ประชาคมเกษตรศาสตร์ รวมตัวให้กำลังใจ อธิการบดีคนใหม่ หลังถูกชะลอทูลเกล้าฯพร้อมสอบคุณสมบัติ ข้องใจถูกแทรกแซง เตรียมนัดเคลียร์ รมช.ศธ. พรุ่งนี้ ยันเหมาะสมตามระเบียบ ไม่ผิดวินัยร้ายแรง ย้อน รมว. ไม่ไว้วางใจศักยภาพสภา มก. หวังให้ชุดใหม่ที่มีคนนอกเสียงข้างมากจัดการแทน
วันนี้ (5 ก.ค.) ประชาคมเกษตรศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย คณาจารย์จากหลายคณะ ได้รวมตัวให้กำลังใจ รศ.บดินทร์ รัศมีเทศ ซึ่ง สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีมติให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบดีคนใหม่ แต่ปรากฏว่า พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ ได้ใช้อำนาจชลอการนำชื่อ รศ.บดินทร์ ขึ้นทูลเกล้าฯ พร้อมกับให้ คณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เข้าไปตรวจสอบคุณสมบัติ ทั้งที่ สภามก. ได้ตรวจสอบคุณสมบัติ รศ.บดินทร์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สร้างความกังขาต่อกระบวนการใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ สกอ. ในการเข้ามาแทรกแซงกระบวนการทำงานของสภามหาวิทยาลัย พร้อมกันนี้ ทางประชาคม มก. เตรียมนัดรวมตัวเพื่อเข้าพบนายกฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ค. 58)
วันเดียวกัน รศ.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะแอดมินของเฟซบุ๊ก “ประชาคมเกษตรศาสตร์” ได้ระบุเกี่ยวกับปัญหาการเสนอชื่อผู้ได้รับการสรรหาเป็นอธิการบดี มก. ว่า การที่ สกอ. มีหนังสือส่งคืนเรื่องดังกล่าวกลับมาที่ มก. โดยอ้างเหตุว่า มีผู้ร้องเรียนเรื่องความไม่เหมาะสมของผู้ได้รับการเสนอชื่อ พร้อมกับระบุว่า รมว.ศึกษาธิการ ได้มีบัญชาให้ดำเนินกระบวนการเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมเพื่อทรงพิจารณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอธิการบดี หลังจาก พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฉบับที่ให้เป็น ม. ในกำกับของรัฐมีผลบังคับใช้ โดยตั้งข้อสังเกตว่า สกอ. ทยอยสอบถามประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับผู้ถูกเสนอชื่อ ทำให้กระบวนการล่าช้ามากว่า 6 เดือน
จนในที่สุด รมว. ตัดสินใจที่เชื่อตามเอกสารของผู้ร้องเรียน โดยอาจพิจารณาเห็นว่าเป็นความผิดวินัยร้ายแรงที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ไม่จำเป็นต้องสอบข้อเท็จจริง จึงไม่ได้ขอคำชี้แจงจาก มก. นั้น เรื่องดังกล่าว สภา มก. ชุดที่แล้ว ได้ทราบข้อมูลที่ถูกใช้ร้องเรียนทั้งหมดนานแล้ว ซึ่งบางเรื่องนั้นผู้ร้องเรียนได้แจ้งต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ตลอดจนคณะกรรมาธิการการศึกษาในรัฐบาลชุดก่อน แต่ไม่มีหน่วยงานใดชี้มูลและสั่งให้ยุติเรื่อง
“ส่วนเรื่องการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของ 4 บริษัทนั้น เป็นความผิดทางวินัยที่ไม่ร้ายแรง และมก. ได้ตรวจสอบแล้วว่า บริษัททั้งสี่ ก็ไม่เคยทำธุรกรรมใดๆ กับมหาวิทยาลัย ดังนั้น ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ จึงไม่ทำให้สภา มก. ชุดที่แล้ว เห็นว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อ มีลักษณะต้องห้าม หรือขาดคุณสมบัติที่ระบุใน พ.ร.บ. ฉบับปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งฉบับที่จะประกาศใช้ใหม่ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ สภามก. ชุดที่แล้ว เห็นว่า รศ.บดินทร์ รัศมีเทศ เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติ และคุณลักษณะโดยรวมเหมาะสมที่สุดในบรรดาผู้ที่ได้เข้าสู่กระบวนการสรรหาฯ ตาม พ.ร.บ. มก. และข้อบังคับ มก. ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทย่าลัยเกษตรศาสตร์โดยไม่มีลักษณะต้องห้ามในกฏระเบียบหรือข้อบังคับของ มก. แต่ประการใด”
ส่วนการที่ รมว.ศึกษาธิการ ได้มีบัญชาให้ดำเนินกระบวนการเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมเพื่อทรงพิจารณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอธิการบดี หลังจาก พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฉบับที่ให้เป็น ม. ในกำกับของรัฐมีผลบังคับใช้นั้น สามารถเข้าใจได้ว่า รมว. ไม่วางใจในการทำงานของสภา มก. ชุดที่แล้ว ซึ่งดำเนินกระบวนการสรรหาอธิการบดี แต่การที่ รมว. ไม่ให้สภา มก. ชุดปัจจุบันดำเนินกระบวนการสรรหาฯ ใหม่นั้น ก็เสมือนว่าสภา มก. ชุดปัจจุบันไม่เป็นที่ยอมรับของ รมว. ทั้งที่สภา มก. ชุดนี้ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับกระบวนการเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมเพื่อทรงพิจารณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอธิการบดีเลยแม้แต่น้อย
“การที่บัญชาให้ดำเนินกระบวนการเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมเพื่อทรงพิจารณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอธิการบดี หลังจาก มก. เป็น ม. ในกำกับนั้น เสมือนหนึ่งว่า รมว. คิดว่า สภา มก. ชุดปัจจุบัน ซึ่งมีคนในมก. เป็นกรรมการเสียงข้างมาก ไม่สามารถสรรหาอธิการบดีที่เป็นที่พอใจของ รมว. ได้ โดยประสงค์ให้สภา มก. ชุดใหม่ ซึ่งมีคนนอก มก. เป็นกรรมการเสียงข้างมาก เป็นผู้ดำเนินกระบวนการสรรหาฯ จึงเสมือนกับสื่อสารว่า คน มก. ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการหาตัวบุคคลที่เหมาะจะเป็นผู้นำระดับอธิการบดีของมหาวิทยาลัยของตนเองได้”