อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน
พรุ่งนี้แล้ว (25 มิ.ย.) ที่ถึงกำหนดนัดของศาลฎีกา เพื่ออ่านคำพิพากษาคดี “โอ๋ สืบ 6” หรือ “พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เทพจันดา” คดีปล่อยม็อบหนุนทักษิณทำร้ายม็อบต้านทักษิณ แถมสั่งชายฉกรรจ์ให้ล็อกตัวฝ่ายต้านทักษิณอีกต่างหาก นอกจากต้องลุ้นว่า จำเลยจะหาเหตุประวิงเวลาการอ่านคำพิพากษาออกไปอีกหรือไม่ ยังน่าลุ้นด้วยว่า คำพิพากษาของศาลจะออกมาอย่างไร? จะยืนตามศาลชั้นต้น-ศาลอุทธรณ์หรือไม่?
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายงานพิเศษ : ลุ้น จุดจบคดี “โอ๋ สืบ 6” สั่งชายฉกรรจ์ทำร้ายม็อบต้านทักษิณ!!
ชื่อของ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เทพจันดา อดีตผู้กำกับการกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 หรือที่สื่อตั้งฉายาให้ว่า “โอ๋ สืบ 6” โด่งดังขึ้นมาเมื่อปี 2549 แต่ดังในทางลบ หลังเกิดเหตุการณ์กลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกฯ ในขณะนั้น รุมทำร้ายกลุ่มต่อต้านทักษิณ ที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2549
เหตุเกิดขณะ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินไปเปิดงานดิจิตอล ทีเค พาร์ค ที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ท่ามกลางการอารักขาอย่างเข้มงวดจากตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ เมื่อภารกิจแล้วเสร็จขณะที่ขบวนรถของ พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังเคลื่อนออกจากห้าง ได้มีประชาชนบางคนที่ต่อต้านทักษิณตะโกนขึ้นว่า “ทักษิณออกไป” ปรากฏว่า ประชาชนฝ่ายที่หนุนทักษิณ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นอายุ 20-30 ปี ได้กรูกันมารุมกระทืบฝ่ายที่ต่อต้านทักษิณ โดยไม่สนว่า ผู้ที่ถูกกระทืบนั้นจะอายุมากแล้ว แม้แต่ผู้หญิงก็ถูกลูกหลงไปด้วย ไม่เท่านั้น ยังมีชายฉกรรจ์ 2 คน ตรงเข้าล็อกคอและทำร้ายฝ่ายต่อต้านทักษิณเพื่อเอาตัวไปขึ้นรถ โดยมีตำรวจคอยอารักขาให้ ทราบภายหลังว่าชาย 2 คนดังกล่าว คือ นายจรัล จงอ่อน อายุ 43 ปี และนายชัยสิทธิ์ ลอม๊ะห์ อายุ 42 ปี ทั้งสองยอมรับว่าเป็นเพื่อนกัน แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำร้าย แค่เข้าไปล็อกตัวฝ่ายต้าน เพราะทนไม่ได้ที่มาไล่นายกฯ นอกจากนี้ทั้งสองยังปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นทหารหรือตำรวจและไม่ได้ถูกจ้างมาแต่อย่างใด
ทั้งนี้ สื่อมวลชน เช่น ASTV มีภาพบันทึกเหตุการณ์ในวันดังกล่าวซึ่งเป็นหลักฐานมัดว่า มีตำรวจนายหนึ่งพูดคุยกับนายจรัลและนายชัยสิทธิ์อย่างสนิทสนม ก่อนสั่งให้ทั้งสองเข้าล็อกคอประชาชนที่ตะโกนขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ตำรวจนายนี้ก็คือ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เทพจันดา ผู้กำกับการกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 แต่เจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่ได้สั่งให้ทั้งสองกระทำการดังกล่าวแต่อย่างใด
หลังเกิดเหตุการณ์กลุ่มหนุนทักษิณทำร้ายกลุ่มต้านทักษิณ โดยมีตำรวจเข้ามาพัวพันในการสั่งการให้มีการล็อกตัวฝ่ายต้านทักษิณ ส่งผลให้ผู้ที่ถูกทำร้ายเข้าแจ้งความดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีการยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อไต่สวนตำรวจที่พัวพันเรื่องนี้ด้วย
แต่ยังไม่ทันที่ผลสอบของ ป.ป.ช.จะออกมา ปรากฏว่า ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ซึ่งดูเหมือน พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ จะได้รับการปูนบำเหน็จ เพราะได้ขึ้นเป็นรองผู้บังคับการกองอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า แทนที่ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ จะถูกลงโทษทางวินัยจากกรณีสั่งชายฉกรรจ์ทำร้ายม็อบต้านทักษิณ แต่กลับได้ดิบได้ดีได้เลื่อนตำแหน่ง ด้าน พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น แทนที่จะลดกระแสต่อต้านด้วยการให้ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ กลับมานั่งผู้กำกับการกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 ตามเดิม กลับให้ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ย้ายไปเป็นรองผู้บังคับการกองอำนวยการ สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ ซึ่งก็ถูกมองว่าเป็นการปูนบำเหน็จให้ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เหมือนเดิม
ต่อมา วันที่ 8 ก.พ. 2550 ที่ประชุม ป.ป.ช.ได้มีมติเอกฉันท์ว่า พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ กระทำการมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 200 รวมทั้งมีความผิดทางวินัยฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ฐานปล่อยให้คนเข้ารุมทำร้ายประชาชนที่ตะโกนขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณต่อหน้าต่อตา เข้าข่ายฐานกระทำการหรือละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายต่อราชการอย่างร้ายแรง จึงส่งเรื่องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติดำเนินการ พร้อมส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญาด้วย
