xs
xsm
sm
md
lg

ดีแทคอุทธรณ์คำสั่งห้ามติดตั้งอุปกรณ์ย่านความถี่ 2100 MHz

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดีแทค ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อเดินหน้าขยายโครงข่าย และติดตั้งอุปกรณ์ 3G/4G (ย่านความถี่ 2100MHz) ต่อไปเพื่อประโยชน์ของลูกค้า จากกรณีบริษัท กสท โทรคมนาคม ยื่นคำร้องดังกล่าว

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งห้ามดีแทคติดตั้ง หรือเชื่อมต่อเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคมตามสัญญาสัมปทานกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G และ 4G ย่านความถี่ 2100 MHz รายอื่น การห้ามใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันถือเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ให้บริการโครงข่าย 2100 MHz ทุกคนในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของดีแทค จึงเป็นการละเมิดสิทธิที่กฎหมายรับรอง คำสั่งห้ามนี้ยังส่งผลให้ค่าบริการเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่คุณภาพบริการลดลง การครอบคลุมพื้นที่ การให้บริการแย่ลง และสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดยังนำไปสู่การจำกัดการแข่งขันในตลาด ซึ่งจะทำให้สวัสดิการผู้บริโภคลดลงอีกด้วย

นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ดีแทคได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จากกรณีที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ให้ดีแทคยุติการติดตั้ง หรือเชื่อมต่อเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคมตามสัญญาสัมปทานกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G และ 4G ย่านความถี่ 2100 MHz รายอื่น คำสั่งดังกล่าวทำให้เกิดอุปสรรคในการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน ซึ่งกระทบต่อคุณภาพบริการ และการขยายสัญญาณบนโครงข่าย 2100MHz เช่น ทำให้ค่าบริการเพิ่มสูงขึ้น ความครอบคลุมของบริการลดลง และทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐ (กสทช.) ในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เลือกปฏิบัติ

กล่าวคือ มีแต่ดีแทคเพียงรายเดียวที่ไม่อาจใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G และ 4G ย่านความถี่ 2100 MHz รายอื่น ทำให้ผู้ใช้บริการไม่อาจเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวด้วยเช่นกัน

นายนฤพนธ์ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการเดินหน้าเชื่อมต่อเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคม 3G และ 4G บนย่านความถี่ 2100 MHz ยังจะช่วยให้รัฐ และผู้ให้สัมปทาน หรือ CAT ได้รับผลประโยชน์จากส่วนแบ่งรายตามสัญญาสัมปทานเพิ่มขึ้น ดังนั้น การที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุมครองชั่วคราวนี้ จึงทำให้รัฐ และ CAT ต้องสูญเสียรายได้ นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะถ้าไม่สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันย่อมทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้น จะกลายเป็นภาระค่าบริการแก่ประชาชน

นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวย่อมกระทบต่อการประมูล 4G ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ เพราะทำให้เกิดความไม่แน่นอน และกระทบต่อการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ของผู้เข้าร่วมประมูล เนื่องจากมีต้นทุนในการบริการเพิ่มขึ้นจากการที่ไม่สามารถใช้โครงข่ายร่วมกับดีแทค

คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่แก่ผู้ได้รับสัมปทานว่า ไม่อาจใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกับผู้อื่น และทำให้ CAT สูญเสียรายได้ ดังนั้น จึงไม่มีผู้ได้รับประโยชน์จากคำสั่งห้ามดังกล่าวเลยแม้แต่ CAT ก็ตาม ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นนานไปก็ยิ่งทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่ผ่านมา ศาลปกครองได้ปฏิเสธคำร้องขอของ CAT ให้ศาลมีคำสั่งในลักษณะเดียวกันในคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมด ดังนั้น ดีแทคจึงหวังว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งกลับ หรือยกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ
กำลังโหลดความคิดเห็น