยตัวเลขความเสียหายจะเป็นไปตามผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ชุดที่มีนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ที่เบื้องต้นสรุปค่าเสียหายไว้เป็นจำนวน 6.82 แสนล้านบาท

เมื่อช่วงเช้า นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย เดินทางมายื่นหนังสือถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. ที่ศูนย์บริการประชาชน โดยแสดงความเป็นห่วงในการระบายข้าวเสื่อมคุณภาพและด้อยคุณภาพจำนวนกว่า 5.8 ล้านตัน

ทั้งนี้ ได้ตั้งข้อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้าวเสื่อมคุณภาพ ว่า โรงสีมีการรับผิดชอบข้าวเสื่อมแล้วหรือไม่ และอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง รวมทั้งขอให้สรุปความเสียหายที่มีต่อรัฐทั้งหมดว่ามีเท่าไหร่ ก่อนที่จะระบายข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต นอกจากนี้ ไม่อยากให้ด่วนสรุปในการแปรรูปข้าวเน่าไปทำเอทานอล เพราะยังมีอุตสาหกรรมแป้ง เส้นก๋วยเตี๋ยว อาหารสัตว์ ที่จะทำให้ได้ราคาและรักษาผลประโยชน์เข้ารัฐได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม หากยืนยันที่จะระบายข้าวทั้ง 5.8 ล้านตัน ขอเรียกร้องให้ระบายข้าวในวิธีปกติไม่ใช่วิธีพิเศษเพื่อให้เกิดความโปร่งใส พร้อมขอให้เร่งรัดระบายข้าวคุณภาพดีที่เหลือ 15 ล้านตัน เพื่อป้องกันความเสียหาย นอกจากนี้ ยังขอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนการแต่งตั้ง นายนิพนธ์ พัวพงศกร ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองที่ตนมองว่าไม่เป็นกลาง



กำลังโหลดความคิดเห็น