xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับทราบชะลอปลูกข้าว สั่งขุดน้ำบาดาลใต้ดินช่วย-มท.1 ให้ทำความเข้าใจแย่งน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย (แฟ้มภาพ)
“บิ๊กป๊อก” เผยหน่วยเกี่ยวข้องภัยแล้งร่วมถก ครม.ศก.พรุ่งนี้ รับนายกฯ กำชับต้องมีบ่อน้ำบาดาล หารือน้ำทะเลหนุน พร้อมสร้างความเข้าใจแก้ปัญหาแย่งน้ำ ย้ำ ผู้ว่าฯ ประสานทุกฝ่าย ห้ามทำตามใจ ครม. รับนายกฯ ห่วงน้ำน้อย เผยเข้าหน้าฝนแต่น้ำน้อยกว่าทุกปี เห็นชอบขุดน้ำบาดาล-ใต้ดินช่วยเกษตร รับทราบมีการชะลอปลูกข้าวตาม รบ.ร้องขอ สั่งห้ามทิ้งชาวสวน เผยน้ำฝนเทียมใต้มาช่วยภาคอื่น แต่ยังคงไม่พอ

วันนี้ (23 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่ ครม. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดูแลปัญหาภัยแล้ง จนล่าสุดเกิดกรณีการแย่งน้ำของเกษตรกรว่า ในวันที่ 24 มิ.ย. ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำข้อมูลมาหารือร่วมกันในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ทั้งปริมาณน้ำในปัจจุบันกับปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนว่าสามารถช่วยเหลือเกษตรได้เพียงใด พื้นที่ใดที่ไม่มีน้ำเลย นายกฯ ได้ให้แนวทางว่าต้องมีบ่อน้ำบาดาล ส่วนการแก้ไขปัญหาการแย่งน้ำของเกษตรกรนั้น ต้องดูในภาพรวมว่าพื้นที่ใดควรช่วยเหลืออย่างไร ตอนนี้ให้คำตอบไม่ได้ เพราะต้องดูปริมาณน้ำทั้งหมดว่าเพียงพอหรือไม่ ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีน้ำจะต้องดูว่าจะสามารถนำน้ำจากแหล่งใดมาช่วยเหลือได้หรือไม่ อย่างไร นอกจากนี้จะมีการหารือถึงกรณีที่น้ำทะเลหนุนจนกระทบต่อพื้นที่การเกษตรด้วย เพราะปัญหาไม่ใช่เฉพาะการปล่อยน้ำเพื่อการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเดียว แต่ต้องคำนึกถึงการผลักดันน้ำทะเลหนุนด้วย แต่หากปล่อยน้ำโดยที่ไม่คิดถึงน้ำต้นทุนที่มีอยู่ เกรงว่าเกษตรจะไม่มีน้ำถึงเดือน เม.ย.ปีหน้า

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการทำความเข้าใจกับเกษตรกรที่แย่งน้ำกันอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า หลังจากการประชุมพรุ่งนี้ (24 มิ.ย.) ก็จะได้ทราบว่าจะมีปริมาณน้ำมากน้อยเพียงใด จะคำนวณปริมาณน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ถึงฤดูแล้งปีต่อไปได้ อีกทั้งจะได้หารือถึงการให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่เพาะปลูกอย่างไร พื้นที่ที่ไม่สามารถช่วยได้จะให้ใช้น้ำบาดาลได้อย่างไร รวมถึงต้องสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกร ไม่ใช่ไปแย่งน้ำกัน เพราะในภาวะที่ปริมาณน้ำมีจำนวนจำกัด ต้องมีวิธีที่จะทำให้เกษตรกรยึดถือ เช่น พื้นที่ใดประสบภัยแล้งอย่างสาหัส จนไม่สามารถทำอะไรได้ ก็ต้องพูดถึงการช่วยเหลือว่าจะช่วยอย่างไรจะได้ไม่ต้องตีกัน

เมื่อถามต่อว่ากระกรวงมหาดไทยมีการสั่งการไปยังผู้ว่าฯให้ช่วยเหลืออย่างไรแล้วบ้าง พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ต้องรอความชัดเจนในการประชุมพรุ่งนี้ (24 มิ.ย.) แต่ในพื้นที่ขณะนี้ผู้ว่าฯ ก็ต้องดูในส่วนรวม เช่น หากกรมชลประทานออกมาตรการห้ามใดๆ เกษตรกรก็ต้องทำตาม โดยผู้ว่าต้องประสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่สามารถทำตามใจตัวเองได้

