“นักเขียนดัง” แฉ! ต้นตอแห่งปัญหาหมอกควันพิษภาคเหนือ มี “บริษัทเกษตรรายใหญ่” ไปส่งเสริมให้ชาวบ้านรุกป่าปลูกข้าวโพด “ดาว์พงษ์” ขอ “มหาดไทย” จี้รายตัวจดชื่อคนเสี่ยงเผาป่า ด้าน “บิ๊กป๊อก” กำชับผู้ว่าฯภาคเหนือ คุมเข้ม
วันนี้ (19 มี.ค.) มีรายงานว่า บนเฟซบุ๊กส่วนตัว “Vanchai Tantivitayapitak” ของ นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ปี 2554 อดีตรองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และอดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี ได้โพสต์ข้อความระบุเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันพิษในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือว่า
“ต้นเหตุแห่งปัญหาหมอกควันพิษที่เมืองเหนือ คือ ภูเขาหัวโล้นนับล้านไร่ทางภาคเหนือ ที่ถูกเปลี่ยนมาเป็นไร่ข้าวโพด ฟังรัฐบาลบอกว่า ปัญหาหมอกควันพิษ มาจากชาวบ้านเผาซากไร่ มาจากไฟป่าของประเทศเพื่อนบ้าน กล้าไหมครับที่จะประกาศออกมาว่า ปัญหาใหญ่คือ บริษัทเกษตรรายใหญ่ไปส่งเสริมให้ชาวบ้านรุกป่า ปลูกข้าวโพด เพื่อตัวเองจะได้รับซื้อเป็นอาหารสัตว์ แถมยังขายเมล็ดพันธุ์กับชาวบ้านอีก”
“เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวโพด ชาวบ้านก็ต้องเผาซากไร่ เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกรอบใหม่ เป็นวงจรอุบาทว์มาทุกปี ปัญหาควันพิษภาคเหนือจึงไม่เคยแก้ไขได้ ตอนนี้ภูเขาประเทศเพื่อนบ้านก็เริ่มหัวโล้น เพราะมีส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดกันหลายล้านไร่ แต่ยังไม่แน่ใจว่าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เกษตรรายเดียวกับบ้านเราหรือไม่ รัฐบาลกล้าไหมครับ หรือเงินอุดหนุนมันอุดปากอยู่”
สำหรับ นายวันชัย อดีตรองผู้อำนวยการสถานีไทยพีบีเอส เป็นบุคคลที่เคยถูกทหารควบคุมตัวไปยัง ร.1 พัน 1 รอ. ในช่วงที่ทหารเข้าขอยุติการออกอากาศรายการข่าว แต่ นายวันชัย ไม่เห็นด้วย โดยให้มีออกอากาศโดยปกติ
“ดาว์พงษ์” ขอ มท.จี้รายตัวจดชื่อคนเสี่ยงเผาป่า
พล.อ.ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ยังคงต้องประเมินสถานการณ์ดังกล่าวเป็นรายวัน แต่ตัวเลขค่ามลพิษในวันนี้ (18 มี.ค.) ลดลงจากการช่วยเหลือของหลายหน่วยงาน โดยเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหม ได้ส่งกำลังพลทหาร ทหารพราน พร้อมด้วยเครื่องมือและยุทโธปกรณ์ไปเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งกองทัพอากาศ ได้นำเครื่องบินช่วยโปรยน้ำดับไฟป่า และเครื่องบินชีนุกของประเทศสิงคโปร์เข้ามาร่วมปฏิบัติการนี้ด้วย ขณะที่กระทรวงมหาดไทยกำลังลงพื้นที่ไปจดทะเบียนรายชื่อบุคคลที่มีแนวโน้มว่าจะก่อเหตุเผาป่า ทั้งเกษตรกร และคนหาของป่า เพื่อที่ภาครัฐเข้าไปขอความร่วมมือเฉพาะตัวกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจะได้ผลดีกว่าการขอความร่วมมือในภาพรวม
“ในวันที่ 19 มี.ค. นี้ ตนจะหารือกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามถึงปัญหาในการดำเนินการ และสิ่งที่จะต้องทำเพิ่มเติมในการสู้กับปัญหาไฟป่าและหมอกควันต่อไปอีก 1 เดือน นอกจากนี้ กำลังวางแผนจัดตั้งหน่วยงานแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระดับชาติ เราต้องคิดใหม่ เพื่อไม่ต้องเจอปัญหานี้ทุกปี”
“บิ๊กป๊อก” กำชับผู้ว่าฯภาคเหนือ คุมเข้ม
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ภาคเหนือได้รับผลกระทบจากวิกฤตหมอกควัน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา และ ตาก พร้อมกำชับจังหวัด ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน โดยคุมเข้มไม่ให้มีการเผาในพื้นที่เสี่ยง กำหนดช่วงเวลาห้ามเผาในช่วงวิกฤตไฟป่าหมอกควันให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ เน้นการแก้ไขปัญหาในมิติเชิงพื้นที่ - หน้าที่ - การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงระดมสรรพกำลังและวัสดุอุปกรณ์ควบคุมไฟป่าและหมอกควัน เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้วิกฤตรุนแรงขึ้น
ด้าน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ดำเนินมาตรการคุมเข้มไม่ให้มีการเผาในพื้นที่โล่ง โดยเฉพาะการเผาริมทาง การเผาในพื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการเผาขยะ เศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ ตลอดจนบูรณาการทุกภาคส่วนสนธิกำลังในการนำวัสดุอุปกรณ์ควบคุมไฟป่า และลดผลกระทบหมอกควัน สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่มีหมอกควันปกคลุม ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน รวมถึงใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือหน้ากากอนามัย ปิดปาก และจมูกทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันการสูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย
กรมป่าไม้ หนุน 1 แสน/หมู่บ้าน ที่เสี่ยงไฟป่า
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ตามโครงการสร้างเครือข่ายควบคุมไฟป่า จะมีเงินอุดหนุนหมู่บ้าน ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่า หมู่บ้านละ 1 แสนบาท ไว้สำหรับฝึกอบรมอาสาสมัครดับไฟในหมู่บ้าน และซื้ออุปกรณ์สำหรับดับไฟป่ามาใช้ กำหนดให้เงินอุดหนุนในรูปแบบดังกล่าวปีละ 100 หมู่บ้านทั่วประเทศ การพิจารณารับเงินแต่ละหมู่บ้านนั้นพิจารณาจากความเสี่ยงภัยของการเกิดไฟป่า เพื่อที่จะให้แต่ละหมู่บ้านนำไปบริหารจัดการ หาวิธี หาซื้ออุปกรณ์สำหรับป้องกันและดับไฟป่า
ส่วนจะทำให้บางหมู่บ้านใช้วิธีเผาพื้นที่ตัวเอง หวังที่จะได้เงินหรือไม่ นั้น จะมีการดูประวัติแต่ละพื้นที่ด้วยว่าเป็นอย่างไร มีประวัติการเกิดไฟป่าได้ แต่ไม่เกิน 20% ของพื้นที่ หรือไม่เคยเกิดเลย และการให้เงินอุดหนุนแบบนี้จะไม่ได้ให้ติดต่อกันทุกปี แต่ใช้วิธีการให้เงินอุดหนุนแบบหมุนเวียน หรือ 3 - 5 ปี อาจจะกลับมาให้อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ค่อนข้างจะเป็นหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็งในตัวเอง เป็นไปไม่ได้ที่จะเผาป่าเพื่อเอาเงินแค่นี้