แก้กฎมหาดไทยใหม่ ทำบัตรประชาชนหาย - ชำรุด ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ฉบับละ 100 บาท จากเดิมฉบับละ 20 บาท เผยรัฐบาลในอดีต เคยชง ร่าง พ.ร.บ.ออกบัตรประชาชนใหม่ เสียค่าธรรมเนียม ฉบับละ 500 บาท
วันนี้ (23 มิ.ย.) มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
โดยร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2555 คือ 1. การออกบัตรในกรณีบัตรหาย หรือ ถูกทำลาย บัตรชำรุด หรือ แก้ไขชื่อตัว ชื่อสกุล หรือ ชื่อตัวและชื่อสกุลในทะเบียน หรือย้ายที่อยู่ตามมาตรา 6 จัตวา ฉบับละ 20 บาท 2. การออกใบแทนใบรับ (ใบเหลือง) ฉบับละ 10 บาท และ 3. การขอคัดและรับรองสำเนาข้อมูลเกี่ยวกับบัตร ฉบับละ 10 บาท
ในกรณีที่รัฐมนตรีประกาศให้เขตท้องที่ใดเป็นเขตประสบภัยพิบัติให้ผู้ซึ่งต้องมีบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรตามมาตรา 6 จัตวา ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่นั้น และมายื่นคำขอภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 6 จัตวา หรือภายในกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีขยายตามมาตรา 6 เบญจ ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมตามข้อ 2 (6)
โดย ให้กำหนดค่าธรรมเนียมใหม่ ดังต่อไปนี้ (1) การออกบัตรในกรณีบัตรหาย หรือ ถูกทำลาย บัตรชำรุดในสาระสำคัญ หรือแก้ไขชื่อตัว ชื่อสกุล หรือ ชื่อตัวและชื่อสกุลในทะเบียนบ้าน หรือย้ายที่อยู่ ตามมาตรา 6 จัตวา ฉบับละ 100 บาท (2) การออกใบแทนใบรับ (ใบเหลือง) ฉบับละ 10 บาท และ (3) การขอคัดและรับรองสำเนาข้อมูลเกี่ยวกับบัตร ฉบับละ 10 บาท
ในกรณีที่ได้มีประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน อธิบดีกรมการปกครอง อาจพิจารณาประกาศเขตท้องที่ใดท้องที่หนึ่งในเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินนั้น เป็นเขตยกเว้นค่าธรรมเนียมให้ ผู้ซึ่งต้องมีบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรตามมาตรา 6 จัตวา ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่นั้น และมายื่นคำขอภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 6 จัตวา หรือภายในกำหนดเวลาที่รัฐมนตรีขยายตามมาตรา 6 เบญจ ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมตามข้อ 2 (1)
มีรายงานว่า รัฐบาลในอดีต มีการจัดทำร่างแก้ไขพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งมีประเด็นที่น่าสังเกตคือ ในส่วนของการเก็บค่าธรรมเนียมที่ร่างดังกล่าวระบุว่า 1. การออกบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตร เสียค่าธรรมเนียม ฉบับละ 500 บาท 2. การออกใบแทนใบรับ ฉบับละ 100 บาท 3. การขอคัดและรับรองสำเนาข้อมูลเกี่ยวกับบัตร ฉบับละ 50 บาท แต่เรื่องนี้ก็ได้ยกเลิกไป
ทั้งนี้ ในสมัยที่ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ จากพรรคภูมิใจไทย เป็น รมช.มหาดไทย เคยชี้แจงในชั้น กมธ. ว่า ค่าธรรมเนียมสูงเกินไปก็สามารถแก้ลงมาได้ เพราะราคาบัตรประชาชนอเนกประสงค์ (บัตรสมาร์ทการ์ท) มีมูลค่า 60 บาทต่อใบ ดังนั้น ที่เข้าใจว่า ผู้มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องเสียค่าธรรมเนียมคนละ 500 บาทนั้น คงไม่ใช่ เป็นเพียงการเขียนกฎหมายรองรับไว้เพื่อให้ รมว.มหาดไทย ระบุไว้ในกฎกระทรวงซึ่งอาจจะเป็น 100 บาท หรือ 200 บาทก็ได้ การออกกฎหมายทำบัตรประชาชนนี้เพื่อรองรับประชาชนที่เหลือจำนวน 12.9 ล้านคน คือ อายุต่ำกว่า 15 ปี เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในความเป็นคนไทย .