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ถึงข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งว่า แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่ปริมาณฝนที่ตกก็ยังไม่มากนักและตกในพื้นที่ด้านล่างของเขื่อนรับน้ำขนาดใหญ่ ทำให้น้ำต้นทุนในเขื่อนหลักๆ ที่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางมีปริมาณน้อย ซึ่งเป็นข้อห่วงใยของท่านนายกฯอย่างยิ่งต่อเรื่องการบริหารจัดการน้ำและการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวสวน และพี่น้องประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งในวันนี้ได้รับรายงานว่าในช่วงก่อนวันที่ 22 เดือน พ.ค.มีการสำรวจปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งสิ้นเบ็ดเสร็จประมาณ 3,800 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งถือว่าน้อย และมีสำรวจภายหลังวันที่ 22 พ.ค.ถือว่าเข้าสู่ช่วงหน้าฝน มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทุกๆปีประมาณ 60-70% นอกจากนั้นหากวัดปริมาณน้ำฝนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.จนถึงกลางเดือน มิ.ย. พบว่ามีน้ำฝนที่ตกมาแล้วไหลเข้าสู่เขื่อนขนาดใหญ่ปริมาณ 200 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทุกปีกว่า 70%

ที่ผ่านมาทาง ครม.มีมติเห็นชอบไปแล้วให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการน้ำร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พิจารณาเตรียมการในการขุดเจาะน้ำบาดาลในการช่วยเหลือเกษตรกร และให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการขุดเจาะน้ำใต้ดินซึ่งเป็นคนละกรณีกับน้ำบาดาล และทางกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงมหาดไทยต้องร่วมกันทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรเพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและขอให้ชะลอการปลูกข้าวออกไปก่อนจนถึงช่วงปลายเดือน ก.ค. นอกจากนี้ยังขอให้กระทรวงกลาโหมได้จัดส่งทหารไปยังพื้นที่เกษตรทั่วประเทศโดยเฉพาะยิ่งเพื่อการจัดลำดับความเร่งด่วนในการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่เกษตร

และในที่ประชุมวันนี้ได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า พื้นที่การปลูกข้าวในลุ่มน้ำภาคกลางนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกคือ ส่วนที่อยู่ในเขตชลประทานมีทั้งหมด7,700,000 ไร่ แต่เดิมจากการสำรวจพบว่ามีการปลูกข้าวไปแล้วประมาณ 3,700,000 ไร่ แต่เมื่อผ่านไปเพียง 2 อาทิตย์พบว่าพื้นที่ที่ใช้ปลูกข้าวเพิ่มจำนวนไปกว่า 4,000,000 ไร่ ซึ่งชะลอตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือไป 7,700,000 สำหรับส่วนที่สองคือพื้นที่นอกเขตชลประทานอีกประมาณ 2,300,000 ไร่ ทำนาไปแล้ว 1,300,000 ไร่ ซึ่งชะลอตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือไป 1,000,000 ไร่ ทั้งหมดนี้คือปัญหาที่เราต้องเร่งแก้ไข

ท่านนายกฯ ยังสั่งการเพิ่มเติมว่า เราจะดูแลพี่น้องเกษตรกรชาวนาเพียงอย่างเดียวไม่ได้เพราะว่าพี่น้องเกษตรกรชาวสวนนั้นก็มีความสำคัญซึ่งเกษตรกรชาวสวนบางประเภทที่มีการปลูกไม้ยืนต้น หากไม้ยืนต้นเหล่านั้นตายต้องใช้ระยะเวลาถึง 3-4 ปี

สำหรับน้ำที่จะนำมาแก้ไขปัญหานั้นมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นน้ำใต้ดิน น้ำบาดาลและการทำฝนเทียม ซึ่งปัจจุบันเราได้นำทีมทำฝนเทียมจากภาคใต้มาช่วยเหลือในพื้นที่ภาคกลางตอนบน ภาคเหนือ และภาคอีสาน เพื่อเร่งรัดให้มีการเกิดฝนตกและไหลลงสู่เขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งถือได้ผลประมาณ 95% แต่ปริมาณฝนที่ตกก็ยังไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ ท่านนายกฯ ยังสั่งการเพิ่มเติมว่า ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ วันที่ 24 มิ.ย. 58 เรื่องนื้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องต้องจัดเตรียมข้อมูลเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติทั้งระบบเนื่องจากการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและเตรียมน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศนั้นมีความสำคัญมาก จะมาคุยเป็นส่วนๆ คงไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น