ทั้งนี้ ป.ป.ช.เห็นว่า การที่ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจสั่งการให้นายจรัญ และนายชัยสิทธิ์ ไปควบคุมตัวนายฤทธิรงค์ ลิขิตประเสริฐกุล และนายวิชัย เอื้อปิยาพันธุ์ กลุ่มประชาชนที่ตะโกนขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับวิสัยและพฤติการณ์ของผู้ทำหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ และรับราชการมามากกว่า 20 ปี จะพึงปฏิบัติ และเมื่อพิจารณาจากการพูดคุยสั่งการ ซึ่งปรากฏจากเสียงในเทปบันทึกภาพและพยานที่เป็นครูโรงเรียนสอนคนหูหนวก พบว่า พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ พูดว่า “ทำไมไอ้คนเสื้อเหลืองถึงยังล็อกไม่ได้ ไปหาให้เจอ” ซึ่งลักษณะคำพูดดังกล่าวแสดงถึงความรู้จักมักคุ้นระหว่าง พ.ต.อ.ฤทธิรงค์กับนายจรัลและนายชัยสิทธิ์ จึงขัดแย้งกับข้อแก้ตัวของ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ที่อ้างว่าไม่เคยรู้จักและไม่เคยเห็นหน้าบุคคลทั้งสองมาก่อนแต่อย่างใด
หลัง ป.ป.ช.ส่งมติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการลงโทษทางวินัย พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ต่อมา วันที่ 20 ก.พ. 2550 พล.ต.ต.รณรงค์ ยั่งยืน ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้เแถลงว่า “ทางสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ ได้กลั่นกรองข้อมูลของ ป.ป.ช.และมีการสอบสวนแล้ว มีมติว่า พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ. 2547 คือจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของราชการ กระทำการอันได้ชื่อว่า ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และกระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ซึ่งมีโทษคือ ไล่ออก หรือให้ออกจากราชการ แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความผิดร้ายแรง จึงให้ลงโทษไล่ออกจากราชการ” และว่า หาก พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ไม่พอใจ มีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งนี้ต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ได้ภายใน 30 วัน รวมทั้งสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ภายใน 90 วัน
ซึ่ง พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ได้อุทธรณ์ต่อ ก.ตร.ตามคาด ขณะที่ ก.ตร.พิจารณาแล้ว เห็นควรลดโทษจากไล่ออกจากราชการ เป็นปลดออกจากราชการ จากนั้น พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ได้ไปฟ้องต่อศาลปกครองอีกเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่ง ทั้งคำสั่งที่ให้ไล่ออกจากราชการ และคำสั่งที่ ก.ตร.ลดโทษให้เหลือปลดออกจากราชการ โดยอ้างว่า คำสั่งดังกล่าว เป็นการใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งโดยไม่ชอบ ไม่พิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและความผิดทางวินัยร้ายแรงก่อนออกคำสั่ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ไม่ได้ฟ้องเรื่องนี้ต่อศาลปกครองในส่วนกลาง แต่ไปฟ้องที่ศาลปกครองเชียงใหม่ สร้างความแปลกใจให้หลายฝ่ายเป็นอย่างมาก โดย พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ได้ขอให้ศาลปกครองเชียงใหม่คุ้มครองชั่วคราว ด้วยการสั่งให้ตนกลับเข้ารับราชการจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่ร้องขอเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2551 โดยให้ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ กลับเข้ารับราชการจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
อย่างไรก็ตาม สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ และ ก.ตร. ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองเชียงใหม่ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยขอให้ศาลปกครองสูงสุดสั่งยกเลิกการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงและหลักฐานในสำนวนยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า คำสั่งปลด พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ออกจากราชการ ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัย ประกอบกับการให้คำสั่งปลด พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ออกจากราชการมีผลบังคับใช้ต่อไป ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงจนไม่อาจเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้ ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองเชียงใหม่ ซึ่งส่งผลให้ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ต้องถูกปลดออกจากราชการตามคำสั่งของ ก.ตร.เหมือนเดิม
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เทพจันดา หรือ “โอ๋ สืบ 6” ถูกสั่งปลดออกจากราชการ เจ้าตัวได้เปลี่ยนชื่อ-นามสกุลใหม่ เป็น “พ.ต.อ.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์” ซึ่งแปลว่า “เปี่ยมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน ทรงไว้ซึ่งความรู้อันเจิดจรัส(รุ่งเรือง)” แทน
ส่วนความคืบหน้าทางคดีอาญา ที่ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ หรือ พ.ต.อ.ธนายุตม์ หรือ โอ๋ สืบ 6 ถูกดำเนินคดีฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ร่วมกันกระทำหรือไม่กระทำการใดๆ ในตำแหน่งโดยมิชอบ กรณีสั่งให้ล็อกตัวประชาชนที่ตะโกนขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ห้างเซ็นทรัล เวิลด์ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2549 นั้น เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2551 ศาลชั้นต้นพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยมีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ เลือกปฏิบัติ ทั้งที่ขณะนั้น พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เป็นตำรวจระดับผู้กำกับการ ไม่สมควรกระทำ จึงพิพากษาจำคุก 2 ปี ปรับ 10,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำผิด หรือต้องโทษมาก่อน รวมทั้งเคยประกอบคุณงามความดีในหน้าที่มาโดยตลอด และก่อนหน้านี้เคยถูกลงโทษทางวินัยร้ายแรงให้ออกจากราชการ ทำให้ได้รับผลกระทบรุนแรงต่อหน้าที่ ไม่มีอนาคตทางราชการ จำเลยคงสำนึก โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ส่วนความผิดอื่นให้ยกคำร้อง
หลังจากนั้น 3 ปีต่อมา 26 ส.ค. 2554 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยเห็นว่า การกระทำของ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เป็นความผิด ไม่ยอมจับกุมนายจรัล จงอ่อน นายชัยสิทธิ์ ลอม๊ะห์ นายสุเมธ บุญยรัตพันธุ์ ที่เข้าไปรุมทำร้ายและจับกุมผู้ชุมนุมต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นเหตุซึ่งหน้า โดยเห็นว่า พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ จำเลย รู้จักกับบุคคลทั้งสามตามภาพในวิซีดีที่บันทึกเหตุการณ์ไว้ได้ ปรากฏภาพจำเลยกำลังพูดคุยสั่งการนายจรัล นายชัยสิทธิ์ และนายสุเมธ ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุผลสำคัญอันหนึ่งที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โทษจำคุก พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ รอลงอาญา 2 ปี คือ เห็นว่า พ.ต.อ.ฤทธิรงค์เคยถูกลงโทษทางวินัยร้ายแรงให้ออกจากราชการ ทำให้ได้รับผลกระทบรุนแรงต่อหน้าที่ ไม่มีอนาคตทางราชการ ...แต่ในความเป็นจริง พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ยังรับราชการอยู่และเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน ยังไม่ถูกปลดออกจากราชการตามที่บางฝ่ายเข้าใจแต่อย่างใด สังเกตได้จาก เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2553 พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ในชื่อใหม่ พ.ต.อ.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ปรากฏตัวในการแถลงข่าวจับกุมยาบ้าร่วมกับ พล.ต.ต.อดิเทพ ปัญจมานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด โดย พ.ต.อ.ธนายุตม์มีตำแหน่งใหม่เป็น “รองผู้บังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 3” สร้างความประหลาดใจให้กับสื่อมวลชนเป็นอย่างมากหลังจากข่าวคราวของเขาเงียบหายไปนาน
นอกจากนี้ชื่อของ พ.ต.อ.ธนายุตม์ ยังปรากฏขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2557 หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พ.ค.ไม่กี่วัน โดยวันนั้น (27 พ.ค. 57) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น ได้สั่งโยกย้ายนายตำรวจระดับสูงในต่างจังหวัด 16 นาย ซึ่งปรากฏว่า 1 ใน 16 นาย มีชื่อของ พ.ต.อ.ธนายุตม์ หรือโอ๋ สืบ 6 รวมอยู่ด้วย แต่คราวนี้ ยศของเขาสูงขึ้นเป็น “พล.ต.ต.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์” และตำแหน่งของเขาก็คือ “ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี” โดยเขาเป็น 1 ใน 16 นายที่ถูกสั่งย้ายไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมอบหมาย จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ขณะที่ความคืบหน้าด้านคดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2558 หรือเกือบ 4 ปีหลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา ศาลฎีกาได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีนี้ แต่ปรากฏว่า ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาล โดยอ้างว่า พล.ต.ต.ธนายุตม์ หรือชื่อเดิม ฤทธิรงค์ จำเลย ยังไม่ได้รับหมายและติดธุระราชการ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มีเหตุสมควร จึงให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 25 มิ.ย.นี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำแหน่งของ พล.ต.ต.ธนายุตม์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พ.ค. เปลี่ยนไปอีกครั้ง เป็น “ผู้บังคับการกองอำนวยการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ”
คงต้องลุ้นกันว่า เมื่อถึงกำหนด 25 มิ.ย.จำเลยจะมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาตามที่ศาลนัดหรือไม่ และคำพิพากษาของศาลจะออกมาในแนวทางใด??